เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/1973
วันที่: 6 มีนาคม 2555
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการประกอบกิจการรับจ้างขนย้ายน้ำตาล
ข้อกฎหมาย: มาตรา 82/3 มาตรา 89(4) มาตรา 86/13 และมาตรา 90/4(3)
ข้อหารือ          ห้างฯ จดทะเบียนนิติบุคคล เมื่อวันที่1 เมษายน 2551 ประกอบกิจการรับขนย้ายน้ำตาลบรรจุกระสอบ จากโรงงาน ผลิตไปยังโกดังเก็บสินค้าของผู้ว่าจ้างตามคำสั่งของผู้ว่าจ้าง โดยไม่มีการให้บริการอื่น ในการขนย้ายน้ำตาลใช้แรงงานคน เป็นหลัก และมีอุปกรณ์อื่น เช่น รถเข็น รถยนต์บรรทุกในบางครั้ง ทั้งนี้ ขึ้นกับระยะทางในการขนย้าย (ประมาณ 1 ถึง 2 กิโลเมตร)
          เมื่อเดือนพฤษภาคม 2552 เจ้าหน้าที่สรรพากรได้แจ้งว่า ห้างฯ มีรายได้ถึงเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดให้จดทะเบียน ภาษีมูลค่าเพิ่ม ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2551 ต้องเสียภาษีย้อนหลังให้ครบถ้วนและยื่นแบบ ภ.พ.30 เพื่อนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ห้างฯ เห็นว่า การประกอบกิจการของห้างฯ เป็นการให้บริการรับขนของจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งเป็นทางค้าปกติโดยมิได้ มีการให้บริการอื่น การประกอบกิจการดังกล่าว ถือเป็นการให้บริการขนส่งในราชอาณาจักร ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81(1)(ณ) แห่งประมวลรัษฎากร ห้างฯ จึงหารือ ดังนี้
          1. การให้บริการขนย้ายน้ำตาลของห้างฯ เป็นการขนสิ่งของจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งโดยไม่มีการให้บริการ อื่นใดอีก ลักษณะดังกล่าว ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81(1)(ณ) แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่มีหน้าที่ต้องจด ทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ถูกต้องหรือไม่
          2. กรณีห้างฯ เป็นผู้ประกอบการขนส่งตามข้อ 1. เมื่อผู้ว่าจ้างจ่ายเงินค่าขนย้ายน้ำตาลผู้ว่าจ้างมีหน้าที่หัก ภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1.0 ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมิน ตาม มาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ถูกต้องหรือไม่
          3. กรณีห้างฯ ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและยื่นแบบ ภ.พ. 30 แล้วตั้งแต่เดือนภาษีกรกฎาคม 2551 จนถึงปัจจุบัน ห้างฯ ต้องทำอย่างไรในส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มที่นำส่งแล้ว
แนววินิจฉัย          1. กรณีห้างฯ รับขนย้ายน้ำตาลบรรจุกระสอบจากโรงงานผลิตไปยังโกดังเก็บสินค้าของผู้ว่าจ้างตามคำสั่งของผู้ว่าจ้าง โดยไม่มีการให้บริการอื่นใดอีกในการรับขนดังกล่าว ถือเป็นการให้บริการขนส่งในราชอาณาจักร ห้างฯ จึงได้รับยกเว้นภาษี มูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ณ) แห่งประมวลรัษฎากร และไม่มีสิทธิแจ้งขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81/3 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น ซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินค่าขนย้ายน้ำตาล มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 1.0 ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528
          2. กรณีห้างฯ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้เมื่อเดือนกรกฎาคม 2551 โดยห้างฯ ได้ประกอบกิจการขนส่งสินค้า ในราชอาณาจักรเพียงประเภทเดียว ไม่ได้ประกอบกิจการอื่น ให้ห้างฯ ติดต่อกับสำนักงานสรรพากรพื้นที่ที่ได้จดทะเบียน ภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ เพื่อดำเนินการยกเลิกทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับจำนวนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่ห้างฯ ได้เสียไปแล้ว เมื่อห้างฯ ได้ทำการถอนใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว มีสิทธิขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยยื่นคำร้องตามแบบ ค.10 ภายใน 3 ปีนับแต่วันที่ได้ชำระภาษี ตามมาตรา 84/1(2) แห่งประมวลรัษฎากร
          นอกจากนี้ ห้างฯ ไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีเพื่อเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับค่าบริการขนส่งจากผู้ว่าจ้าง ตั้งแต่เริ่มประกอบกิจการ และภาษีซื้อที่ห้างฯ จ่ายไปเมื่อซื้อสินค้าหรือบริการ ห้างฯ ไม่มีสิทธินำไปหักออกจากภาษีขาย ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร และมีผลให้ผู้ประกอบการรายอื่นๆ ที่ได้นำใบกำกับภาษี ที่ออกโดยห้างฯ ไปใช้ขอคืนภาษีหรือขอเครดิตภาษีต้องเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ตามมาตรา 89(4) และมาตรา 89/1 แห่ง ประมวลรัษฎากร และต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา 90/3(7) แห่งประมวลรัษฎากร และกรณีห้างฯ ออกใบกำกับภาษีโดย ไม่มีสิทธิออกตามกฎหมายต้องรับผิดในภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามจำนวนที่ปรากฏในใบกำกับภาษี ตามมาตรา 86/13 แห่งประมวล รัษฎากร และแม้ว่าห้างฯ ได้เสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษีไปแล้ว ก็ยังต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับอีกสองเท่าของจำนวน ภาษีตามใบกำกับภาษีนั้น ตามมาตรา 89(6) แห่งประมวลรัษฎากร และต้องรับผิดทางอาญา ตามมาตรา 90/4(3) แห่ง ประมวลรัษฎากร
          อย่างไรก็ดี เนื่องจากการออกใบกำกับภาษีและการใช้ใบกำกับภาษีตามข้อเท็จจริงดังกล่าว เกิดจากความสำคัญผิด ในข้อกฎหมาย จึงงดเบี้ยปรับให้ตามข้อ 10 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 81/2542 เรื่อง หลักเกณฑ์การงดหรือลดเบี้ยปรับ หรือเงินเพิ่มภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 22 มาตรา 26 มาตรา 67 ตรี มาตรา 89 และ มาตรา 91/21(6) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 และการที่บริษัทฯ และผู้ประกอบการจดทะเบียน ที่นำใบกำกับภาษีไปใช้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา จึงไม่ต้องรับผิดทางอาญา แต่ประการใด
เลขตู้: 75/38062

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020