เมนูปิด
Untitled Document
เลขที่หนังสือ: กค 0702/7937
วันที่: 24 ตุลาคม 2557
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการจ่ายค่าตอบแทนการเป็นผู้จัดจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียวไปต่างประเทศ
ข้อกฎหมาย: ค่าสิทธิตามมาตรา 40(3) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ           1. บริษัท P จดทะเบียนนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศมาเลเซีย ประกอบกิจการเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์รวมทั้งอะไหล่ของรถยนต์ยี่ห้อ บริษัท O ได้แต่งตั้งให้ บริษัท พ. (บริษัท พ. ) เป็นผู้จัดจำหน่ายรถยนต์ยี่ห้อ บริษัท O รวมทั้งอะไหล่ที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย อีกทั้งยังให้ความช่วยเหลือที่จำเป็นในเรื่องการขาย การตลาด และการจำหน่าย เพื่อให้บริษัท พ. สามารถเป็นผู้จัดจำหน่ายที่สมบูรณ์ ซึ่ง บริษัท P จะเรียกเก็บเงินค่าตอบแทนการให้เป็นผู้จัดจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียวตามสัญญา Sole Distribution Rights Franchise Fee (SDRF) จากบริษัท พ. เป็นรายปี ปีละประมาณ 50 ล้านบาท เพื่อเป็นการให้ความมั่นใจแก่ บริษัท พ. ว่าจะไม่มีการแต่งตั้งผู้จัดจำหน่ายรายอื่นมาเป็นคู่แข่งในประเทศไทย และได้มีการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายและนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มตามตารางการคำนวณ
แนววินิจฉัย           1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล
          กรณี บริษัท P ซึ่งจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศมาเลเซีย และไม่มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์ รวมทั้งอะไหล่ของรถยนต์ยี่ห้อ O ได้ทำสัญญา SDRF กับบริษัท พ. ให้เป็นผู้จัดจำหน่ายรถยนต์ รวมทั้งอะไหล่ของรถยนต์ยี่ห้อ O แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทยในนามของบริษัท พ. อีกทั้งยังให้ความช่วยเหลือที่จำเป็นในเรื่องการขาย การตลาด และการจำหน่าย เพื่อให้บริษัท พ. สามารถเป็นผู้จัดจำหน่ายตามสัญญา SDRF ได้ โดยมิได้มีการแยกสัญญาและค่าตอบแทนในส่วนของการให้บริการในเรื่องการขาย การตลาด และการจำหน่ายออกจากสัญญาการเป็นผู้จัดจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียว โดยบริษัท พ. ต้องจ่ายค่าตอบแทน เป็นจำนวนประมาณ 50 ล้านบาทต่อปี (ค่าตอบแทนคิดจากราคาตลาดในเชิงเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเป็นกำไรที่เหมาะสมในการทำธุรกิจจากการที่ บริษัท P ต้องเสียโอกาสที่จะขายรถยนต์ยี่ห้อ O ให้ผู้จัดจำหน่ายรายอื่น ๆ) และถ้าบริษัท พ. มิใช่ผู้จัดจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย บริษัท พ. ก็ไม่ต้องจ่ายค่าตอบแทน และ บริษัท P มีสิทธิจำหน่ายรถยนต์และอะไหล่ของรถยนต์ยี่ห้อ O ให้แผู้จัดจำหน่ายรายอื่น ๆ ได้ ตามสัญญา SDRF ดังนั้น สัญญา SDRF ดังกล่าวเป็นการจ่ายค่าตอบแทนเพื่อให้ได้สิทธิในการจัดจำหน่ายรถยนต์ รวมทั้งอะไหล่รถยนต์ยี่ห้อ O แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย ไม่ถือว่าเป็นการจ่ายค่าตอบแทนเพื่อแลกกับการใช้หรือสิทธิในการใช้เครื่องหมายการค้าตามคำจำกัดความของค่าสิทธิ แต่เป็นการจ่ายค่าตอบแทนเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิในการจัดจำหน่ายรถยนต์ รวมทั้งอะไหล่ของรถยนต์ยี่ห้อ O แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย ที่ซื้อมาจากบริษัท P บริษัทผู้ผลิตในรัฐผู้ทำสัญญา เพื่อเป็นการกระตุ้นยอดขายของบริษัท พ. เองเงินค่าตอบแทนดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นกำไรจากธุรกิจ หากบริษัท P ผู้รับเงินไม่มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย จึงได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทย ตามเงื่อนไขของข้อ 7 แห่งความตกลงฯ ประกอบกับมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 บริษัท พ. ผู้จ่ายเงินได้จึงไม่มีหน้าที่หักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร
          2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม
          กรณี บริษัท P ซึ่งเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศมาเลเซียและไม่มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์ รวมทั้งอะไหล่ของรถยนต์ยี่ห้อ O และเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า O อนุญาตให้ได้สิทธิเป็นผู้จัดจำหน่ายรถยนต์ และอะไหล่ของรถยนต์ภายใต้เครื่องหมายการค้า บริษัท O แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทยแก่บริษัท พ. ตามข้อ 1 เข้าลักษณะเป็นการให้บริการในต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร บริษัท พ. ผู้จ่ายเงินค่าตอบแทนการให้บริการดังกล่าว จึงมีหน้าที่ต้องนำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อมีการชำระราคาค่าบริการ ตามมาตรา 77/1 (10) มาตรา 77/2 มาตรา 78/1 (3) และมาตรา 83/6 (2) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 77/39350

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020