เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/6896
วันที่: 9 สิงหาคม 2555
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ข้อกฎหมาย: กฎกระทรวง 126 (พ.ศ. 2509)ฯ
ข้อหารือ        ธนาคารฯ หารือกรณีกฎกระทรวง ฉบับที่ 277 (พ.ศ. 2553) ออกตามความ ในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ลงวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2553 และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ ( ฉบับที่ 188) เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการ เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่ได้รับจากกอง ทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ลงวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2553 ดังนี้
        1. กรณีออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ตามระเบียบข้อบังคับของธนาคารฯ กำหนดให้พนักงานเกษียณอายุในวันสิ้นปีของปีที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ หากสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่เกษียณอายุแจ้งขอคงเงินไว้ ในกองทุน โดยที่ข้อบังคับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของธนาคารฯ กำหนดให้สมาชิกที่ขอคงเงิน (หมายถึงสมาชิกที่สิ้นสุดสมาชิกภาพเพราะ เหตุออกจากงาน และขอคงเงินที่สมาชิกมีสิทธิได้รับทั้งหมดไว้ในกองทุน) สามารถคงเงินทั้งหมดที่สมาชิกมีสิทธิได้รับไว้ในกองทุนได้ เป็นระยะเวลา 3 ปี นับจากวันที่ออกจากงาน เช่น นาย ก. เกษียณอายุในปี 2553 และมีสิทธิได้รับเงินหรือผลประโยชน์เนื่องจากการออก จากงาน จำนวน 1,000,000 บาท และแจ้งขอคงเงินไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามระยะเวลาที่กำหนดในข้อบังคับ (3 ปี) ดังนั้น หากในปี 2556 นาย ก. ได้รับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจำนวน 1,000,000 บาท และมีผลประโยชน์เพิ่มที่เกิดในช่วงระยะเวลาที่คงเงินไว้ใน กองทุนอีกจำนวน 100,000 บาท รวมเป็นเงิน 1,100,000 บาท นาย ก. จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดาจากจำนวน 1,000,000 บาท หรือ 1,100,000 บาท
        2. กรณีที่ออกจากงานในกรณีอื่นนอกจากเกษียณอายุ ทุพพลภาพ หรือ ตาย และแจ้งขอคงเงินไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เช่น นาย ก. ลาออกจากงานขณะมีอายุ 59 ปี และมีสิทธิได้รับเงินหรือผลประโยชน์ เนื่องจากการออกจากงาน จำนวน 1,000,000 บาท โดยแจ้งขอคงเงินไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นเวลา 1 ปี ต่อมานาย ก. ได้รับเงิน จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเมื่อมีอายุครบกำหนดเกษียณอายุ จำนวน 1,000,000 บาท และมีผลประโยชน์เพิ่มที่เกิดในช่วงระยะเวลาที่คง เงินไว้ในกองทุน อีกจำนวน 100,000 บาท รวมเป็นเงิน 1,100,000 บาท นาย ก. จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้จากจำนวน 1,000,000 บาท หรือ 1,100,000 บาท
        3. กรณีการขอรับเงินจากกองทุนเป็นงวด ตามมาตรา 23/2 แห่งพระ ราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 ที่กำหนดว่า " เมื่อลูกจ้างรายใดสิ้นสมาชิกภาพเพราะการเกษียณอายุตามหลักเกณฑ์ที่ กำหนดในข้อบังคับของกองทุน หากลูกจ้างรายนั้นแสดงเจตนาขอรับเงินจากกองทุนเป็นงวดให้ผู้จัดการกองทุนจ่ายเงินจากกองทุนตาม เจตนาของลูกจ้าง โดยลูกจ้างรายนั้นยังคงเป็นสมาชิกกองทุนต่อไปตามระยะเวลาที่กำหนดในข้อบังคับของกองทุนแต่ลูกจ้างรายนั้นและ นายจ้างไม่ต้องจ่ายเงินสะสมหรือเงินสมทบสำหรับลูกจ้างรายนั้นอีก ทั้งนี้ การรับเงินจากกองทุนเป็นงวดให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่นาย ทะเบียนประกาศกำหนด" ดังนั้น หากสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่เกษียณอายุแจ้งความประสงค์ขอรับเงินจากกองทุนเป็นงวดตามหลัก เกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดดังกล่าว เงินและผลประโยชน์เพิ่มดังกล่าวตามข้อ 1 และข้อ 2 จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเช่นเดียว กับการคงเงินไว้ในกองทุนหรือไม่
แนววินิจฉัย        1. กรณีตาม 1. และ 2. เนื่องจากข้อ 2 (36) ของกฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พศ. 2509)ฯ ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2509 ระบุว่า เงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วย กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ดังนั้น เงินและผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นใน ระหว่างที่คงเงินไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่พนักงานเกษียณอายุหรือพนักงานออกจากงานกรณีอื่นได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ถ้า เป็นไปตามพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 โดยการเกษียณอายุตามข้อบังคับนั้นพนักงานต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริ บูรณ์ และต้องเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาโดยตลอดและต้องเป็นสมาชิกมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ต่อเนื่องกัน หากเป็นสมาชิกยัง ไม่ถึง 5 ปีต่อเนื่องกัน ต้องเป็นสมาชิกไปจนมีระยะเวลาการเป็นสมาชิกไม่น้อยกว่า 5 ปี ต่อเนื่องกัน ย่อมได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณ เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทั้งนี้ ตามข้อ 2 (36) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ฯ ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2509 ประกอบกับข้อ 3 และข้อ 4 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 188)ฯ ลงวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2553 ซึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 202) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการ เพื่อการยก เว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ลงวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2554
        2. กรณีตาม 3. การแสดงเจตนาขอรับเงินหรือผลประโยชน์ใดๆ จาก กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นงวด ที่เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินหรือผลประโยชน์ที่ได้รับจากกอง ทุนสำรองเลี้ยงชีพดังกล่าวได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามข้อ 2 (36) แห่งกฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ฯ ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2509 ประกอบกับข้อ 3 และข้อ 4 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ ( ฉบับที่ 188)ฯ ลงวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2553
เลขตู้: 75/38246

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020