เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/9406
วันที่: 25 ตุลาคม 2555
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีจ่ายค่าจัดส่งพนักงาน (Dispatch fee)
ข้อกฎหมาย: มาตรา 76 ทวิ และมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          1. บริษัทฯ ได้ทำข้อตกลงการจัดส่งพนักงาน ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2552 กับ บริษัท A โดย บริษัท A จะส่งพนักงานมาทำงานที่ประเทศไทย ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ มีหน้าที่ในการบริหารจัดการทั่วไป นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 เป็นระยะเวลา 4 ปี
          2. ในระหว่างที่พนักงานเข้ามาทำงานในประเทศไทย พนักงานมีฐานะเป็นลูกจ้างของบริษัทฯ ตามสัญญาจ้างแรงงาน และยังคงมีฐานะเป็นลูกจ้างของ บริษัท A แต่ไม่มีหน้าที่งานหรือกระทำการใดๆ ให้กับ บริษัท A
          3. บริษัทฯ มีหน้าที่จ่ายค่าตอบแทนตามข้อตกลงการจัดส่งพนักงาน ดังนี้
               3.1 บริษัทฯ จ่ายเงินเดือน โบนัส และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทย ให้แก่พนักงานที่มาทำงานในประเทศไทย
               3.2 บริษัทฯ จ่ายเงินค่า Dispatch fee (ค่าจัดส่งพนักงานของ บริษัท A เข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ เพื่อให้ความช่วยเหลือทางด้านการบริหารและการจัดการทั่วไปของบริษัทฯ) ซึ่งประกอบไปด้วยเงินเดือนในประเทศญี่ปุ่น เงินเดือนในประเทศไทย เบี้ยเลี้ยง ประกัน และบำนาญ ให้แก่ บริษัท A โดย บริษัท A ไม่ได้เรียกเก็บค่าบริการใดๆ เพิ่มเติมจากบริษัทฯ
          บริษัทฯ ขอหารือในประเด็นดังต่อไปนี้
          1. เมื่อบริษัทฯ จ่ายค่า Dispatch fee ให้ บริษัท A บริษัทฯ มีหน้าที่ในการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามประมวลรัษฎากรหรือไม่
          2. บริษัทฯ สามารถนำอนุสัญญาภาษีซ้อนมาใช้ได้หรือไม่
          3. บริษัทฯ มีหน้าที่ในการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากรหรือไม่
          4. ค่า Dispatch fee ที่บริษัทฯ จ่ายให้แก่ บริษัท A ถือเป็นเงินได้ของพนักงานหรือไม่
แนววินิจฉัย          1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล
          เนื่องจากข้อตกลงการจัดส่งพนักงานดังกล่าวกำหนดให้ บริษัท A ต้องจัดส่งพนักงานของ บริษัท A เข้ามาทำงานในประเทศไทยเป็นระยะเวลา 4 ปี กรณีจึงเป็นการให้บริการผ่านลูกจ้างหรือพนักงานอื่นเป็นระยะเวลารวมกันเกินกว่าหกเดือนภายในสิบสองเดือนใดๆ และถือได้ว่า บริษัท A มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย ตามข้อ 5 วรรคสี่ แห่งอนุสัญญาฯ และเนื่องจาก Dispatch fee เข้าลักษณะเป็นกำไรจากธุรกิจตามข้อ 7 แห่งอนุสัญญาฯ และ บริษัท A ประกอบธุรกิจโดยผ่านสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย บริษัท A จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทย ตามมาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร โดยคำนวณจากค่าบริการทั้งสิ้นที่บริษัทฯ ต้องจ่ายให้ บริษัท A ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ จ่าย Dispatch fee ให้แก่ บริษัท A บริษัทฯ จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 5.0 ตามข้อ 12 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 โดย บริษัท A มีสิทธินำไปใช้เป็นเครดิตในการชำระภาษีเงินได้ของตนในประเทศไทยได้
          2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม
          การที่ บริษัท A ส่งพนักงานเข้ามาทำงานที่ประเทศไทยตามข้อตกลงการจัดส่งพนักงานเข้าลักษณะเป็นการให้บริการในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ จ่ายค่า Dispatch fee ซึ่งเป็นค่าบริการตามข้อตกลงการจัดส่งพนักงาน ให้แก่ บริษัท A บริษัทฯ จึงมีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 ของค่าบริการ ตามมาตรา 83/6(2) แห่งประมวลรัษฎากร และนำส่งกรมสรรพากรภายใน 7 วัน นับแต่วันสิ้นเดือนที่จ่ายเงินได้ให้แก่ บริษัท A ตามข้อ 4 ของประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ขยายกำหนดเวลาการนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย การนำส่งภาษีเงินได้การนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม และการยื่นรายการ ลงวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2544 และมีสิทธินำภาษีมูลค่าเพิ่มที่ได้นำส่งไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/1(18)(ค) และมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร
          3. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
          ในกรณีที่พนักงานมีฐานะเป็นลูกจ้างของบริษัทฯ พนักงานดังกล่าวมีหน้าที่ต้องนำเงินได้พึงประเมินที่ได้รับจากการจ้างแรงงานดังกล่าว ไม่ว่าจะจ่ายในหรือนอกประเทศไทย มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทย ตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร และ ข้อ 14 แห่งอนุสัญญาฯ โดยบริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้ให้แก่พนักงาน มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร
          สำหรับกรณีที่บริษัทฯ ออกเงินค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่พนักงาน ตามข้อตกลงการจัดส่งพนักงาน โดยพนักงานไม่ต้องรับภาระในการเสียภาษีเงินได้ด้วยตนเองเลยนั้น ให้นำค่าภาษีเงินได้ที่บริษัทฯ ออกแทนให้ ไปรวมกับค่าตอบแทนที่พนักงานได้รับในปีภาษีนั้น แล้วคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 48(1) แห่งประมวลรัษฎากร จนกว่าจะไม่มีค่าภาษีเงินได้ที่บริษัทฯ ต้องออกแทนให้อีก ตามข้อ 2 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 7/2528 เรื่อง การคำนวณเงินค่าภาษีอากรที่นายจ้างหรือผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้เป็นเงินได้พึงประเมินประเภทต่างๆ ตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2528
เลขตู้: 75/38334

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020