เลขที่หนังสือ | : กค 0702/8613 | วันที่ | : 17 พฤศจิกายน 2557 | เรื่อง | : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการซื้อขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ | ข้อกฎหมาย | : - | ข้อหารือ |
1. นาย ก. เกิดวันที่ 30 กันยายน 2499 มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2554 นาย ก. ได้ซื้อหน่วยลงทุน RMF ตั้งแต่ปี 2547 (วันที่เริ่มซื้อ 24 ธันวาคม 2547) ดังนี้
ปี 2547 จำนวนเงินลงทุนในกองทุน 190,000 บาท ปี 2548 ,, 190,000 บาท ปี 2549 ,, 190,000 บาท ปี 2550 ,, ระงับการซื้อ ปี 2551 ,, 150,000 บาท ปี 2552 ,, 158,000 บาท ปี 2553 ,, 165,000 บาท ปี 2554 ,, 146,500 บาท ปี 2555 ,, 152,900 บาท 2. เมื่อปี 2553 นาย ก. ได้ขายคืนหน่วยลงทุน RMF ในปี 2547 ถึงปี 2549 ต่อมาในปี 2554 นาย ก. ได้ขายคืนหน่วยลงทุน RMF ปี 2551 ถึงปี 2553 และซื้อหน่วยลงทุน RMF ปี 2554 และขายหน่วยลงทุน RMF ปี 2554 เมื่อปี 2555 โดยนาย ก. ได้นำเงินได้ที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุน RMF ไปใช้สิทธิลดหย่อนในการคำนวณภาษีเพื่อยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแล้ว | แนววินิจฉัย |
1. นาย ก. ได้ซื้อหน่วยลงทุน RMF ครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2547 โดยได้ระงับการซื้อหน่วยลงทุน RMF ในปี 2550 และหลังวันที่ 1 มีนาคม 2551 ได้ซื้อหน่วยลงทุน RMF เพิ่มดังนั้น วันที่ครบกำหนด 5 ปี นับตั้งแต่วันซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรกคือวันที่ 24 ธันวาคม 2552ต่อมาเมื่อปี 2553 นาย ก. ได้ขายคืนหน่วยลงทุน RMF ในปีที่ซื้อมาก่อนวันที่ 1 มีนาคม 2551 คือขายหน่วยลงทุน RMF ที่ซื้อมาในปี 2547 ปี 2548 และปี 2549 โดยขณะที่ขายหน่วยลงทุน RMF ดังกล่าว นาย ก. ได้ถือหน่วยลงทุน RMF ดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี นับแต่วันซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรก เงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุน RMF ดังกล่าวและเงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่ได้รับเนื่องจากการขายหน่วยลงทุน RMF ดังกล่าว อยู่ในหลักเกณฑ์ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หากการซื้อและขายหน่วยลงทุนดังกล่าว เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขตาม ข้อ 2 (55) และ (65) ของกฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ฯ ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 90) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพและการถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ
2. กรณีนาย ก. ได้ซื้อหน่วยลงทุน RMF ในปี 2551 และปี 2552 ที่ซื้อมาต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2547 การนับระยะเวลาการถือหน่วยลงทุน RMFในปี 2551 และปี 2552 ที่เหลืออยู่ให้นับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรก (ปี 2547) ทั้งนี้ ตามข้อ 2 (2) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 171)ฯ ลงวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2551 จึงถือว่า นาย ก. ได้ถือหน่วยลงทุนดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี นับแต่วันซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรก หากนาย ก. อายุยังไม่ครบ 55 ปีบริบูรณ์ ย่อมไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุน RMF ในปีที่ซื้อแต่อย่างใด 3. กรณีนาย ก. ได้ขายคืนหน่วยลงทุน RMF ของปี 2547 ถึงปี 2549 เมื่อปี 2553 และในปีเดียวกันได้ซื้อหน่วยลงทุน RMF ของปี 2553 ใหม่ ต่อมาเมื่อปี 2554 ได้ขายคืนหน่วยลงทุน RMFของปี 2551 ถึงปี 2553 และในปีเดียวกันได้ซื้อหน่วยลงทุน RMF ของปี 2554 และขายคืนหน่วยลงทุน RMF ของปี 2554 เมื่อปี 2555 กรณีดังกล่าวนาย ก. ได้ถือหน่วยลงทุน RMFของปี 2553 และปี 2554 ไว้น้อยกว่า 5 ปี นับตั้งแต่วันซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรก (ปี 2553) แม้ว่าขณะที่ไถ่ถอนหน่วยลงทุนนั้นนาย ก. จะมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ ดังนั้น เงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุน RMF ของปี 2553 และปี 2554 ดังกล่าว จึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทั้งนี้ตามข้อ 2 (55) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509)ฯ ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 171 )ฯ ลงวันที่24 ธันวาคม พ.ศ. 2551 สำหรับเงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่นาย ก. ได้รับจากการขายหน่วยลงทุน RMF ของปี 2553 และปี 2554 เมื่อนาย ก. ได้ถือหน่วยลงทุน RMF ของปี 2553 และปี 2554 ไว้น้อยกว่า 5 ปี นับตั้งแต่วันซื้อหน่วยลงทุนครังแรก (ปี 2553) และการซื้อและขายหน่วยลงทุนดังกล่าวไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามข้อ 2 (55) และ (65) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509)ฯ ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 170)ฯ ลงวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ดังนั้น เงินหรือผลประโยชน์ใดๆที่นาย ก. ได้รับจากการขายหน่วยลงทุน RMF ของปี 2553 และปี 2554 ดังกล่าว จึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา | เลขตู้ | : 77/39396 |