เลขที่หนังสือ | : กค 0702/587 |
วันที่ | : 23 มกราคม 2556 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีจ่ายค่าจัดส่งพนักงาน (Dispatch fee) |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 65 มาตรา 77/1 (18) (ก) มาตรา 82/3 มาตรา 83/4 มาตรา 84 มาตรา 86/14 และ มาตรา 89/2 แห่งประมวลรัษฎากร |
ข้อหารือ |
บริษัทฯ ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในกิจการอุตสาหกรรมผลิตผลิตภัณฑ์อิเล็คทรอนิคส์ ประเภท 5.4 ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับวัตถุดิบ บริษัทฯ ได้นำเข้าวัตถุดิบจอทีวีที่ใช้ในการผลิต ขณะที่อยู่ในการรับฝากและดูแลของผู้รับฝาก ตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรจุวัตถุดิบได้ตกลงมาจากชั้นสอง ทำให้วัตถุดิบดังกล่าวได้รับความเสียหายจนไม่สามารถนำมาผลิตเพื่อการส่งออกได้ และบริษัทฯ ได้รับเงินค่าสินไหมทดแทนความเสียหายจากบริษัทรับประกันภัยแล้ว ต่อมากรมศุลกากร ได้ออกแบบแจ้งการประเมินเรียกเก็บค่าอากรขาเข้า ค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม พร้อมทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม จากการนำเข้าวัตถุดิบดังกล่าว บริษัทฯ จึงขอทราบว่า
1. กรณีบริษัทฯ ได้รับค่าสินไหมทดแทนความเสียหายจากกรณีวัตถุดิบที่นำเข้าภายใต้การส่งเสริมการลงทุนเกิดอุบัติเหตุจนไม่สามารถนำมาผลิตเพื่อการส่งออกได้ บริษัทฯ จะนำค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวมาลงบันทึกเป็นรายได้ของบริษัทฯ ได้หรือไม่ 2. กรณีภาษีมูลค่าเพิ่ม พร้อมทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่มที่บริษัทฯ ได้ชำระแล้วตามการประเมินของกรมศุลกากร บริษัทฯ มีสิทธิขอคืนได้หรือไม่ |
แนววินิจฉัย |
1. กรณีตาม 1. บริษัทฯ ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในกิจการอุตสาหกรรมผลิตผลิตภัณฑ์อิเล็คทรอนิคส์ ได้นำเข้าวัตถุดิบจอทีวีที่ใช้ในการผลิต ขณะที่วัตถุดิบดังกล่าวอยู่ในการรับฝากและดูแลของผู้รับฝาก ตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรจุสินค้าได้ตกลงมาจากชั้นสอง ทำให้วัตถุดิบที่บรรจุภายในตู้ฯได้รับความเสียหายจนไม่สามารถนำมาผลิตเพื่อการส่งออกได้ และบริษัทฯ ได้รับเงินค่าชดเชยความเสียหายจากบริษัทประกันภัยสินค้านั้น เงินค่าชดเชยความเสียหายส่วนที่มากกว่าผลเสียหายไม่ถือเป็นรายได้จากกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน บริษัทฯ ต้องนำไปรวมคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของกิจการที่ไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร
2. กรณีตาม 2. เนื่องจากบริษัทฯ ได้ชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม พร้อมทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ตามแบบแจ้งการประเมินของกรมศุลกากร และมีใบเสร็จรับเงินของกรมศุลกากร ภาษีมูลค่าเพิ่มที่บริษัทฯ ได้ชำระถือเป็นภาษีซื้อ ตามมาตรา 77/1 (18) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ มีสิทธินำภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวมาถือเป็นภาษีซื้อในเดือนที่ชำระภาษีตามการประเมิน แต่ต้องไม่เกินสามปีนับจากวันที่ออกใบกำกับภาษี ตามมาตรา 82/3 วรรคสี่ มาตรา 84 และมาตรา 86/14 แห่งประมวลรัษฎากร หากบริษัทฯ ประสงค์จะขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทฯ จะต้องยื่นแบบ ภ.พ. 30 เพิ่มเติมสำหรับเดือนภาษีตามใบเสร็จรับเงินของกรมศุลกากรตามมาตรา 83/4 แห่งประมวลรัษฎากร และมีสิทธิขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมกับการยื่นแบบเพิ่มเติมนั้น สำหรับเบี้ยปรับและเงินเพิ่มที่เกิดจากการไม่ชำระภาษีหรือนำส่งภาษีล่าช้า ถือเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 89/2 แห่งประมวลรัษฎากร แต่ไม่ถือเป็นภาษีซื้อของบริษัทฯ ตามมาตรา 77/1 (18) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ไม่มีสิทธินำไปหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร |
เลขตู้ | : 76/38436 |