เลขที่หนังสือ | : กค 0702/8823 |
วันที่ | : 26 ธันวาคม 2551 |
เรื่อง | : ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการออกใบกำกับภาษีขายให้แก่บริษัทประกันภัย |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 70/1(10) และมาตรา 72/2(1) แห่งประมวลรัษฎากร |
ข้อหารือ | บริษัทฯ ประกอบธุรกิจเป็นนายหน้าประกันวินาศภัยได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจดังกล่าว จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) โดยมีข้อเท็จจริง ดังนี้
1. บริษัทฯ มีหน้าที่จัดหากรมธรรม์ประกันภัย เช่น ประกันภัยรถยนต์ ประกันอัคคีภัย ประกันภัยขนส่งทางทะเล และประกันภัยเบ็ดเตล็ด ที่ออกโดยบริษัทประกันภัย (บริษัทประกันฯ ) จดทะเบียนในประเทศไทย ให้กับลูกค้า เมื่อลูกค้าตกลงซื้อกรมธรรม์ บริษัทฯ จะแจ้งให้บริษัทประกันฯ ออกกรมธรรม์ และบริษัทฯ ซึ่งได้รับมอบอำนาจเป็นหนังสือจากบริษัทประกันฯ เป็นผู้นำส่งกรมธรรม์นั้น ให้แก่ลูกค้า พร้อมเรียกเก็บเงินค่าเบี้ยประกันภัยและออกใบเสร็จรับเงินมอบให้แก่ลูกค้าแทนบริษัทประกันฯ ทันที 2. เมื่อบริษัทฯ ได้รับเงินเบี้ยประกันภัยจากลูกค้า บริษัทฯ จะนำเงินค่าเบี้ยประกันภัย มาเข้าบัญชีของบริษัทฯ เนื่องจากบริษัทประกันฯ ได้ตกลงให้บริษัทฯ นำส่งเบี้ยประกันภัยดังกล่าว ภายใน 60-90 วัน เมื่อครบกำหนดระยะเวลา บริษัทฯ จึงได้นำส่งเงินดังกล่าว โดยหักเป็นค่านายหน้าพร้อมออกใบกำกับภาษีและใบเสร็จรับเงินค่านายหน้าให้กับบริษัทประกันฯ และบริษัทประกันฯ จะหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายค่านายหน้ากับบริษัทฯ ในอัตราร้อยละ 3.0 พร้อมออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย บริษัทฯ จึงขอทราบว่า บริษัทฯ ต้องออกใบกำกับภาษีจากค่านายหน้าที่ได้รับจากบริษัทประกันฯ ให้แก่บริษัทประกันฯ หรือไม่ | แนววินิจฉัย | กรณีบริษัทฯ เป็นนายหน้าให้บริการจัดหาลูกค้าที่เป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล เพื่อซื้อกรมธรรม์ประกันภัย เช่น ประกันภัยรถยนต์ ประกันอัคคีภัย ประกันภัยขนส่งทางทะเล และประกันภัยเบ็ดเตล็ด ให้กับบริษัทประกันฯ ในราชอาณาจักร เข้าลักษณะเป็นการให้บริการ ซึ่งอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/1(10) และมาตรา 77/2(1) แห่งประมวลรัษฎากร โดยบริษัทฯ ต้องออกใบกำกับภาษีสำหรับการให้บริการดังกล่าว เมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น กล่าวคือ เมื่อได้รับชำระราคาค่าบริการ เว้นแต่ บริษัทฯ ได้ออกใบกำกับภาษีก่อนได้รับชำระราคาค่าบริการ ให้ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อได้ออกใบกำกับภาษี ทั้งนี้ ตามมาตรา 78/1(1) และมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร |
เลขตู้ | : 71/36292 |