เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702(กม.05)/2733
วันที่: 18 ธันวาคม 2551
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการเลือกเสียภาษีตามมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ได้รับในปีภาษีอื่นที่มิใช่ปีที่ออกจากงาน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 48(5) และประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ (ฉบับที่ 45)
ข้อหารือ          นาย จ. มีเงินได้ตามมาตรา 40(1) และมาตรา 40(4) แห่งประมวลรัษฎากร และเงินได้ที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กรณีนายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานและเลือกเสียภาษีโดยไม่นำไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้ประเภทอื่น ขอคืนภาษี จำนวน 128,716.65 บาท จากการวิเคราะห์แบบแสดงรายการและตรวจสอบเอกสารที่นาย จ. นำส่ง พบว่า
          1. ปีภาษี 2548 นาย จ. ยื่นแบบ ภ.ง.ด.91 คำนวณภาษีตามมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานที่ได้รับจากบริษัท ล. ซึ่งนาย จ. ลาออกจากบริษัทดังกล่าว เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2548 มีอายุงาน 5 ปี 18 วัน โดยได้โอนเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พนักงานบริษัท ล. ไปยังกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พนักงานบริษัท ฮ. เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2549
          2. ปีภาษี 2550 นาย จ. มีเงินได้ตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนี้
               2.1เงินได้จากบริษัท ฮ. โดยนาย จ. ได้ลาออก เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2550 และได้รับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พนักงานบริษัท ฮ. ซึ่งในส่วนของเงินสะสมและผลประโยชน์ของเงินสะสมในรายงานการสิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ระบุว่า นาย จ. สิ้นสุดสมาชิกภาพเนื่องจากลาออก มีอายุสมาชิก 1 ปี 2 เดือน
               2.2เงินได้จากบริษัท อ. นาย จ. ได้นำเงินเดือนที่รับจากบริษัท ฮ. และบริษัท อ. คำนวณภาษีตามมาตรา 48(1) แห่งประมวลรัษฎากร ส่วนเงินได้ที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พนักงานบริษัท ฮ. นาย จ. นำมาคำนวณภาษีตามมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร โดยนาย จ. อ้างว่า เงินได้ที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพดังกล่าวเป็นเงินที่รับโอนจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในส่วนของบริษัท ล. ซึ่งนาย จ. ได้ลาออกเมื่อปี 2548 เนื่องจากมีการคงเงินกองทุนฯ โดยมีอายุงานนับต่อเนื่องรวมทั้งสิ้น 6 ปี 2 เดือน ตามหลักเกณฑ์ในหนังสือ เรื่อง การซักซ้อมแนวทางการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการคงเงินไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพื่อรองรับการโอนย้ายแรงงาน ลงวันที่ 15 มีนาคม 2547 ซึ่งนาย จ. เห็นว่า เงินได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพดังกล่าวที่นำมาคำนวณภาษี ตามมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นเงินได้ที่ได้รับจากนิติบุคคลซึ่งไม่ใช่นายจ้าง คือ บริษัท ล. ดังนั้น ผู้จ่ายจึงมิใช่ผู้จ่ายรายเดียวกัน จึงสามารถเลือกคำนวณภาษี ตามมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร
แนววินิจฉัย          กรณีนาย จ. ได้ลาออกจากบริษัท ล. ซึ่งมีระยะเวลาการทำงาน 5 ปี 18 วัน และได้เข้าทำงานที่บริษัท ฮ. โดยนาย จ. ได้โอนเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานบริษัท ล. ไปยังกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พนักงานบริษัท ฮ.นั้น หากข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในการออกจากงานดังกล่าว บริษัท ล. นายจ้างได้จ่ายเงินได้ประเภทเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานให้แก่ นาย จ. แล้ว จะมีผลให้นาย จ. ไม่มีสิทธินับอายุการทำงานที่ทำอยู่กับบริษัท ล. ต่อเนื่องกับบริษัท ฮ. ได้ และนาย จ. ไม่มีสิทธินำเงินได้ที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ได้รับ มาเลือกคำนวณภาษีแยกต่างหากจากเงินได้อื่น ตามมาตรา 48(5) แห่งประมวล รัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(ก) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฉบับดังกล่าว ทั้งนี้ เงินได้ดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นเงินได้เนื่องจาก การจ้างแรงงาน ตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร จึงต้องคำนวณภาษี ตามมาตรา 48(1) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 71/36297

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020