เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/2904
วันที่: 10 เมษายน 2555
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการยกเว้นภาษีแก่นายจ้างหรือเจ้าของ สถานประกอบการที่ส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          ส. แจ้งว่าตามมาตรา 34 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 (พ.ร.บ. ส่งเสริมฯ) กำหนดให้ "นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการที่มิได้รับคนพิการเข้าทำงานตามจำนวนที่กำหนด ตามมาตรา 33 ให้ส่งเงินเข้ากองทุนตามมาตรา 24 (5) ทั้งนี้ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานออกกฎกระทรวงกำหนด จำนวนเงินที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการจะต้องนำส่งเข้ากองทุน"และมาตรา 34 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติ ดังกล่าว กำหนดให้ "นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการซึ่งรับคนพิการเข้าทำงานหรือส่งเงินเข้ากองทุนตามวรรคหนึ่ง มีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเป็นร้อยละของจำนวนเงินค่าจ้างที่จ่ายให้แก่คนพิการหรือเงินที่ส่งเข้ากองทุนแล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายกำหนด" ซึ่งขณะนี้กฎกระทรวง "กำหนดจำนวนคนพิการที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการและ หน่วยงานของรัฐจะต้องรับเข้าทำงาน และจำนวนเงินที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการจะต้องนำส่งเข้า กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2554" ได้มีผลบังคับใช้แล้ว โดยมีนายจ้างหรือเจ้าของ สถานประกอบการฯ เลือกใช้วิธีส่งเงินเข้ากองทุนจำนวนมาก จึงขอทราบว่า เงินที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการฯ ส่งเข้ากองทุนดังกล่าว สามารถนำไปยกเว้นภาษีเงินได้ หรือไม่ และเป็นไปตามกฎหมายใด พร้อมทั้งขอทราบผล การพิจารณาการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่ออกตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 519) พ.ศ. 2554
แนววินิจฉัย          กรณีมาตรา 34 แห่ง พ.ร.บ. ส่งเสริมฯ กำหนดให้ นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการที่มิได้รับคนพิการ เข้าทำงานตามจำนวนที่กำหนดตามมาตรา 33 ต้องส่งเงินเข้ากองทุนตามมาตรา 24 (5) ตามจำนวนที่กำหนดใน กฎกระทรวง ซึ่งตามประมวลรัษฎากร ถือว่าเงินที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการฯ มีหน้าที่ต้องจ่ายตาม กฎหมาย เป็นรายจ่ายตามกฎหมายภาษีอากรได้ ดังนั้น นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการฯ สามารถนำรายจ่าย ดังกล่าว มาหักค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ตามความจำเป็นและสมควร โดยให้นำมาตรา 65 ทวิ และ 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร มาใช้บังคับโดยอนุโลม ทั้งนี้ ตามมาตรา 8 ทวิ แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตาม ความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502 หรือนำมาหักค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ไม่เป็นรายจ่ายต้องห้าม ตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 75/38107

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020