เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: 0702/78
วันที่: 7 มกราคม 2557
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการออกใบลดหนี้สำหรับการคืนเงินประกันและการจ่ายค่าที่ปรึกษาทางกฎหมายไปต่างประเทศ
ข้อกฎหมาย : มาตรา 76 ทวิ มาตรา 82/10 มาตรา 86/10 มาตรา 83/6(1) และมาตรา 85/3 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ           1. กรณีการออกใบลดหนี้สำหรับการคืนเงินประกัน (Deposit) บริษัท บ. เป็นผู้ประกอบกิจการให้บริการข้อมูลข่าวสารแบบเรียลไทม์ในประเทศไทย ซึ่งผู้รับบริการต้องชำระค่าบริการให้แก่บริษัท บ. หากผู้รับบริการต้องการยกเลิกการใช้บริการ ผู้รับบริการต้องแจ้งบริษัท บ. ล่วงหน้า 3 เดือน และบริษัท บ. ได้เรียกเก็บเงินประกันหรือเงินมัดจำจำนวนหนึ่งเพื่อเป็นประกันว่า ผู้รับบริการจะปฏิบัติตามสัญญาการให้บริการทุกประการ กรณีที่ผู้รับบริการได้ยกเลิกการใช้บริการและไม่มีการผิดสัญญาแต่อย่างใด บริษัท บ. จะคืนเงินประกันหรือเงินมัดจำให้กับผู้รับบริการ ซึ่งบริษัท บ. ได้รับเงินประกันหรือเงินมัดจำ ดังนี้
               1.1 ได้รับเงินมัดจำหรือเงินประกันจากผู้รับบริการและได้ออกใบเสร็จรับเงินในช่วงปี พ.ศ. 2533 ถึงปี พ.ศ. 2534 ซึ่งยังไม่มีการใช้ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม
               1.2 ได้รับเงินมัดจำหรือเงินประกันจากผู้รับบริการและได้ออกใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี ในช่วงปี พ.ศ. 2541 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2542 โดยใช้อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 10.0
          บริษัท บ. ขอหารือว่า ในการคืนเงินประกันหรือเงินมัดจำให้กับผู้รับบริการตาม 1.1 และ 1.2 ในปัจจุบัน บริษัท บ. จะต้องจัดทำใบลดหนี้อย่างไร
          2. กรณีการจ่ายค่าที่ปรึกษาทางกฎหมายไปต่างประเทศให้แก่ ร. ซึ่งเป็นนิติบุคคลในเขตบริหารพิเศษฮ่องกง-แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ให้บริการปรึกษากฎหมายในประเทศไทยโดยการส่งพนักงานเข้ามาเป็นระยะเวลา 1 สัปดาห์ โดยบริษัท บ. มีวิธีการจ่ายค่าบริการ ดังนี้
               2.1 บริษัท บ. ให้บริษัท อ. ซึ่งเป็นนิติบุคคลในเขตบริหารพิเศษฮ่องกงฯ และเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท บ. สำรองจ่ายแทนบริษัท บ. ไปก่อน แล้วบริษัท อ. ได้ส่งใบแจ้งหนี้มาเรียกเก็บเงินจากบริษัท บ. ในจำนวนเดียวกันในภายหลัง โดยระบุในใบแจ้งหนี้ว่า "Professional Fee" และบริษัท บ. ได้จ่ายค่าบริการดังกล่าวไปยังบริษัท อ. ตามใบแจ้งหนี้ดังกล่าว
               2.2 บริษัท บ. ได้จ่ายค่าบริการให้แก่บริษัท ร. โดยตรง
          บริษัท บ. ขอหารือว่า ในการจ่ายค่าบริการตาม 2.1 และ 2.2 บริษัท บ. ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือไม่
แนววินิจฉัย           1. กรณีตาม 1.1 บริษัท บ. เรียกเก็บเงินประกันหรือเงินมัดจำจากผู้รับบริการในช่วงปี พ.ศ. 2533 ถึงปี พ.ศ. 2534 เพื่อเป็นประกันว่า ผู้รับบริการจะปฏิบัติตามสัญญาการให้บริการ ซึ่งปัจจุบันผู้รับบริการมีการยกเลิกการรับบริการและปฏิบัติตามสัญญาแล้ว บริษัท บ. จึงต้องคืนเงินประกันหรือเงินมัดจำให้กับผู้รับบริการ ซึ่งเงินประกันหรือเงินมัดจำที่เรียกเก็บในช่วงเวลาดังกล่าว ยังไม่มีการใช้ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัท บ. จึงไม่ได้ออกใบกำกับภาษีสำหรับการรับชำระเงินประกันหรือเงินมัดจำดังกล่าว เมื่อบริษัท บ. คืนเงินประกันหรือเงินมัดจำ บริษัท บ. จึงไม่มีสิทธิออกใบลดหนี้ ตามมาตรา 82/10 และมาตรา 86/10 แห่งประมวลรัษฎากร แต่บริษัท บ. มีสิทธิออกใบลดหนี้ทางการค้า ส่วนผู้รับบริการจะออกใบรับเงินให้กับบริษัท บ. เพื่อเป็นหลักฐานการรับเงินก็ได้
          2. กรณีตาม 1.2 บริษัท บ. เรียกเก็บเงินประกันหรือเงินมัดจำจากผู้รับบริการ และได้ออกใบกำกับภาษีสำหรับเงินประกันหรือเงินมัดจำที่ได้รับจากผู้รับบริการ ตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2540 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2542 โดยใช้อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 10.0 ตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 309) พ.ศ. 2540 ซึ่งปัจจุบันผู้รับบริการมีการยกเลิกการรับบริการและปฏิบัติตามสัญญาแล้ว บริษัท บ. จะคืนเงินประกันหรือเงินมัดจำดังกล่าว บริษัท บ. จึงมีสิทธิออกใบลดหนี้ในอัตราร้อยละ 10.0 และบริษัท บ. มีสิทธินำภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบลดหนี้ไปหักออกจากภาษีขายในเดือนที่ออกใบลดหนี้โดยไม่ต้องยื่นใบแนบ ภ.พ.30 เพียงแต่หมายเหตุไว้ในแบบ ภ.พ.30 ว่า "ใบลดหนี้อัตราร้อยละ 10.0" ทั้งนี้ บริษัท บ. จะมีสิทธิออกใบลดหนี้ได้ต้องเป็นไปตามมาตรา 82/10 และมาตรา 86/10 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 82) เรื่อง กำหนดเหตุอื่นตามมาตรา 82/10 (1)(2)(3) และ (4) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2542 และคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.80/2542 เรื่อง แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการออกใบเพิ่มหนี้ตามมาตรา 86/9 และใบลดหนี้ตามมาตรา 86/10 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2542
          3. กรณีตาม 2. บริษัท ร. เป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของเขตบริหารพิเศษฮ่องกงฯ ส่งพนักงานเข้ามาให้บริการปรึกษาทางกฎหมายในประเทศไทยเป็นระยะเวลา 1 สัปดาห์ กรณีดังกล่าวถือได้ว่า บริษัท ร. ประกอบกิจการในประเทศไทยโดยมีลูกจ้างในการประกอบกิจการในประเทศไทย ตามมาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร อย่างไรก็ดี เงินได้ดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นกำไรธุรกิจ ตามข้อ 7 วรรคหนึ่ง แห่งความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งเขตบริหารพิเศษฮ่องกง-แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากร ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ กรณีจึงถือไม่ได้ว่า บริษัท ร. มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทยตามข้อ 5 แห่งความตกลงฯ ดังนั้น เมื่อบริษัท ร. ไม่มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย และมิได้ประกอบกิจการผ่านสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย บริษัท ร. จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจากเงินได้ที่ได้รับดังกล่าว ตามข้อ 7 วรรคหนึ่ง แห่งความตกลงฯ ประกอบกับมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 เมื่อบริษัท บ. จ่ายค่าบริการดังกล่าวให้กับบริษัท อ. ซึ่งได้สำรองจ่ายแทนบริษัท บ. ตามใบแจ้งหนี้ หรือกรณีที่บริษัท บ. จ่ายให้กับบริษัท ร. โดยตรง บริษัท บ. ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้พึงประเมินที่จ่ายและนำส่ง ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร
          กรณีการให้บริการของบริษัท ร. ดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักร ซึ่งได้เข้ามาประกอบกิจการให้บริการในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว และไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นการชั่วคราว ตามมาตรา 85/3 แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อบริษัท บ. จ่ายค่าบริการดังกล่าวให้กับบริษัท อ. หรือจ่ายให้กับบริษัท ร. ผู้ให้บริการโดยตรง บริษัท บ. มีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบ ภ.พ.36 ในอัตราร้อยละ 7.0 ตามมาตรา 83/6(1) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 77/38844

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020