เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/9162
วันที่: 12 ตุลาคม 2555
เรื่อง: ภาระภาษีจากการขายที่ดินขององค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency (องค์การฯ ))
ข้อกฎหมาย: มาตรา 39 มาตรา 65 และมาตรา 91/2 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          องค์การฯ ขายที่ดินซึ่งเคยใช้เป็นที่ตั้งสำนักงานฯ เนื้อที่รวม 435 ตารางวา ดังมีข้อเท็จจริงสรุปได้ดังนี้
          1. องค์การฯ เป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศญี่ปุ่น และมีฐานะเป็นหน่วยงานอิสระภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น โดยได้รับงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินการทั้งหมดจากรัฐบาลญี่ปุ่น
          2. องค์การฯ ได้ขายที่ดินเนื้อที่รวม 435 ตารางวาซึ่งได้ถือครองมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2527 โดย องค์การฯ ได้ชำระค่าธรรมเนียมและภาษีไปแล้วสำหรับการโอนกรรมสิทธิ์อาคารและที่ดินดังกล่าว
     กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย จึงหารือว่า
          1. องค์การฯ มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์จากเงินที่ได้รับจากการขายที่ดินดังกล่าว หรือไม่
          2. ผู้จ่ายเงินค่าซื้อที่ดินมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายหรือไม่
แนววินิจฉัย          1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล
          กรณีองค์การฯ ได้เข้ามาดำเนินการในประเทศไทยโดยมิได้มีวัตถุประสงค์เป็นการมุ่งค้าหรือหากำไร เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าการขายที่ดินขององค์การฯ ดังกล่าวเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ของการดำเนินการขององค์การฯ ในประเทศไทยตามข้อตกลงในทางวิชาการระหว่างรัฐบาลญี่ปุ่นและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และได้รับความยินยอมจากรัฐบาลไทย จึงไม่เข้าลักษณะกิจการซึ่งดำเนินการเป็นทางค้าหรือหากำไรโดยรัฐบาลต่างประเทศ องค์การของรัฐบาลต่างประเทศ และไม่อยู่ในความหมายของ "บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล" ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น องค์การฯ จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล และผู้ซื้อจึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 69 ตรี แห่งประมวลรัษฎากรแต่อย่างใด
          2. ภาษีธุรกิจเฉพาะ
          กรณีองค์การฯ ได้ขายอสังหาริมทรัพย์ไปภายหลังห้าปี นับแต่วันได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวจนถึงวันจดทะเบียนการโอนกรรมสิทธิ์ การขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวย่อมไม่เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร จึงไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ทั้งนี้ ตามมาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 4(6) แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541
          3. อากรแสตมป์
          เนื่องจากการขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ดังนั้นใบรับเงินจากการโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว จึงไม่ได้รับยกเว้นอากรแสตมป์ตามลักษณะแห่งตราสาร 28.(ข) แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์แต่อย่างใด และองค์การฯ ผู้ขายอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นผู้รับเงินต้องเป็นผู้ที่ต้องชำระอากรเป็นตัวเงิน ในอัตราทุก 200 บาทหรือเศษของ 200 บาท ปิดอากร 1 บาทตาม ข้อ 1 (1) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 21) เรื่อง กำหนดวิธีการชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์อากรสำหรับตราสาร 28.(ข) แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ลงวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2525 โดยคำนวณจากราคาทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม หรือราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า ตามมาตรา 123 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร และในกรณีที่ตราสารดังกล่าวมิได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์ องค์การฯ มีหน้าที่ต้องเสียอากรตามมาตรา 113 แห่งประมวลรัษฎากร
          4. กรณีองค์การฯ ได้ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่ายและภาษีธุรกิจเฉพาะ โดยไม่มีหน้าที่ต้องเสีย จึงมีสิทธิขอคืนภาษีได้ โดยให้ยื่นคำร้องขอคืนภายในสามปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษีตามที่กฎหมายกำหนดตามมาตรา 27 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 75/38315

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020