เมนูปิด

กฎกระทรวง

ฉบับที่ 183 (พ.ศ. 2533)

ออกตามความในประมวลรัษฎากร

ว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

 

---------------------------------------------

 

                อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2513 และมาตรา 5 ตรี (2) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 25) พ.ศ. 2525 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

 

                ข้อ 1  ให้ยกเลิก

                      (1) กฎกระทรวง ฉบับที่ 162 (พ.ศ. 2526) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

                      (2) กฎกระทรวง ฉบับที่ 164 (พ.ศ. 2527) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

 

                ข้อ 2  ในกฎกระทรวงนี้

                      “กองทุน” หมายความว่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

                      “บริษัท” หมายความว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร

                      “ค่าจ้าง” หมายความว่า ค่าจ้างตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

                      “ลูกจ้าง” หมายความว่า ลูกจ้างตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

 

                ข้อ 3  เงินที่บริษัทจ่ายสมทบเข้ากองทุนที่จะถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิได้ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

 

                ข้อ 4   เงินที่บริษัทจ่ายสมทบเข้ากองทุนให้ถือเป็นรายจ่ายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่จ่ายเท่ากับเงินที่บริษัทได้จ่ายสมทบตามอัตราที่กำหนดในข้อบังคับของกองทุนหรือตามอัตราที่กำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรีตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ทั้งนี้ ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนภายในสามวันทำการนับแต่วันที่มีการจ่ายค่าจ้าง และต้องจ่ายเข้ากองทุนในรอบระยะเวลาบัญชีเดียวกันกับที่มีการจ่ายค่าจ้าง

 

                ข้อ 5   ในกรณีที่บริษัทมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องในการส่งเงินสะสมหรือเงินสมทบเข้ากองทุนตามอัตราที่กำหนดในข้อบังคับของกองทุน หรือตามอัตราที่กำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรีตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภายในสามวันทำการนับแต่วันที่มีการจ่ายค่าจ้าง เงินที่บริษัทจ่ายสมทบนับแต่รอบระยะเวลาบัญชีนั้นเป็นต้นไปไม่ให้ถือเป็นรายจ่าย แต่ถ้าบริษัทได้แก้ไขการปฏิบัติให้ถูกต้อง และได้จ่ายเงินเพิ่มให้แก่กองทุนในระหว่างเวลาที่ส่งล่าช้าตามอัตราที่กำหนดตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้ว อธิบดีกรมสรรพากร จะอนุมัติให้ถือเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีที่แก้ไขให้ถูกต้องนั้น หรือจะอนุมัติให้ถือเป็นรายจ่ายย้อนหลังไปถึงรอบระยะเวลาบัญชีที่ปฏิบัติไม่ถูกต้องก็ได้

(ดูคำสั่งกรมสรรพากร ท.ป.117/2545)

(ดูคำสั่งกรมสรรพากร ท.ป.130/2546)

 

                ข้อ 6   ในกรณีที่บริษัทได้จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนและถือเป็นรายจ่ายไปแล้วถ้าบริษัทได้เงินกลับคืนมาจากกองทุนด้วยประการใด ๆ เงินที่ได้กลับคืนมานั้นให้ถือเป็นรายได้ของบริษัทในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้กลับคืนมา

 

                ข้อ 7   บริษัทใดได้นำเงินที่จัดสรรหรือสำรองไว้เพื่อจ่ายในกรณีที่ลูกจ้างออกจากงานอยู่ก่อนวันที่กฎกระทรวง ฉบับที่ 162 (พ.ศ. 2526) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ใช้บังคับจ่ายสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 162 (พ.ศ. 2526) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และได้ถือเป็นรายจ่ายตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในข้อ 17 แห่งกฎกระทรวงฉบับที่ 162 (พ.ศ. 2526) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปบางส่วนแล้ว เมื่อบริษัทได้จัดตั้งกองทุนตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้ว ให้นำเงินที่บริษัทจ่ายสมทบเข้ากองทุนถือเป็นรายจ่ายได้ต่อไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในข้อ 17 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 162 (พ.ศ. 2526) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

 

                “ข้อ 8  บริษัทใดจัดสรรหรือสำรองเงินไว้เพื่อใช้จ่ายในกรณีลูกจ้างออกจากงาน และได้นำเงินจ่ายสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อ 3 หรือข้อ 3/2 แห่งกฎกระทรวง (พ.ศ. 2532) ออกตามความในพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2553) ออกตามความในพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 ให้ถือว่าเงินที่บริษัทได้จ่ายสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพดังกล่าวเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิได้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังต่อไปนี้

                      (1) ในกรณีที่เป็นการจ่ายสมทบเข้ากองทุนทั้งหมดในครั้งเดียว ให้ถือเป็นรายจ่ายได้ห้ารอบระยะเวลาบัญชี รอบละเท่า ๆ กันโดยให้เริ่มนับตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่นายทะเบียน

ตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพรับจดทะเบียนกองทุนเป็นต้นไป เว้นแต่กรณีตามข้อ 3/2 แห่งกฎกระทรวง (พ.ศ. 2532) ออกตามความในพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2553) ออกตามความในพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 ให้เริ่มนับตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่นายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้อนุมัติให้นำเงินทุนสำรองเลี้ยงชีพลูกจ้างเข้ากองทุนเป็นต้นไป

                      (2) ในกรณีที่เป็นการจ่ายสมทบเข้ากองทุนไม่หมดในครั้งเดียว ต้องจ่ายสมทบเข้ากองทุนให้หมดภายในสิบครั้งตามรอบระยะเวลาบัญชี โดยแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีต้องจ่ายสมทบอย่างน้อยเท่ากับจำนวนเงินที่บริษัทจัดสรรหรือสำรองไว้หารด้วยจำนวนปีและเงินที่จ่ายสมทบนั้นให้ถือเป็นรายจ่ายได้เท่ากับจำนวนดังกล่าว”

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 274 (พ.ศ. 2553) ใช้บังคับ 24 มิถุนายน 2553 เป็นต้นไป)

                            ถ้าในรอบระยะเวลาบัญชีใดบริษัทจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเกินจำนวนที่ให้ถือเป็นรายจ่ายได้ตามวรรคหนึ่ง ส่วนที่จ่ายเกินนั้นให้ถือเป็นเงินที่จ่ายสมทบในรอบระยะเวลาบัญชีต่อ ๆ ไปได้

                            คำว่า “เงินที่บริษัทจัดสรรหรือสำรองไว” ตาม (2) สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีแรก หมายความว่า เงินที่บริษัทจัดสรรหรือสำรองไว้ทั้งสิ้นที่มีอยู่ในวันที่นายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพรับจดทะเบียนกองทุน และสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่สองเป็นต้นไป หมายความว่า จำนวนเงินที่เหลือจากที่ให้ถือเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีก่อน บวกด้วยเงินผลประโยชน์หักด้วยเงินที่จ่ายในกรณีลูกจ้างออกจากงาน ถ้ามี

                            คำว่า “จำนวนปี” ตาม (2) สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีแรก หมายความว่าสิบปี สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีต่อ ๆ ไป ให้ลดลงรอบระยะเวลาบัญชีละหนึ่งปี ตามลำดับ

                            บริษัทใดมิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อนี้ ให้นำข้อ 5 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

 

                ข้อ 9  กฎกระทรวง ฉบับที่ 162 (พ.ศ. 2526) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 164 (พ.ศ. 2527) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ถูกยกเลิกโดยกฎกระทรวงนี้ ให้ยังคงใช้บังคับต่อไปอีกหนึ่งปี นับแต่วันที่ กฎกระทรวง (พ.ศ. 2532) ออกตามความในพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 ใช้บังคับ

 

                ข้อ 10  กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2532 เป็นต้นไป

 

ให้ไว้ ณ วันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2533

 

ประมวล สภาวสุ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

 

___________________________________________________________________

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง ฉบับที่ 162 (พ.ศ. 2526) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 164 (พ.ศ. 2527) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

 

(ร.จ. เล่ม 107 ตอนที่ 38 วันที่ 8 มีนาคม 2533)

 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-02-2022