เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/(กม.05)/2799
วันที่: 25 ธันวาคม 2551
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการหักลดหย่อนและการยกเว้นเงินได้สำหรับเงินได้ที่ได้ จ่ายเป็นค่าดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย
ข้อกฎหมาย: มาตรา 47(1)(ซ) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          กรณีที่ 1 นาย ล. และนางสาว น. ได้ทำหนังสือสัญญากู้เงินจำนวน 1,370,000 บาท และหนังสือสัญญา ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2550 กู้เงินจำนวน 1,600,000 บาท กับธนาคารฯ เพื่อซื้ออาคารพร้อมที่ดิน จังหวัดนนทบุรี โดยในหนังสือรับรองดอกเบี้ยเงินกู้ยืม ของธนาคารฯ ระบุชื่อนาย ล. และนางสาว น. ผู้กู้ยืม 2 คน ในสัญญาที่ 1 ระบุชื่อนาย ล. ผู้กู้ยืมได้ชำระดอกเบี้ยเงินกู้ยืมจำนวน 65,176.22 บาท ในสัญญาที่ 2 ระบุชื่อนางสาว น. ผู้กู้ยืมได้ชำระดอกเบี้ยเงินกู้ยืมจำนวน 76,082.49 บาท รวมดอกเบี้ยที่ชำระทั้งสิ้นเป็นเงิน 141,258.71 บาท กรณีที่ 2 นางสาว อ. และนางสาว ป. ได้ทำหนังสือสัญญากู้เงินกับธนาคาร ท. เมื่อ วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2550 กู้เงินจำนวน 1,038,000 บาท เพื่อซื้ออาคารพร้อมที่ดิน และ นางสาวอ. แต่ผู้เดียวได้ทำหนังสือสัญญากู้เงินฉบับที่ 2 กับธนาคาร ท. เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2550 กู้เงินจำนวน 1,200,000 บาท เพื่อซื้ออาคารพร้อมที่ดินโฉนดเลขที่เดียวกัน โดยในหนังสือรับรองดอกเบี้ยเงินกู้ยืมของธนาคารฯ ตามสัญญาที่ 1 ระบุชื่อนางสาว อ. และ นางสาว ป. ผู้กู้ยืมได้ชำระดอกเบี้ยเงินกู้ยืมจำนวน 34,569.20 บาท ส่วนสัญญาที่ 2 ระบุชื่อ นางสาว อ. ผู้กู้ยืมได้ชำระดอกเบี้ยเงินกู้ยืมจำนวน 14,369.79 บาท รวมดอกเบี้ยที่ชำระทั้ง 2 สัญญา เป็นเงิน 48,938.99 บาท
          กรณีที่ 1 ผู้ขอคืนฯ ได้รับสิทธิการหักลดหย่อนและการยกเว้นเงินได้คนละ 50,000 บาท รวมกันจำนวน 100,000 บาท สำหรับการกู้ยืมเพื่อซื้ออาคารหลังนี้
          กรณีที่ 2 นำดอกเบี้ยที่ชำระทั้ง 2 สัญญารวมกันแล้วเฉลี่ยตามจำนวนผู้มีเงินได้ ผู้ขอคืนจึงได้รับสิทธิการหักลดหย่อนและการยกเว้นเงินได้คนละ 24,469.49 บาท
          จึงขอทราบว่า
          1. ความเห็นทั้ง 2 กรณีดังกล่าว ถูกต้องหรือไม่ อย่างไร
          2. การหักค่าลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารอยู่อาศัย ผู้ทำสัญญากู้ยืมที่จะใช้สิทธิหักค่าลดหย่อนต้องเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในอาคารที่จำนองเท่านั้นใช่ หรือไม่ และกรณีสัญญากู้ยืมที่มีผู้กู้ร่วม ผู้กู้ร่วมจะต้องเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยนั้นหรือไม่ และจะพิสูจน์อย่างไรว่า เป็นการกู้ยืมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยมิใช่เป็นการกู้ยืมเพื่อดำเนินการอื่น
แนววินิจฉัย
          กรณีร่วมกันทำสัญญากู้ยืมเงินเพื่อซื้อ เช่าซื้อหรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย 2 ฉบับ และหนังสือรับรองดอกเบี้ยเงินกู้ยืมทั้ง 2 ฉบับ ได้ระบุชื่อผู้กู้ร่วมทั้ง 2 คน ผู้มีเงินได้แต่ละคนจึงมี สิทธิหักลดหย่อนได้โดยเฉลี่ยค่าลดหย่อนตามส่วนจำนวนผู้มีเงินได้แต่รวมกันต้องไม่เกินจำนวนที่จ่ายจริงและไม่เกิน 10,000 บาท ตามมาตรา 47 (1)(ซ) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับ ข้อ 2 (7) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 86) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ การหักลดหย่อนสำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ยืมตามมาตรา 47 (1)(ซ) แห่ง ประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 และได้รับยกเว้นเงินได้ไม่ต้องนำมารวมคำนวณภาษีเงินได้ทุกคนโดยเฉลี่ยการได้รับยกเว้นตามส่วนจำนวนผู้มีเงินได้แต่รวมกันต้องไม่เกินจำนวนที่จ่ายจริงเฉพาะส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 90,000 บาท ตามข้อ 2 (53) แห่งกฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ฯ ประกอบกับข้อ 2 (7) ของประกาศอธิบดี กรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 166)ฯ ลงวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2551 อย่างไรก็ดี กรณีผู้มีเงินได้หักลดหย่อน ตามมาตรา 47 (1)(ซ) แห่งประมวลรัษฎากร เงินได้ที่ได้รับยกเว้นเมื่อรวมกับค่าลดหย่อนต้องไม่เกิน 100,000 บาท ทั้งนี้ ตามข้อ 2 (53) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ฯ ประกอบกับข้อ 5 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 166)ฯ ลงวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2551 ดังนั้น
          1. กรณีตาม 1 นาย ล. และนางสาว น. ได้ทำหนังสือสัญญากู้เงิน ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2550 กู้เงินจำนวน 1,370,000 บาท และหนังสือสัญญากู้เงิน ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2550 กู้เงินจำนวน 1,600,000 บาท กับธนาคารฯ เพื่อซื้ออาคารพร้อมที่ดิน โดยในหนังสือรับรองดอกเบี้ยเงินกู้ยืมของธนาคารฯ ในสัญญาที่ 1 ระบุชื่อนาย ล. ผู้กู้ยืมได้ชำระดอกเบี้ยเงินกู้ยืม จำนวน 65,176.22 บาท ในสัญญาที่ 2 ระบุชื่อนางสาว น. ผู้กู้ยืมได้ชำระดอกเบี้ยเงินกู้ยืม จำนวน 76,082.49 บาท รวมดอกเบี้ยที่ชำระทั้งสิ้นเป็นเงิน 141,258.71 บาท นาย ล. และ นางสาว น. จึงได้รับสิทธิหักลดหย่อนและการยกเว้นเงินได้คนละ 50,000 บาท รวมกัน จำนวน 100,000 บาท
          กรณีนางสาว อ. และนางสาว ป. ได้ทำหนังสือสัญญากู้เงินกับธนาคาร ท. เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2550 กู้เงินจำนวน 1,038,000 บาท เพื่อซื้ออาคารเลขที่ 466/43 พร้อมที่ดิน และนางสาว อ. ได้ทำหนังสือสัญญากู้เงินฉบับที่ 2 กับธนาคาร ท. เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2550 กู้เงินจำนวน 1,200,000 บาท เพื่อซื้ออาคารพร้อมที่ดินโฉนดเลขที่เดียวกัน โดยในหนังสือรับรองดอกเบี้ยเงินกู้ยืมของธนาคารฯ ตามสัญญาที่ 1 ระบุชื่อนางสาว อ. และนางสาว ป. ผู้กู้ยืมได้ชำระดอกเบี้ยเงินกู้ยืมจำนวน 34,569.20 บาท นางสาว อ. และนางสาว ป. ผู้กู้ยืมทั้ง 2 คน จึงได้รับสิทธิหักลดหย่อนและยกเว้นภาษีตามส่วนคนละ 17,284.60 บาท ส่วนสัญญาที่ 2 ระบุชื่อ นางสาว อ. ได้ชำระดอกเบี้ยเงินกู้ยืมจำนวน 14,369.79 บาท ดังนั้น นางสาว อ. ผู้มีชื่อในหนังสือรับรองดอกเบี้ยเงินกู้ยืมตามสัญญาที่ 1 และ 2 จึงได้รับสิทธิหักลดหย่อนและยกเว้นภาษีรวมกันจำนวน 31,654.39 บาท ส่วนนางสาว ป. ผู้มีชื่อกู้ยืมในหนังสือรับรองดอกเบี้ยเงินกู้ยืมตามสัญญาที่ 1 เพียงสัญญาเดียวจึงได้รับสิทธิหักลดหย่อนและยกเว้นภาษีจำนวน 17,284.60 บาท เท่านั้น
          2. กรณีตาม 2. ผู้มีเงินได้ที่มีสิทธิหักค่าลดหย่อนและได้รับยกเว้นภาษีกรณีดอกเบี้ยเงินกู้ยืมสำหรับการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัยนั้น มาตรา 47 (1)(ซ) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 86)ฯ ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 และข้อ 2 (52) และ (53) ของกฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ฯ ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 87) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ยืม สำหรับการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย โดยจำนองอาคารที่ซื้อหรือสร้างเป็นประกันการกู้ยืมนั้นตามข้อ 2 (52) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 166)ฯ ลงวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2551 ไม่ได้กำหนดให้ผู้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อ เช่าซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัย หรือผู้กู้ร่วมต้องเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในอาคารที่จำนอง ซึ่งการรับสิทธิดังกล่าว ผู้มีเงินได้ต้องมีหลักฐานจากเจ้าหนี้ผู้ให้กู้ยืมที่พิสูจน์ได้ว่า ได้มีการจ่ายดอกเบี้ยสำหรับการกู้ยืมเงิน ตามข้อกำหนดและหลักเกณฑ์เกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ดังกล่าวที่ผู้ให้กู้เป็นฝ่ายพิจารณากำหนดขึ้น
เลขตู้: 71/36302

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020