เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/8587
วันที่: 15 ธันวาคม 2551
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีบริษัทแม่ในต่างประเทศจัดสรร สิทธิในการซื้อหุ้นในราคาพิเศษให้แก่พนักงาน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40(1) และมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          1. บริษัท ม. เป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา มีสาขาและ บริษัทในเครือทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทย บริษัท ม. มีโครงการจัดสรรสิทธิในการซื้อหุ้นใน ราคาพิเศษให้แก่พนักงานของสาขาและบริษัทในเครือทั่วโลก (โครงการ) ตามรายละเอียดของโครงการ
               1.1 บริษัท ม. ในฐานะบริษัทแม่ของบริษัทในเครือในประเทศไทยได้ให้พนักงานของ บริษัทในเครือในประเทศไทยบางส่วน (พนักงาน) จะมีสิทธิเข้าร่วมโครงการ และมีสิทธิซื้อหุ้น ของบริษัท ม. ในราคาพิเศษภายในระยะเวลาที่กำหนด
               1.2 เมื่อพนักงานใช้สิทธิซื้อหุ้นของบริษัท ม. พนักงานจะซื้อหุ้นดังกล่าวได้ในราคาที่ได้รับสิทธิ (Exercise Price) ตามที่บริษัท ม. กำหนดในวันจัดสรรสิทธิ ส่วนบริษัทในเครือในประเทศไทยตกลงที่จะชำระผลต่างระหว่างราคาที่ได้รับสิทธิกับราคาตลาดของหุ้นที่พนักงานซื้อ (ส่วนต่างค่าหุ้น หรือ Recharge Amount) ให้แก่บริษัท ม. ตามสัญญาชดใช้ค่าตอบแทน (Reimbursement Agreement) ระหว่างบริษัท ม. กับบริษัทในเครือในประเทศไทย
               1.3 ในระหว่างปี 2542 ถึงปี 2549 พนักงานได้ใช้สิทธิซื้อหุ้นดังกล่าว และบริษัทใน เครือในประเทศไทยได้บันทึกส่วนต่างค่าหุ้น เป็นค่าใช้จ่ายค้างจ่ายในบัญชีของบริษัทในเครือในประเทศไทย และได้รับรู้ส่วนต่างค่าหุ้นเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลของ บริษัทในเครือในประเทศไทยในปีที่มีการใช้สิทธิ อย่างไรก็ดี ส่วนต่างค่าหุ้นดังกล่าว ยังไม่เคยมีการจ่ายให้แก่ บริษัท ม. แต่อย่างใด
               1.4 ในปี 2549 บริษัท ม. และบริษัทในเครือในประเทศไทย ได้ปรับโครงสร้าง การดำเนินการและโครงสร้างของบริษัท ด้วยเหตุดังกล่าว บริษัท ม. ได้ขายหุ้นทั้งหมดที่ถืออยู่ในบริษัทในเครือในประเทศไทย ให้แก่ผู้ซื้อซึ่งเป็นบุคคลภายนอกและไม่มีความสัมพันธ์กัน โดยผู้ซื้อจะดำเนินกิจการต่อไปผ่านบริษัทในเครือในประเทศไทย
               1.5 ก่อนที่จะมีการขายหุ้นของบริษัทในเครือในประเทศไทย บริษัท ม. ได้ปลดหนี้ส่วนต่างค่าหุ้นที่ได้มีการตั้งค้างจ่ายในบัญชีของบริษัทในเครือในประเทศไทย และบริษัทใน เครือในประเทศไทยได้รับรู้ยอดหนี้ที่ถูกปลดให้ดังกล่าวเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีในปี 2549
          2. จากกรณีดังกล่าว บริษัท ม. ได้หารือว่า
               2.1 ส่วนต่างค่าหุ้นที่บริษัทในเครือในประเทศไทยตกลงจ่ายให้กับบริษัท ม. เนื่องจากพนักงานใช้สิทธิซื้อหุ้นนั้น เป็นเงินได้พึงประเมินของพนักงานที่จะต้องนำไปรวม เป็นเงินได้ เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีที่มีการใช้สิทธิซื้อหุ้นหรือไม่ และบริษัทใน เครือในประเทศไทยผู้เป็นนายจ้างจะมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายหรือไม่
               2.2 เมื่อบริษัท ม. ปลดหนี้สำหรับส่วนต่างค่าหุ้นให้แก่บริษัทในเครือในประเทศไทย เป็นผลให้บริษัทในเครือในประเทศไทยนำค่าใช้จ่ายสำหรับส่วนต่างค่าหุ้นที่ได้มีการตั้งค้างชำระ มาถือเป็นรายได้ การปลดหนี้ส่วนต่างค่าหุ้นดังกล่าวเป็นการทำให้บริษัทในเครือในประเทศไทยพ้นจากภาระหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย อันเกิดจากการใช้สิทธิซื้อหุ้นดังกล่าวหรือไม่ และ บริษัท ม. ไม่มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย จากเงินจำนวนดังกล่าว เนื่องจากบริษัท ม. ไม่ได้ เป็นผู้จ่ายเงินได้ถูกต้องหรือไม่
แนววินิจฉัย
          เนื่องจากการที่พนักงานได้รับสิทธิในการซื้อหุ้นจากบริษัท ม. ซึ่งเป็นบริษัทแม่ เป็นผลมาจากการเป็นลูกจ้างของบริษัทในเครือของบริษัท ม. ดังนั้น ในวันที่พนักงานได้รับกรรมสิทธิ์ ในหุ้นดังกล่าว ถือว่าพนักงานมีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งคำนวณจากผลต่างของราคาตลาดของหุ้นบริษัท ม. กับราคาที่ได้รับสิทธิ (Exercise Price) ตามนัยคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรที่ 28/2538 เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการเสียภาษีในกรณีได้รับแจกหุ้นหรือได้ซื้อหุ้น ในราคาที่ต่ำกว่าตลาดตามข้อตกลงพิเศษ ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538 และกรณีดังกล่าวถือว่า บริษัทในเครือในประเทศไทยซึ่งเป็น นายจ้าง เป็นผู้จ่ายเงินได้ให้แก่พนักงานซึ่งใช้สิทธิบริษัทในเครือในประเทศไทย จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ ไม่ว่า บริษัทในเครือในประเทศไทยจะมีสัญญาชดใช้ค่าตอบแทนให้กับบริษัท ม. หรือไม่ก็ตาม
เลขตู้: 71/36261

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020