เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/8239
วันที่: 18 กันยายน 2556
เรื่อง: ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีเงินบำเหน็จดำรงชีพของพนักงานบำนาญธนาคารออมสิน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ           สมาคมฯ ขอหารือเกี่ยวกับภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีเงินบำเหน็จดำรงชีพของพนักงานบำนาญธนาคารออมสิน สรุปข้อเท็จจริง ดังนี้
          1. วันที่ 1 กันยายน 2547 ธนาคารฯ ได้จ่ายเงินบำเหน็จดำรงชีพในอัตรา 15 เท่าของบำนาญรายเดือนให้แก่พนักงานบำนาญธนาคารฯ ทุกคน (พนักงานบำนาญฯ) และหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้ในอัตรา ร้อยละ 10-20 ของเงินได้ซึ่งพนักงานบำนาญฯ ทุกคนจำนวนกว่า 2,000 คน ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ประจำปี 2547 โดยขอคืนภาษีจากเงินบำเหน็จดำรงชีพที่ได้หักไว้ ณ ที่จ่ายปี 2547 ทั้งหมด ตามข้อ 2(73) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2509 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 258 (พ.ศ. 2549) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ลงวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2549 แต่กรมสรรพากรวินิจฉัยว่า ธนาคารฯ จ่ายบำเหน็จดำรงชีพจำนวน 15 เท่าของบำนาญรายเดือนที่มีอัตราและวิธีการคำนวณแตกต่างจากบำเหน็จดำรงชีพตามกฎหมายบำเหน็จบำนาญข้าราชการและกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พนักงานบำนาญฯ ไม่มีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีตามกฎกระทรวงดังกล่าว จึงสั่งไม่คืนเงินภาษีบำเหน็จดำรงชีพที่หักไว้ ณ ที่จ่ายให้แก่พนักงานบำนาญฯ พนักงานบำนาญฯ ได้อุทธรณ์ภาษีอากรต่อคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร กรณีกรมสรรพากรสั่งไม่คืนเงินภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย
          2. คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ได้มีคำวินิจฉัยไม่คืนเงินภาษีบำเหน็จดำรงชีพให้แก่พนักงานบำนาญฯ พนักงานบำนาญฯ จึงฟ้องศาลภาษีอากรกลาง คดีหมายเลขดำที่ 228,258/2549 คดีหมายเลขแดงที่ 32,33/2550 และศาลภาษีอากรกลางได้มีคำพิพากษา ให้ยกเว้นเงินบำเหน็จดำรงชีพพนักงานบำนาญฯ จำนวน 200,000 บาท พนักงานบำนาญฯ ได้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลาง ต่อศาลฎีกา และศาลฎีกาได้มีคำพิพากษา ที่ 7013-7014/2555 ยืนตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง และกรมสรรพากรได้คืนภาษีบำเหน็จดำรงชีพที่ได้รับยกเว้น 200,000 บาท ให้แก่พนักงานบำนาญฯ ทุกคน ตามคำพิพากษาศาลฎีกา โดยไม่ฟ้องแต่อย่างใด
          3. พนักงานบำนาญฯ บางคนได้รับคืนภาษีบำเหน็จดำรงชีพที่ได้รับยกเว้น 200,000 บาท แล้ว และได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคลลธรรมดา ปีภาษี 2547 ขอคืนภาษีบำเหน็จดำรงชีพ ส่วนที่เกิน 200,000 บาท โดยแยกคำนวณภาษีจากรายได้อื่น ตามมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากรคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ได้มีคำวินิจฉัยว่าพนักงานบำนาญฯ ไม่มีสิทธินำเงินบำเหน็จดำรงชีพส่วนที่เกิน 200,000 บาท ไปแยกคำนวณต่างจากรายได้อื่นตามมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่คืนเงินภาษีบำเหน็จดำรงชีพส่วนที่เกิน 200,000 บาท พนักงานบำนาญฯ ได้ฟ้องศาลภาษีอากรกลาง ขอคืนภาษีบำเหน็จดำรงชีพส่วนที่เกิน 200,000 บาท ศาลภาษีอากรกลางได้ยกฟ้องพนักงานบำนาญฯ
          4. พนักงานบำนาญฯ ได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางต่อศาลฎีกา และศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาที่ 6922/2555 พิพากษากลับให้กรมสรรพากรคืนภาษีส่วนที่พนักงานบำนาญฯ ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้เกินหลังจากที่มีการนำเงินบำเหน็จดำรงชีพส่วนที่เกิน 200,000 บาท มาคำนวณเสียภาษีแยกต่างหากจากเงินได้ประเภทอื่นตามมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร พร้อมดอกเบี้ยจากเงินต้นในอัตราร้อยละหนึ่งต่อเดือน นับตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2548 เป็นต้นไป จนกว่ากรมสรรพากรจะออกหนังสือแจ้งคำสั่งคืนเงิน แต่ทั้งนี้ให้หักเงินภาษีอากรที่พนักงานบำนาญฯ ได้รับคืนไปแล้ว
          5. สมาคมฯ ขอให้กรมสรรพากรพิจารณาคืนภาษีหัก ณ ที่จ่ายของเงินบำเหน็จดำรงชีพส่วนที่เกิน 200,000 บาท ให้แก่พนักงานบำนาญฯ ที่ไม่ได้ฟ้องคดีตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว
แนววินิจฉัย           ขณะนี้ได้ดำเนินการรวบรวมข้อมูลการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับปีภาษี 2547 ของพนักงานบำนาญฯ ที่ไม่ได้ฟ้องคดีและจะได้ทำหนังสือแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อคืนเงินภาษีบำเหน็จดำรงชีพให้แก่พนักงานบำนาญฯ โดยด่วนต่อไป
เลขตู้: 76/38795

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020