เลขที่หนังสือ | : 0702/10118 | วันที่ | : 28 พฤศจิกายน 2556 | เรื่อง | : ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการจำหน่ายหนี้สูญ | ข้อกฎหมาย | : กรณีจำหน่ายหนี้สูญ | ข้อหารือ |
1. บริษัทฯ ให้ บริษัท ท. ซึ่งเป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกันกู้ยืมเงิน ต่อมาลูกหนี้ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการและเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2554 ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ บริษัทฯ จึงได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยคงค้างต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ต่อมาเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2555 ที่ประชุมเจ้าหนี้ได้มีมติยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการและศาลได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2555 โดยสาระสำคัญของแผน สรุปได้ดังนี้
1.1 การจ่ายชำระคืนเงินต้น การชำระคืนเงินต้น กำหนดให้ได้รับชำระจากกระแสเงินสดของกิจการ ซึ่งบริษัทฯ จะได้รับชำระหนี้เป็นเงิน 18.41 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.80 ของหนี้เงินต้น โดยไม่มีดอกเบี้ย โดยลูกหนี้จะชำระเป็นรายปีภายในระยะเวลา 36 เดือน นับจากวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน 1.2 เงินสดที่เจ้าหนี้อาจได้รับเพิ่มเติมมี 2 ส่วน ได้แก่ (1) เงินสดที่เจ้าหนี้อาจได้รับเพิ่มเติมจากบริษัทลูกหนี้ในอนาคตหากลูกหนี้ได้รับเงินชดเชยจากการเป็นโจทก์ฟ้องร้องดำเนินคดีกับจำเลยในคดีหนึ่ง โดยเงินชดเชยค่าเสียหายที่อาจได้รับหลังหักค่าใช้จ่ายและจ่ายชำระหนี้ในลำดับต้นก่อน คาดว่ามีจำนวนไม่เกิน 674.52 ล้านบาท โดยให้นำมาเฉลี่ยให้แก่เจ้าหนี้ตามสัดส่วนภาระหนี้เงินต้น (ส่วนของบริษัทฯ คิดเป็นร้อยละ 7.725) (2) ทรัพย์สินของลูกหนี้ที่เป็นสิทธิเรียกร้องประเภทเงินให้กู้ยืมระยะยาวและลูกหนี้ที่เกี่ยวข้องกันซึ่งถึงกำหนดชำระ ให้บริษัทลูกหนี้ดำเนินการติดตามและบังคับชำระหนี้จนถึงที่สุด แล้วนำเงินที่ได้รับมาเฉลี่ยให้แก่เจ้าหนี้ทุกรายตามภาระหนี้เงินต้นของเจ้าหนี้แต่ละราย (หากพิจารณาจากงบการเงินของลูกหนี้สิทธิเรียกร้องดังกล่าวเป็นเงินให้กู้ยืมแก่บริษัทที่เกี่ยวข้องกันซึ่งค้างชำระมานานและไม่มีโอกาสได้รับคืน) 1.3 ผลสำเร็จของการฟื้นฟูกิจการ แผนจะสำเร็จเมื่อลูกหนี้ได้ดำเนินการชำระหนี้เงินต้นจากกระแสเงินสดของกิจการตามเงื่อนไขที่ระบุ (ส่วนของบริษัทฯ ได้รับเป็นจำนวนร้อยละ 4.80 ของหนี้เงินต้น) 1.4 ระยะเวลาดำเนินการตามแผนไม่เกิน 5 ปี 1.5 การยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ เมื่อได้ดำเนินการเป็นผลสำเร็จตามแผน ให้ลูกหนี้รายงานขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการโดยไม่ชักช้า เมื่อศาลมีคำสั่งให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการแล้ว ถือว่าเจ้าหนี้ตกลงยินยอมปลดหนี้เงินต้น ดอกเบี้ยค้างชำระ เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม ค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายต่างๆ และหนี้คงเหลืออื่นใดตามสิทธิเรียกร้องเดิมทั้งหมดโดยสิ้นเชิงให้กับลูกหนี้ ยกเว้นสิทธิเรียกร้องที่ในส่วนของค่าเสียหายที่อาจได้รับจากคดีที่ฟ้องร้อง...(ตามเงื่อนไขเงินสดที่เจ้าหนี้อาจได้รับเพิ่มเติมข้อ (1)) 2. ต่อมาในเดือนมีนาคม 2556 ซึ่งเป็นเดือนแรกที่ครบกำหนดชำระหนี้งวดแรก ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ จึงได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขแผน โดยยินยอมชำระหนี้ให้ในจำนวนที่สูงขึ้นแต่ขอขยายระยะเวลาการผ่อนชำระ โดยในส่วนของบริษัทฯ จากเดิมได้รับเป็นจำนวน 18.41 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.8 ของเงินต้นแก้ไขเป็นให้ได้รับเป็นจำนวน 30.56 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.97 ของเงินต้น และขยายระยะเวลาผ่อนชำระจาก 3 ปี เป็น 7 ปี และเงินสดที่อาจได้รับเพิ่มเติม แก้ไขใหม่โดยให้เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระจากสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยในอีกคดีหนึ่งเพิ่มเติมจากคดีที่กำหนดในแผนฉบับแรกด้วยซึ่งคดีที่ระบุเพิ่มเติมนี้ลูกหนี้ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องและในเดือนกันยายน 2555 ศาลแพ่งได้มีคำพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ลูกหนี้แล้ว แต่ขณะนี้จำเลยอยู่ระหว่างการดำเนินการอุทธรณ์ (แผนเดิมไม่ได้ระบุรวมเป็นแหล่งที่มาของเงินสดที่อาจได้รับเพิ่มเติม เนื่องจากคำตัดสินของศาลแพ่งเกิดขึ้นภายหลังจากที่แผนฉบับแรกได้รับความเห็นชอบจากศาลแล้ว) 3. แผนที่แก้ไขใหม่ได้ระบุจำนวนเงินสด ที่อาจได้รับเพิ่มเติมในอนาคตในวงเงินที่เพิ่มขึ้นแลชัดเจนขึ้นโดยเงินต้นคงเหลือจากการชำระหนี้จากกระแสเงินสดของกิจการตามแผน ให้ถือเป็นส่วนที่ลูกหนี้มีสิทธิได้รับเพิ่มเติมจากเงินสดที่อาจได้รับเพิ่มเติมในอนาคตทั้งจำนวนซึ่งมีผลให้เจ้าหนี้มีโอกาสได้รับชำระต้นเงินคืนเต็มจำนวน ในขณะที่แผนฉบับแรกเจ้าหนี้มีโอกาสได้รับเพียงบางส่วน ส่วนดอกเบี้ยคงค้างยังคงยกเว้นการชำระทั้งจำนวนเช่นเดิม 4. คำร้องขอแก้ไขแผนดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมเจ้าหนี้แล้วเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2556 ขณะนี้อยู่ระหว่างรอการพิจารณาของศาลเพื่อมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนที่แก้ไขใหม่ต่อไป 5. บริษัทฯ จึงหารือว่า กรณีที่บริษัทฯ มีหนี้เงินต้นจำนวน 383.50 ล้านบาท และดอกเบี้ยค้างรับ จำนวน 460.89 ล้านบาท คำนวณถึงวันที่ 13 มีนาคม 2555 ซึ่งเป็นวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฉบับแรก ในการคำนวณกำไรสุทธิทางภาษี บริษัทฯ ต้องจำหน่ายหนี้สูญเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2555 ตามแผนฉบับแรก หรือรอบระยะเวลาบัญชีปี 2556 ตามแผนที่แก้ไขใหม่ และตัดหนี้สูญเป็นจำนวนเงินเท่าใด | แนววินิจฉัย | 1. กรณีบริษัทฯ ให้บริษัท ท. หรือลูกหนี้กู้ยืมเงินซึ่งเป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกันต่อมาลูกหนี้ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง โดยศาลได้มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2554 และบริษัทฯ ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยคงค้างในการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งศาลได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2555 และลูกหนี้ต้องชำระหนี้ตามแผนให้กับบริษัทฯ ซึ่งเป็นเจ้าหนี้กลุ่มที่ 3 ในฐานะเจ้าหนี้ไม่มีประกัน (เจ้าหนี้บริษัทในเครือและบุคคลที่เกี่ยวข้องชึ่งลูกหนี้เป็นหนี้โดยตรง) โดยจัดสรรชำระหนี้ร้อยละ 4.80 ของมูลหนี้เงินต้น ไม่มีดอกเบี้ยด้วยกระแสเงินสดของกิจการ โดยผ่อนชำระเป็นรายปีภายในระยะเวลา 3 ปี นับจากวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน และกำหนดเงินสดที่บริษัทฯ อาจได้รับเพิ่มเติมจากการที่ลูกหนี้เป็นโจทก์ฟ้องคดีและลูกหนี้มีสิทธิเรียกร้องประเภทเงินให้กู้ยืมระยะยาว เมื่อดำเนินการเป็นผลสำเร็จตามแผน ให้ลูกหนี้รายงานขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการโดยไม่ชักช้า และเมื่อศาลมีคำสั่งให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ ถือว่าเจ้าหนี้ตกลงยินยอมปลดหนี้ตามสิทธิเรียกร้องเดิมทั้งหมดโดยสิ้นเชิงให้กับลูกหนี้ ฉะนั้น การที่บริษัทฯ เจ้าหนี้จะจำหน่ายหนี้สูญตามมาตรา 69 ทวิ (9) แห่งประมวลรัษฎากรได้ หนี้เงินกู้ยืมดังกล่าวจะต้องเป็นหนี้จากการประกอบกิจการหรือเนื่องจากการประกอบกิจการหรือหนี้ที่ได้รวมเป็นเงินได้ในการคำนวณกำไรสุทธิซึ่งเป็นหนี้ที่ยังไม่ขาดอายุความและมีหลักฐานชัดแจ้งที่สามารถฟ้องลูกหนี้ได้ ตามข้อ 3 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ.2534)ฯ ต่อมาเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2555 ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัทฯ จึงมีสิทธิจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ในส่วนที่ได้รับการปลดหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ที่ศาลได้มีคำสั่งเห็นชอบตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย โดยไม่ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ในข้อ 4 ข้อ 5 หรือ ข้อ 6 ของกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว และให้ถือเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2555 ทั้งนี้ ตามข้อ 6 ตรี และข้อ 7 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ.2534)ฯ 2. กรณีเมื่อเดือนมีนาคม 2556 มีการขอแก้ไขเพิ่มเติมแผนฉบับแรก โดยแผนที่ขอแก้ไขกำหนดให้บริษัทฯ ได้รับชำระหนี้เพิ่มเติมจากร้อยละ 4.80 ของมูลหนี้เงินต้น เป็นร้อยละ 7.97 ของมูลหนี้เงินต้นและขยายเวลาผ่อนชำระจาก 3 ปี เป็น 7 ปี พร้อมทั้งกำหนดเงินสดที่บริษัทฯ อาจได้รับเพิ่มเติมจากการที่ลูกหนี้เป็นโจทก์ฟ้องคดีเพิ่มเติมอีกคดีหนึ่ง ซึ่งการดำเนินการขอแก้ไขเพิ่มเติมแผนฉบับแรกเกิดขึ้นคนละปีกับปีที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฉบับแรก และขณะนี้แผนที่ขอแก้ไขอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลหากภายหลังศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนที่ขอแก้ไขเพิ่มเติม มีผลทำให้บริษัทฯ ได้รับชำระหนี้เพิ่มเติมจากลูกหนี้ตามมาตรา 90/60 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 จึงมิใช่กรณีที่บริษัทฯ ปลดหนี้ให้กับลูกหนี้ ซึ่งหากภายหลังปรากฏว่า บริษัทฯ ได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้ตามแผนฉบับแรก และหนี้ส่วนที่ได้รับเพิ่มเติมตามแผนที่ขอแก้ไข บริษัทฯ ต้องนำเงินดังกล่าวมารวมคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับชำระหนี้ด้วยตามมาตรา 65 ทวิ (9) แห่งประมวลรัษฎากร | เลขตู้ | : 76/38818 |