เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/8779
วันที่: 24 ธันวาคม 2551
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการขายคืนหน่วยลงทุนให้กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
ข้อกฎหมาย: มาตรา 42(17) และกฎกระทรวง ฉบับที่ 126ฯ
ข้อหารือ          นาย ก. ได้ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) จากธนาคาร ตั้งแต่ปี 2546 ถึงปัจจุบัน โดย นาย ก. ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามจำนวนเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม เพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ในแต่ละปีภาษีไปแล้ว ต่อมานาย ก. ได้ขายคืนหน่วยลงทุน RMF ดังนี้
          ครั้งแรกวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2551 นาย ก. ได้ขายหน่วยลงทุนที่ซื้อจากธนาคาร ก. เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2546 เป็นจำนวน 20,000 บาท
          ครั้งที่สองวันที่ 9 กันยายน 2551 นาย ก. ได้ขายหน่วยลงทุนที่ซื้อจากธนาคาร ข. เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2546 เป็นจำนวน 54,036.25 บาท
          ปัจจุบันนาย ก. มีอายุ 58 ปี จึงขอทราบว่า
          1. นาย ก. ต้องเสียภาษี และเงินเพิ่มเป็นเงินเท่าไร
          2. หากนาย ก. จะทำการซื้อหน่วยลงทุนคืน เป็นจำนวนเงินที่ขายไปภายในปี 2551 นาย ก. จะคงสิทธิประโยชน์ทางภาษีเช่นเดิมหรือไม่
          3. เงินได้หรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ได้รับเนื่องจากการขายคืนหน่วยลงทุนต้องเสียภาษีหรือไม่
แนววินิจฉัย
          1. กรณีตาม 1. การถือหน่วยลงทุน RMF ของผู้มีเงินได้ที่จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเงินเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมสำหรับปีนั้น และได้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้หรือผลประโยชน์ใดๆ ที่ได้รับเนื่องจากการขายคืนหน่วยลงทุน RMF ตามมาตรา 42 (17) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 (55) และ (65) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 246 (พ.ศ.2547) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร และประกาศอธิบดี กรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 90) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ และการถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ลงวันที่12 มีนาคม พ.ศ. 2544 กำหนดให้ผู้มีเงินได้ต้องถือหน่วยลงทุน RMF ดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี นับตั้งแต่วันซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรก
          จากข้อเท็จจริงนาย ก. ได้ซื้อหน่วยลงทุน RMF ครั้งแรกเมื่อวันที่ 30ธันวาคม 2546 ดังนั้น วันที่ครบกำหนดห้าปี นับตั้งแต่วันซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรก คือวันที่ 30 ธันวาคม 2551 การที่นาย ก. ขายคืนหน่วยลงทุน RMF เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2551 และเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2551 แม้ในขณะที่ขายหน่วยลงทุน RMF นาย ก. มีอายุ 58 ปีบริบูรณ์ก็ตาม ถือได้ว่านาย ก. ถือหน่วยลงทุนดังกล่าวน้อยกว่า 5 ปี นับแต่วันซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรก นาย ก. จึงหมดสิทธิได้รับยกเว้น ภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเงินเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมสำหรับปีนั้น และต้องเสียภาษีเงินได้สำหรับปี ภาษีที่ได้นำเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนไปหักออกจากเงินได้เพื่อยกเว้นภาษีเงินได้ที่อยู่ในช่วงระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ของปีภาษีนั้น ๆ จนถึงวันที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเติมเพื่อเสียภาษีเงินได้เพิ่มเติมของปีภาษีดังกล่าว หากนาย ก. ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเติมภายในเดือนมีนาคมของปีถัดจากปีที่ไม่ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของข้อ 1 ข้อ 2 หรือ ข้อ 3 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 90)ฯ ลงวันที่ 12 มีนาคมพ.ศ. 2544 นาย ก. ไม่ต้องเสียเงินเพิ่มแต่อย่างใด
          2. กรณีตาม 2. การที่นาย ก. จะทำการซื้อหน่วยลงทุนคืน เป็นจำนวนเงินเท่าที่ขายไปภายในปีภาษี 2551 นาย ก. ไม่ได้คงสิทธิประโยชน์ทางภาษีเช่นเดิม แต่อย่างใด
          3. กรณีตาม 3. เมื่อนาย ก. ขายหน่วยลงทุน RMF ที่ถือหน่วยลงทุนดังกล่าวน้อยกว่า 5 ปี นับแต่วันซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรก เงินได้หรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ได้รับเนื่องจากการขายคืนหน่วยลงทุน RMF ดังกล่าว ไม่ได้รับยกเว้นเงินได้ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทั้งนี้ ตามมาตรา 42 (17) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(65) แห่ง กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ฯ และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 90)ฯ ลงวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2544
เลขตู้: 71/36288

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020