เมนูปิด
Untitled Document
เลขที่หนังสือ: กค 0702/2994
วันที่: 15 พฤษภาคม 2557
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการประกอบกิจการสถานพยาบาล
ข้อกฎหมาย: มาตรา 81(1)(ญ) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ           1. ห้างฯ จดทะเบียนนิติบุคคล เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2547 และจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2547 สำนักงานตั้งอยู่กรุงเทพมหานคร ประกอบกิจการให้บริการห้องแล็บ วิจัยชิ้นเนื้อ ลักษณะการประกอบกิจการ คือ ให้บริการห้องแล็บ วิจัยชิ้นเนื้อ โดยรับตรวจชิ้นเนื้อของผู้ป่วยโรงพยาบาลที่ส่งมาให้ และรับจากผู้ป่วยโดยตรงที่แพทย์แนะนำมาให้ตรวจ เพื่อวิเคราะห์และวิจัยโดยพยาธิแพทย์ รวมถึงให้คำปรึกษาวางแผนร่วมกับแพทย์เจ้าของไข้ โดยลูกค้าของห้างฯ ได้แก่ โรงพยาบาลต่างๆ บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลบ้างเล็กน้อย เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2553 ห้างฯ ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาลและห้างฯได้ออกใบกำกับภาษีขายนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) โดยใช้ภาษีขายหักภาษีซื้อ มีภาษีชำระทุกเดือนภาษี
          2. กรณีการประกอบกิจการสถานพยาบาลของห้างฯดังกล่าว จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่
          3. เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2554 ห้างฯ ได้ยื่นแบบคำขอถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.08)เนื่องจากทราบว่า เป็นผู้ประกอบการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81 (1) (ญ) แห่งประมวลรัษฎากร และได้รับอนุมัติให้ถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ต่อมากรมสรรพากรได้แจ้งการขีดชื่อเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.79) เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2555
          4. ขอทราบว่าความเห็นดังต่อไปนี้ถูกต้อง หรือไม่
               4.1 กรณีภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อห้างฯ ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล เมื่อวันที่9 กุมภาพันธ์ 2553 ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81 (1) (ญ) แห่งประมวลรัษฎากร "การให้บริการรักษาพยาบาลของสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล" เป็นผลให้ห้างฯ มิได้ประกอบกิจการที่อยู่ในข่ายต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2 (1) แห่งประมวลรัษฎากร นับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล เป็นต้นไป ห้างฯ จึงไม่มีสิทธิดังต่อไปนี้
                    (1) ห้างฯ ไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีขายสำหรับรายได้จากการให้บริการดังกล่าว ดังนั้น ใบกำกับภาษีขายที่ห้างฯ ได้ออกไปนับตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2553 จึงเป็นใบกำกับภาษีที่ออกโดยไม่มีสิทธิออก ตามมาตรา 86/13 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งห้างฯ จะต้องรับผิดเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษีพร้อมเบี้ยปรับเป็นเงินสองเท่าของจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 89 (6) แห่งประมวลรัษฎากร
                    (2) ห้างฯ ไม่มีสิทธินำภาษีซื้อสำหรับกิจการสถานพยาบาลมาใช้เป็นเครดิตในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องเสียภาษี ตามมาตรา 82/3 และมาตรา 82/5 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42) เรื่อง การกำหนดภาษีซื้อที่ไม่ให้นำไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/5 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2535
                    (3) กรณีภาษีซื้อที่ไม่มีสิทธินำมาถือเป็นเครดิต ห้างฯ ต้องยื่นแบบเพิ่มเติมชำระภาษีพร้อมเงินเพิ่ม เบี้ยปรับ ตามมาตรา 89/1 และมาตรา 89 (3) (4) แห่งประมวลรัษฎากร
               4.2 กรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล เนื่องจากก่อนหน้านี้ ห้างฯ อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มรายได้ตามแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) จะต้องเป็นรายได้ที่ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อห้างฯ ได้ออกจากระบบภาษีมูลค่าเพิ่มรายได้ตามแบบ ภ.ง.ด.50 จะต้องเป็นรายได้ที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนั้น จึงต้องนำภาษีมูลค่าเพิ่มในช่วงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2553 ถึงวันที่ 19 มกราคม 2555เป็นรายได้ในแบบ ภ.ง.ด.50 ด้วย
แนววินิจฉัย           1. กรณีภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามข้อเท็จจริงห้างฯ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อวันที่ 21มิถุนายน 2547 ประกอบกิจการให้บริการห้องแล็บ วิจัยชิ้นเนื้อ โดยรับตรวจชิ้นเนื้อของผู้ป่วยที่โรงพยาบาลส่งมาให้และรับจากผู้ป่วยโดยตรงเพื่อทำการวิเคราะห์ วิจัย โดยพยาธิแพทย์ รวมถึงให้คำปรึกษาวางแผนร่วมกับแพทย์เจ้าของไข้ ต่อมาเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2553 ห้างฯ ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2553 ซึ่งเป็นวันที่ห้างฯ ประกอบกิจการให้บริการรักษาพยาบาลของสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล จึงเข้าลักษณะเป็นการให้บริการรักษาพยาบาลของสถานพยาบาล ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81 (1) (ญ) แห่งประมวลรัษฎากร และห้างฯไม่มีสิทธิแจ้งต่ออธิบดีกรมสรรพากรเพื่อจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81/3 แห่งประมวลรัษฎากร โดยห้างฯ มีหน้าที่ต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.09) พร้อมคืนใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.20) ณ สถานที่ซึ่งได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ ภายในสิบห้าวันนับจากวันเลิกประกอบกิจการ และมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับสินค้าคงเหลือและหรือทรัพย์สินที่ห้างฯ มีไว้ในการประกอบกิจการ ณ วันเลิกประกอบกิจการ โดยมูลค่าของฐานภาษีให้ถือตามราคาตลาด ณ วันเลิกประกอบกิจการ และไม่ต้องออกใบกำกับภาษีแต่อย่างใด ส่วนรายงานเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ห้างฯ ไม่มีหน้าที่จัดทำอีกต่อไป แต่ต้องเก็บและรักษารายงานที่ตนมีหน้าที่ต้องเก็บรักษาอยู่ในวันเลิกประกอบกิจการต่อไปอีกสองปี ทั้งนี้ ตามมาตรา 77/1(8)(ฉ) มาตรา 79/3(5) มาตรา 85/15 มาตรา 87 มาตรา 87/3(2) และมาตรา 78/3(5) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 189 (พ.ศ. 2534) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มบางกรณี และมีผลทำให้
          1.1 ห้างฯ ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีและเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้รับบริการ และไม่มีสิทธิขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถูกผู้ประกอบการจดทะเบียนอื่นเรียกเก็บ ดังนั้น
                    (1) หากปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ชำระไว้แล้วมีจำนวนมากกว่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่ได้รับคืน ห้างฯ เป็นผู้มีสิทธิขอคืนตามนิยามที่กำหนดไว้ในข้อ 4 ของระเบียบกรมสรรพากรว่าด้วยการคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม พ.ศ. 2539 โดยยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร (ค.10) ณ ที่ว่าการอำเภอท้องที่ที่ผู้ขอคืนมีภูมิลำเนาภายในสามปีนับแต่วันที่ได้ชำระภาษี ตามมาตรา 84/1 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 9.3 ของระเบียบกรมสรรพากรฉบับดังกล่าว
                    (2) หากปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ชำระไว้แล้วมีจำนวนน้อยกว่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่ได้รับคืนให้ สท. กรุงเทพมหานคร 23 แจ้งเป็นหนังสือแจ้งการสั่งคืนเงินภาษีอากรผิดพลาด (ค.31)ไปยังห้างฯ เพื่อให้ส่งคืนเงินภาษีภายในกำหนดเวลา 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือ เนื่องจากห้างฯได้รับเงินภาษีไปโดยปราศจากมูลที่จะอ้างกฎหมายได้และเป็นทางให้กรมสรรพากรเสียเปรียบอันเป็นลาภมิควรได้ ตามมาตรา 406 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หากห้างฯ มิได้ส่งคืนเงินภาษีในเวลาที่กำหนดให้ สท. กรุงเทพมหานคร 23 ดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลเรียกคืนเงินภาษีดังกล่าวภายในกำหนดอายุความต่อไป โดยกรมสรรพากรมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยกรณีผิดนัดได้ ตามมาตรา 224 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
          1.2 เมื่อห้างฯ ประกอบกิจการให้บริการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ห้างฯ จึงมิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษี ตามมาตรา 86/13 วรรคแรก แห่งประมวลรัษฎากร การที่ห้างฯ ได้ออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิออกตามกฎหมาย ห้างฯ ต้องรับผิดในภาษีมูลค่าเพิ่มตามจำนวนที่ปรากฏในใบกำกับภาษี ตามมาตรา 86/13 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร พร้อมเบี้ยปรับอีกสองเท่าของจำนวนภาษีตามใบกำกับภาษี ตามมาตรา 89(6) แห่งประมวลรัษฎากร และมีความรับผิดทางอาญาตามมาตรา 90/4(3) แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับผู้ประกอบการจดทะเบียนอื่นๆ ที่ได้รับใบกำกับภาษีดังกล่าวไม่มีสิทธินำภาษีซื้อไปใช้ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากเป็นภาษีซื้อต้องห้าม ตามมาตรา 82/5(5) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น ผู้ประกอบการจดทะเบียนดังกล่าว จึงต้องยื่นแบบ ภ.พ.30 เพิ่มเติม เพื่อปรับปรุงภาษีซื้อให้ถูกต้องต่อไป ตามมาตรา 83/4 แห่งประมวลรัษฎากร โดยต้องรับผิดชำระภาษีเพิ่มเติมพร้อมทั้งเบี้ยปรับ ตามมาตรา 89(3) มาตรา 89(4) และเงินเพิ่ม ตามมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร นอกจากนี้การนำใบกำกับภาษีที่ออกโดยบุคคลผู้ไม่มีสิทธิออกตามกฎหมายไปใช้ในการคำนวณภาษี ต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับอีกสองเท่าของจำนวนภาษีตามใบกำกับภาษี ตามมาตรา 89(7)แห่งประมวลรัษฎากรด้วย และหากผู้ประกอบการจดทะเบียนดังกล่าวมีเจตนานำใบกำกับภาษีที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไปใช้ในการเครดิตภาษี โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นใบกำกับภาษีที่ออกโดยบุคคลผู้ไม่มีสิทธิออกตามกฎหมายมีความรับผิดทางอาญาตามมาตรา 90/4(7) แห่งประมวลรัษฎากร
          2. กรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในข้อ 1 ตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์2553 ซึ่งเป็นวันที่ห้างฯ ประกอบกิจการให้บริการรักษาพยาบาลของสถานพยาบาลตามกฎหมาย ว่าด้วยสถานพยาบาล เข้าลักษณะเป็นการให้บริการรักษาพยาบาลของสถานพยาบาล ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (1) (ญ) แห่งประมวลรัษฎากร และห้างฯ ไม่มีสิทธิแจ้งต่ออธิบดีกรมสรรพากรเพื่อจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81/3 แห่งประมวลรัษฎากร การที่ห้างฯ ได้เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้รับบริการ และได้ยื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้ว ถือว่า เป็นการยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มไว้โดยผู้ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีแต่ได้ชำระภาษีไว้ ห้างฯ จึงมีสิทธิขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ตามมาตรา 84/1(2) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 4(5) ของระเบียบกรมสรรพากรว่าด้วยการคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม พ.ศ. 2539 สำหรับผู้รับบริการไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายกำหนดให้ขอคืนจากกรมสรรพากรได้ ผู้รับบริการจึงต้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มจากห้างฯ ที่เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้รับบริการโดยตรง ดันั้น ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ห้างฯ ได้เรียกเก็บจากผู้รับบริการ โดยปราศจากมูลที่จะอ้างกฎหมายได้ และทำให้ผู้รับบริการเสียเปรียบอันเป็นลาภมิควรได้ ห้างฯ มีหน้าที่ตามกฎหมายต้องคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่เรียกเก็บให้กับผู้รับบริการ ตามมาตรา 406 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ห้างฯ จึงไม่ต้องนำภาษีมูลค่าเพิ่มที่ห้างฯ ได้เรียกเก็บจากผู้รับบริการมารวมคำนวณเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร แต่ห้างฯ มีสิทธินำภาษีซื้อที่ถูกผู้ประกอบการจดทะเบียนเรียกเก็บเนื่องจากการซื้อสินค้า หรือรับบริการ เพื่อนำมาใช้ในการประกอบกิจการสถานพยาบาลดังกล่าวตามมาตรา 82/4 แห่งประมวลรัษฎากร มาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิของห้างฯ ตามมาตรา65 ตรี (6 ทวิ) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 77/39049

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020