เมนูปิด

บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร

หมวด 6 อากรแสตมป์ มาตรา 103_129

            มาตรา 103 ในหมวดนี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น
            “ตราสาร” หมายความว่า เอกสารที่ต้องเสียอากรตามหมวดนี้
            “กระดาษ” หมายความตลอดถึงแผ่นหนังฟอกหรือสิ่งอื่น ๆ ซึ่งใช้เขียนตราสาร
            “แสตมป์” หมายความว่า แสตมป์ปิดทับหรือแสตมป์ดุนบนกระดาษ และแสตมป์ดุนบนกระดาษนี้ ให้หมายความรวมถึง แสตมป์พิมพ์ทับบนกระดาษด้วย ทั้งนี้ ตามที่กำหนดลักษณะโดยกฎกระทรวง
            ( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2494 ใช้บังคับ 24 มิ.ย. 2494 เป็นต้นไป )
            “กระทำ” เมื่อใช้เกี่ยวกับตราสาร หมายความว่า การลงลายมือชื่อตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
            “ปิดแสตมป์” หมายความว่า การปิดแสตมป์ทับกระดาษ หรือการมีแสตมป์ดุนบนกระดาษ
            “ขีดฆ่า” หมายความว่า การกระทำเพื่อมิให้ใช้แสตมป์ได้อีก โดยในกรณีแสตมป์ปิดทับได้ลงลายมือชื่อ หรือลงชื่อห้างร้านบนแสตมป์ หรือขีดเส้นคร่อมฆ่าแสตมป์ที่ปิดทับกระดาษ และลงวัน เดือน ปีที่กระทำสิ่งเหล่านี้ด้วย ในกรณีแสตมป์ดุนได้เขียนบนตราสารหรือยื่นตราสาร ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประทับแสตมป์ดุนให้แสตมป์ดุนปรากฏอยู่ในด้านหน้าของตราสารนั้น
            ( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2483 ใชับังคับ 1 ม.ค. 2484 เป็นต้นไป )
            “ปิดแสตมป์บริบูรณ์” หมายความว่า
            (1) ในกรณีแสตมป์ปิดทับ คือ การได้เสียอากรโดยปิดแสตมป์ทับกระดาษก่อนกระทำหรือในทันทีที่ทำตราสารเป็นราคาไม่น้อยกว่าอากรที่ต้องเสียและได้ขีดฆ่าแสตมป์นั้นแล้ว หรือ
            ( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.153/2559 )
            (2) ในกรณีแสตมป์ดุน คือ การได้เสียอากรโดยใช้กระดาษมีแสตมป์ดุนเป็นราคาไม่น้อยกว่าอากรที่ต้องเสียและขีดฆ่าแล้ว หรือโดยยื่นตราสารให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประทับแสตมป์ดุน และชำระเงินเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าอากรที่ต้องเสียและขีดฆ่าแล้ว หรือ
            (3) ในกรณีชำระเป็นตัวเงิน คือ การได้เสียอากรเป็นตัวเงิน เป็นราคาไม่น้อยกว่าอากรที่ต้องเสียตามบทบัญญัติในหมวดนี้ หรือตามระเบียบซึ่งอธิบดีจะได้กำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี
            การปิดแสตมป์บริบูรณ์ตามที่กำหนดใน (1) และ (2) ดังกล่าวข้างต้นนั้น ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งให้ปฏิบัติตามที่กำหนดใน (3) แทนได้
            ( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 ใช้บังคับ 27 มี.ค. 2496 เป็นต้นไป )
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 21) )
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 22) )
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 29) )
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 33) )
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 37) )
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 61) )
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 62) )
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 63) )
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 64) )
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 66) )
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 68) )
            ( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.153/2559 )
            ( คำสั่งที่ 489/2503 (ผู้รับเงินรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลเสียอากรแสดมป์เป็นตัวเงิน) )
            “ใบรับ” หมายความว่า
            (ก) บันทึก หรือหนังสือใด ๆ ที่เป็นหลักฐานแสดงว่าได้รับ ได้รับฝากหรือได้รับชำระเงินหรือตั๋วเงิน หรือ
            (ข) บันทึก หรือหนังสือใด ๆ ที่เป็นหลักฐานแสดงว่าหนี้หรือสิทธิเรียกร้องได้ชำระหรือปลดให้แล้ว
            บันทึก หรือหนังสือที่กล่าวนั้นจะมีลายมือชื่อของบุคคลใด ๆ หรือไม่ ไม่สำคัญ
            “พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า เจ้าพนักงานซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง
            ( ดูประกาศกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการแต่งตั้งเจ้าพนักงาน (ฉบับที่ 11) )
            ( ดูประกาศกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการแต่งตั้งเจ้าพนักงาน (ฉบับที่ 39) )
            “นายตรวจ” หมายความว่า เจ้าพนักงานซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง
            ( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2482 ใช้บังคับ 6 พ.ย. 2482 เป็นต้นไป )
            ( ดูประกาศกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการแต่งตั้งเจ้าพนักงาน (ฉบับที่ 39) )

            มาตรา 104 ตราสารที่ระบุไว้ในบัญชีท้ายหมวดนี้ ต้องปิดแสตมป์บริบูรณ์ตามอัตราที่กำหนดไว้ในบัญชีนั้น

            มาตรา 105 ในกรณีต่อไปนี้ผู้ขาย ผู้ให้เช่าซื้อ ผู้รับเงิน หรือผู้รับชำระราคาต้องออกใบรับให้แก่ผู้ซื้อ ผู้เช่าซื้อ ผู้จ่ายเงิน หรือผู้ชำระราคาในทันทีทุกคราวที่รับเงินหรือรับชำระราคาไม่ว่าจะมีการเรียกร้องให้ออกใบรับหรือไม่ก็ตาม
            (1) การรับเงินหรือรับชำระราคาจากการขายสินค้าหรือการให้บริการของผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามหมวด 4 และการรับเงินหรือรับชำระราคาจากการกระทำกิจการของผู้ประกอบกิจการที่จดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามหมวด 5 ซึ่งรวมเงินหรือราคาที่ได้รับชำระแต่ละครั้งเกินจำนวนเงินตามที่อธิบดีกำหนด แต่อธิบดีจะกำหนดเกินหนึ่งพันบาทไม่ได้
            (2) การรับเงินหรือรับชำระราคาในกรณีอื่นซึ่งรวมเงินหรือราคาที่ได้รับชำระแต่ละครั้งเกินจำนวนเงินตามที่อธิบดีกำหนด แต่อธิบดีจะกำหนดเกินหนึ่งหมื่นบาทไม่ได้
            ถ้าการรับเงินหรือรับชำระราคาในกรณีเดียวกันมีจำนวนเกินกว่าที่อธิบดีกำหนดตาม (1) หรือ (2) แต่มีเงื่อนไขให้รับเงินหรือรับชำระราคาในภายหลังเป็นหลายงวด ให้ออกใบรับทุกคราวในทันทีที่รับเงินหรือรับชำระราคานั้น
            ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งได้ออกใบกำกับภาษีที่มีข้อความแสดงว่าได้รับเงินหรือรับชำระราคาแล้ว จะถือเอาใบกำกับภาษีนั้นเป็นใบรับที่ต้องออกตามมาตรานี้ก็ได้
            มาตรานี้ไม่ใช้บังคับแก่การจำหน่ายแสตมป์อากร หรือแสตมป์อื่นของรัฐบาลที่ยังมิได้ใช้
            ( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534 ใช้บังคับ 1 ม.ค. 2535 เป็นต้นไป )
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 34) )

            มาตรา 105 ทวิ ในการออกใบรับให้ผู้มีหน้าที่ออกใบรับตามมาตรา 105 (1) หรือผู้มีหน้าที่ออกใบรับตามมาตรา 105 (2) เฉพาะผู้ซึ่งกระทำเป็นปกติธุระทำต้นขั้วหรือสำเนาใบรับ และเก็บต้นขั้วหรือสำเนาใบรับดังกล่าวไว้เป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปีนับแต่วันที่ออกใบรับ
            ( พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2521 ใช้บังคับ 31 ธ.ค.2521 เป็นต้นไป )
            ถ้าปรากฏว่าการรับเงินหรือรับชำระราคาที่ต้องทำต้นขั้วหรือสำเนาใบรับตามวรรคหนึ่ง ไม่มีต้นขั้วหรือสำเนาใบรับ ให้สันนิษฐานว่าไม่ได้ออกใบรับ
            ใบรับและต้นขั้ว หรือสำเนาใบรับตามวรรคหนึ่ง อย่างน้อยต้องมีตัวเลขไทยหรืออารบิค และอักษรไทยให้ปรากฏข้อความต่อไปนี้
            (1) เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ออกใบรับ
            ( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534 ใช้บังคับ 1 ม.ค. 2535 เป็นต้นไป )
            (2) ชื่อหรือยี่ห้อของผู้ออกใบรับ
            (3) เลขลำดับของเล่มและของใบรับ
            (4) วัน เดือน ปี ที่ออกใบรับ
            (5) จำนวนเงินที่รับ
            (6) ชนิด ชื่อ จำนวนเงินและราคาสินค้าในกรณีการขายหรือให้เช่าซื้อสินค้าเฉพาะชนิดที่มีราคาตั้งแต่หนึ่งร้อยบาทขึ้นไป
            ในกรณีผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือผู้ขายส่งขายสินค้าให้แก่ผู้ซึ่งทำการค้าสินค้าประเภทเดียวกับสินค้าที่ขายนั้นให้แสดงชื่อหรือยี่ห้อและที่อยู่ของผู้ซื้อไว้ในใบรับที่ต้องออกตามวรรคหนึ่งด้วยทุกคราวที่ได้รับชำระเงินหรือชำระราคา ข้อความในใบรับเช่นว่านี้ ถ้าทำเป็นภาษาต่างประเทศให้มีภาษาไทยกำกับไว้ด้วย
            ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่กิจการตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
            ( ประกาศของคณะปฏิวัติ (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2520 ใช้บังคับ 9 พ.ย. 2520 เป็นต้นไป )
            ( ดูกฎกระทรวง ฉบับที่ 141 (พ.ศ. 2521) )
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 23) )
            ( ดูคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.51/2537 )
            ( ดูคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.121/2545 )

            มาตรา 105 ตรี ในกรณีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือผู้ประกอบกิจการที่จดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ รับเงินหรือรับชำระราคามีจำนวนครั้งหนึ่ง ๆ ไม่ถึงจำนวนที่อธิบดีกำหนดตามมาตรา 105 (1) ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือผู้ประกอบกิจการที่จดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ รวมเงินที่รับมาเฉพาะในกรณีดังกล่าวทุกครั้งและเมื่อสิ้นวันหนึ่ง ๆ ได้จำนวนเท่าใด ให้ทำบันทึกจำนวนเงินนั้นรวมขึ้นเป็นวัน ๆ ตามแบบที่อธิบดีกำหนดและเก็บไว้เป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปีนับแต่วันทำบันทึก
            ( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534 ใช้บังคับ 1 ม.ค. 2535 เป็นต้นไป )

            มาตรา 105 จัตวา ในการขายสินค้าให้ผู้ประกอบการตามหมวด 4 ที่เป็นผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก หรือผู้ขายส่ง เมื่อมีการขายสินค้าให้ออกใบส่งของให้แก่ผู้ซื้อและให้ทำสำเนาเก็บไว้เป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปี นับแต่วันที่ออกใบส่งของ
            ใบส่งของและสำเนาตามความในวรรคก่อน อย่างน้อยต้องมีตัวเลขและอักษรไทยให้ปรากฏข้อความต่อไปนี้
            (1) ชื่อ หรือยี่ห้อและเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ขาย
            (2) ชื่อ หรือยี่ห้อของผู้ซื้อ
            (3) เลขลำดับของเล่ม (ถ้ามี) และของใบส่งของ
            (4) วัน เดือน ปี ที่ออกใบส่งของ
            (5) ชนิด ชื่อ จำนวน และราคาของสินค้าที่ขาย
            ตัวเลขไทยนั้นจะใช้เลขอารบิคแทนก็ได้
            ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามหมวด 4 ซึ่งได้ออกใบกำกับภาษีที่มีข้อความแสดงว่าได้ส่งสินค้าให้แก่ผู้ซื้อแล้ว จะถือเอาใบกำกับภาษีนั้นเป็นใบส่งของที่ต้องออกตามมาตรานี้ก็ได้
            ( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534 ใช้บังคับ 1 ม.ค. 2535 เป็นต้นไป )
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 23) )
            ( ดูคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.121/2545 )

            มาตรา 106 ใบรับที่ต้องปิดแสตมป์บริบูรณ์ แม้ไม่อยู่ในบังคับให้จำต้องออกใบรับตามความในมาตรา 105 เมื่อผู้มีส่วนได้เสียเรียกร้อง ผู้มีหน้าที่ออกใบรับต้องออกให้ในทันทีที่ถูกเรียกร้อง
            ( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 ใช้บังคับ 27 มี.ค. 2496 เป็นต้นไป )

            มาตรา 107 เว้นแต่ที่บัญญัติในมาตรา 111 ถ้าไม่มีข้อตกลงเป็นอย่างอื่นผู้มีหน้าที่เสียอากรและผู้มีหน้าที่ขีดฆ่าให้เป็นไปตามบัญชีท้ายหมวดนี้
            ถ้าผู้มีหน้าที่ขีดฆ่าเขียนหนังสือไม่เป็น จะให้ผู้อื่นเขียนวันเดือนปีแทนก็ได้
            ถ้าผู้มีหน้าที่ขีดฆ่าไม่ยอมขีดฆ่า หรือไม่มีตัวอยู่ที่จะทำการขีดฆ่าได้ ให้ผู้ทรงตราสารหรือผู้ถือเอาประโยชน์ขีดฆ่าแทนได้

            มาตรา 108 ถ้าทำตราสารหลายลักษณะตามที่ระบุในบัญชีท้ายหมวดนี้บนกระดาษแผ่นเดียวกัน หรือเป็นฉบับเดียวกัน เช่น เช่าและกู้ยืมรวมกันไว้ หรือทำตราสารลักษณะเดียวกันหลายเรื่องบนกระดาษแผ่นเดียวกัน หรือเป็นฉบับเดียวกัน เช่น ขายของสิ่งหนึ่งให้แก่คนหนึ่ง และขายอีกสิ่งหนึ่งให้แก่อีกคนหนึ่ง ซึ่งตามสภาพควรจะแยกกัน ต้องปิดแสตมป์บริบูรณ์ให้ครบทุกลักษณะหรือทุกเรื่อง โดยปิดแสตมป์บริบูรณ์เป็นรายตราสารแยกไว้ ให้ปรากฏว่าตราสารใดอยู่ที่ใด และแสตมป์ดวงใดสำหรับตราสารลักษณะหรือเรื่องใด

            มาตรา 109 สัญญาใดเป็นตราสาร ซึ่งเกิดขึ้นโดยมีหนังสือโต้ตอบกันและมิได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์ ถ้าพิสูจน์ได้ว่า หนังสือฉบับหนึ่งฉบับใดที่จำเป็นในการทำให้เกิดสัญญานั้นขึ้น ได้ปิดแสตมป์ครบจำนวนอากรและขีดฆ่าแสตมป์แล้ว ให้ถือว่าสัญญานั้นได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์แล้ว


            มาตรา 110 คู่ฉบับหรือคู่ฉีกแห่งตราสารใด แม้จะได้ปิดแสตมป์สำหรับคู่ฉบับหรือคู่ฉีกนั้นตามอัตราในบัญชีท้ายหมวดนี้แล้วก็ดี ถ้ามิได้นำตราสารต้นฉบับหรือพยานหลักฐานมาแสดงให้เป็นที่พอใจว่าตราสารต้นฉบับนั้นได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์แล้ว มิให้ถือว่าคู่ฉบับหรือคู่ฉีกนั้นได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์ จนกว่าจะได้เสียอากรโดยปิดแสตมป์ครบจำนวนอากรสำหรับตราสารต้นฉบับและขีดฆ่าแล้ว


            มาตรา 111 ถ้าตราสารที่ต้องเสียอากรได้ทำขึ้นนอกสยาม ให้เป็นหน้าที่ของผู้ทรงตราสารคนแรกในสยามต้องเสียอากรโดยปิดแสตมป์ครบจำนวนอากรและขีดฆ่าภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับตราสารนั้น ถ้าไม่ปฏิบัติตามนี้ให้ถือว่าเป็นตราสารที่มิได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์
            ถ้ามิได้ปฏิบัติตามความในวรรคก่อน ผู้ทรงคนใดคนหนึ่งแห่งตราสารต้องเสียอากรโดยปิดแสตมป์ครบจำนวนอากรและขีดฆ่าก่อน แล้วจึงจะยื่นตราสารเพื่อให้จ่ายเงิน รับรอง สลักหลัง โอน หรือถือเอาประโยชน์ได้
            ผู้ทรงตราสารคนใดได้ตราสารตามความในมาตรานี้มาไว้ในครอบครองก่อนพ้นกำหนดเวลาที่กล่าวในวรรค 1 ผู้ทรงคนนั้นจะเสียอากรโดยปิดแสตมป์ครบจำนวนอากรและขีดฆ่าก็ได้ โดยมีสิทธิไล่เบี้ยจากผู้ทรงคนก่อน ๆ

            มาตรา 112 ถ้าตั๋วเงินที่ยื่นให้ชำระเงินมิได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์ ผู้รับตั๋วจะเสียอากรโดยปิดแสตมป์ครบจำนวนอากรและขีดฆ่า และใช้สิทธิไล่เบี้ยจากผู้มีหน้าที่เสียอากร หรือหักค่าอากรจากเงินที่จะชำระก็ได้

            มาตรา 113 ตราสารใดมิได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์ ผู้มีหน้าที่เสียอากร หรือผู้ทรงตราสารหรือผู้ถือเอาประโยชน์ชอบที่จะยื่นตราสารนั้นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อขอเสียอากรได้ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับตราสารแล้ว ให้อนุมัติให้เสียอากรภายในบังคับแห่งบทบัญญัติต่อไปนี้
            1. ถ้าตราสารที่มิได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์นั้นเป็นตราสารที่กระทำขึ้นในประเทศไทย เมื่อผู้ขอเสียอากรได้ยื่นตราสารนั้นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อเสียอากรภายใน 15 วัน นับแต่วันต้องปิดแสตมป์บริบูรณ์ ก็ให้อนุมัติให้เสียเพียงอากรตามอัตราในบัญชีท้ายหมวดนี้
            ( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2489 ใช้บังคับ 31 ธ.ค. 2489 เป็นต้นไป )
            2. ถ้ากรณีเป็นอย่างอื่น ก็ให้อนุมัติให้เสียอากร และให้เรียกเก็บเงินเพิ่มอากรดังต่อไปนี้อีกด้วย
                  (ก) ถ้าปรากฏต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่า ตราสารมิได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์เป็นเวลาไม่พ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันต้องปิดแสตมป์บริบูรณ์ ให้เรียกเก็บเงินเพิ่มอากรเป็น 2 เท่าจำนวนอากร หรือเป็นเงิน 4 บาท แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า
                  (ข) ถ้าปรากฏต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่า ตราสารมิได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์เป็นเวลาพ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันต้องปิดแสตมป์บริบูรณ์แล้ว ให้เรียกเก็บเงินเพิ่มอากรเป็น 5 เท่าจำนวนอากร หรือเป็นเงิน 10 บาท แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า
            ( ดูกฎกระทรวง ฉบับที่ 129 (พ.ศ. 2512) )
            ( ดูคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.84/2542 )

            มาตรา 114 โดยการตรวจสอบตามความในมาตรา 123 ก็ดี โดยการกล่าวหาแจ้งความของบุคคลใดไม่ว่าจะเป็นเจ้าพนักงานรัฐบาลหรือมิใช่ก็ดี ถ้าปรากฏว่า
            (1) มิได้มีการออกใบรับในกรณีที่ต้องออกใบรับตามความในมาตรา 105 หรือมาตรา 106 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเรียกเก็บเงินอากรจนครบ และเงินเพิ่มอากรอีกเป็นจำนวน 6 เท่าของเงินอากร หรือเป็นเงิน 25 บาท แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า
            (2) ตราสารมิได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์โดย
                  (ก) มิได้ปิดแสตมป์เลย ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเรียกเก็บเงินอากรจนครบ และเงินเพิ่มอากรอีกเป็นจำนวน 6 เท่าของเงินอากรที่ต้องเสีย หรือเป็นเงิน 25 บาท แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า
                  (ข) ปิดแสตมป์น้อยกว่าอากรที่ต้องเสีย ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเรียกเก็บเงินอากรจนครบ และเงินเพิ่มอีกเป็นจำนวน 6 เท่าของเงินอากรที่ขาด หรือเป็นเงิน 25 บาท แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า
                  (ค) ในกรณีอื่น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเรียกเก็บเงินเพิ่มอากร เป็นจำนวน 1 เท่าของเงินอากรที่ต้องเสีย หรือเป็นเงิน 25 บาท แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า
                  ( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2497 ใช้บังคับ 13 ต.ค. 2497 เป็นต้นไป )
                  ( วรรคท้ายมาตรานี้ยกเลิกโดย พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2502 ใช้บังคับ 5 พ.ย. 2502 เป็นต้นไป )
            ( ดูกฎกระทรวง ฉบับที่ 129 (พ.ศ. 2512) )
            ( ดูคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.84/2542 )
            วรรคท้าย (ยกเลิก)

            มาตรา 115 เงินอากรและเงินเพิ่มอากรที่กล่าวในมาตรา 113 และมาตรา 114 นั้น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่จัดการเรียกเก็บจากผู้มีหน้าที่เสียอากรก่อน ถ้าไม่ได้เงินจากผู้มีหน้าที่เสียอากร จึงให้จัดการเรียกเก็บจากผู้ทรงตราสารหรือผู้ถือเอาประโยชน์แห่งตราสารนั้น
            ผู้ถูกเรียกเก็บเงินอากรและเงินเพิ่มอากรตามความในวรรคก่อนจะอุทธรณ์คำสั่งก็ได้ ทั้งนี้ ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการอุทธรณ์ตามส่วน 2 หมวด 2 ลักษณะ 2 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
            ( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2502 ใช้บังคับ 5 พ.ย. 2502 เป็นต้นไป )

            มาตรา 116 วิธีเสียเงินอากรและเงินเพิ่มอากรดังบัญญัติไว้ในมาตรา 113 หรือมาตรา 114 ให้เสียโดยวิธีชำระเป็นตัวเงินต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อได้รับชำระเงินแล้วให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกใบรับเงินและสลักหลังตราสาร หรือทำหลักฐานขึ้นในกรณีไม่มีตราสาร ทั้งนี้ เพื่อแสดงการรับเงินอากรและเงินเพิ่มอากรถ้ามี ตลอดทั้งชื่อและตำบลที่อยู่ของผู้เสียเงินแล้วลงชื่อพนักงานเจ้าหน้าที่และวันเดือนปีไว้เป็นสำคัญ
            ( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 ใช้บังคับ 27 มี.ค. 2496 เป็นต้นไป )

            มาตรา 117 ตราสารหรือหลักฐานตามความในมาตรา 116 ที่มีผู้เสียอากร หรือเสียอากรและเงินเพิ่มอากรถ้ามี ตามความในมาตรา 113 หรือมาตรา 114 แล้ว ให้ถือว่าเป็นตราสารที่ปิดแสตมป์บริบูรณ์ ส่วนเงินเพิ่มอากรที่เรียกเก็บให้ถือเป็นเงินอากร
            ( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 ใช้บังคับ 27 มี.ค. 2496 เป็นต้นไป )

            มาตรา 118 ตราสารใดไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์ จะใช้ต้นฉบับ คู่ฉบับ คู่ฉีก หรือสำเนาตราสารนั้นเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้ จนกว่าจะได้เสียอากรโดยปิดแสตมป์ครบจำนวนตามอัตราในบัญชีท้ายหมวดนี้ และขีดฆ่าแล้ว แต่ทั้งนี้ ไม่เป็นการเสื่อมสิทธิที่จะเรียกเงินเพิ่มอากรตามมาตรา 113 และมาตรา 114

            มาตรา 119 ตราสารซึ่งเจ้าพนักงานรัฐบาลหรือเทศบาลต้องลงนามหรือรับรู้ก็ดี ตราสารซึ่งต้องทำต่อหน้าเจ้าพนักงานรัฐบาลหรือเทศบาลก็ดี ตราสารซึ่งต้องให้เจ้าพนักงานรัฐบาลหรือเทศบาลลงบันทึกก็ดี ห้ามมิให้เจ้าพนักงานลงนามรับรู้ ยอมให้ทำหรือบันทึกไว้จนกว่าจะได้เสียอากรโดยปิดแสตมป์ครบจำนวนตามอัตราในบัญชีท้ายหมวดนี้ และขีดฆ่าแล้ว แต่ทั้งนี้ ไม่เป็นการเสื่อมสิทธิที่จะเรียกเงินเพิ่มอากรตามมาตรา 113 และมาตรา 114

            มาตรา 120 ผู้ใดได้เสียอากรหรือค่าเพิ่มอากรโดยมิใช่เป็นผู้มีหน้าที่เสีย ผู้นั้นมีสิทธิไล่เบี้ยเอาค่าอากรหรือค่าเพิ่มอากรซึ่งตนได้เสียไปจากบุคคลผู้มีหน้าที่เสียได้

            มาตรา 121 ถ้าฝ่ายที่ต้องเสียอากรเป็นรัฐบาล เจ้าพนักงานผู้กระทำงานของรัฐบาลโดยหน้าที่ บุคคลผู้กระทำการในนามของรัฐบาล องค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น สภากาชาดไทย วัดวาอาราม และองค์การศาสนาใด ๆ ในราชอาณาจักรซึ่งเป็นนิติบุคคล อากรเป็นอันไม่ต้องเสีย แต่ข้อยกเว้นนี้มิให้ใช้แก่องค์การของรัฐบาลที่ใช้ทุนหรือทุนหมุนเวียนเพื่อประกอบการพาณิชย์ หรือการพาณิชย์ซึ่งองค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นเป็นผู้จัดทำ
            ( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2508 ใช้บังคับ 1 ม.ค. 2509 เป็นต้นไป)

            มาตรา 122 ผู้ใดได้เสียค่าอากรหรือค่าเพิ่มอากรเกินไปไม่น้อยกว่า 2 บาท สำหรับตราสารลักษณะเดียวหรือเรื่องเดียว ผู้นั้นชอบที่จะทำคำร้องเป็นหนังสือยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่ออธิบดีเห็นว่าเกินไปจริงก็ให้คืนค่าอากรหรือค่าเพิ่มอากรที่เกินไปนั้นแก่ผู้เสียอากรได้ แต่คำร้องที่กล่าวนั้นต้องยื่นภายในเวลา 6 เดือน นับแต่วันเสียอากร หรือค่าเพิ่มอากรและต้องประกอบด้วยคำชี้แจงหรือเอกสารซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่หรืออธิบดีเห็นควรให้ยื่นสนับสนุนคำร้อง

            มาตรา 123 เมื่อมีเหตุสมควรพนักงานเจ้าหน้าที่หรือนายตรวจมีอำนาจเข้าไปในสถานการค้า หรือสถานที่ที่เกี่ยวข้องระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก หรือในเวลาที่เปิดทำการของสถานการค้า หรือสถานที่นั้นเพื่อทำการตรวจสอบตราสารว่า ได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์ตามความในมาตรา 104 หรือไม่ หรือทำการตรวจสอบเพื่อทราบว่าได้ออกใบรับตามความในมาตรา 105 มาตรา 106 หรือทำ หรือเก็บต้นขั้ว สำเนาใบรับ ใบรับตามความในมาตรา 105 ทวิ หรือทำ หรือเก็บบันทึกตามความในมาตรา 105 ตรี หรือไม่ กับมีอำนาจเรียกและยึดตราสาร หรือเอกสาร และออกหมายเรียกตัวผู้มีหน้าที่เสียอากร ผู้ทรงตราสาร หรือผู้ถือเอาประโยชน์แห่งตราสาร และพยานหลักฐานอื่นอันควรแก่เรื่องมาไต่สวนได้
            ( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 ใช้บังคับ 27 มี.ค. 2496 เป็นต้นไป )

            มาตรา 123 ทวิ เพื่อให้การเสียอากรในหมวดนี้เป็นไปโดยรัดกุม ให้อธิบดีโดยอนุมัติรัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดวิธีการให้ผู้มีหน้าที่เสียอากรปฏิบัติ การกำหนดวิธีการเช่นว่านี้เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
            เพื่อความสะดวกของผู้มีหน้าที่เสียอากร การปฏิบัติในการขีดฆ่าตามความในมาตรา 103 หรือการปฏิบัติตามความในมาตรา 105 มาตรา 105 ทวิ มาตรา 105 ตรี และมาตรา 105 จัตวา นั้น อธิบดีโดยอนุมัติรัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดวิธีการให้ปฏิบัติเป็นอย่างอื่น หรือจะยกเว้นไม่ให้ต้องปฏิบัติก็ได้
            ( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2497 ใช้บังคับ 13 ธ.ค.2497 เป็นต้นไป)
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 21) )
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 22) )
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 23) )
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 29) )
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 32) )
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 33) )
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 37) )
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 61) )
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 62) )
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 63) )
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 64) )
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 65) )
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 66) )
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 67) )
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 68) )
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 69) )
            ( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.117/2545 )

            มาตรา 123 ตรี ถ้าพนักงานเจ้าหน้าที่มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำนวนเงินที่แสดงไว้ในใบรับตามลักษณะแห่งตราสาร 28. (ข) และ (ค) แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ต่ำไป พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจกำหนดจำนวนเงินที่แสดงไว้ในใบรับนั้นตามจำนวนเงินที่สมควรได้รับตามปกติ และให้ผู้ออกใบรับมีหน้าที่เสียค่าอากรจากจำนวนเงินที่กำหนดนั้น
            ผู้ออกใบรับซึ่งถูกกำหนดจำนวนเงินตามวรรคหนึ่งจะอุทธรณ์การกำหนดจำนวนเงินนั้นก็ได้ ทั้งนี้ ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการอุทธรณ์ตามส่วน 2 หมวด 2 ลักษณะ 2 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
            ( พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2521 ใช้บังคับ 31 ธ.ค. 2521 เป็นต้นไป )
            ( ดูคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.100/2543 )

            มาตรา 124 ผู้ใดมีหน้าที่เสียอากร หรือขีดฆ่าแสตมป์เพิกเฉยหรือปฏิเสธไม่เสียอากร หรือไม่ขีดฆ่าแสตมป์ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท
            ( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2502 ใช้บังคับ 5 พ.ย. 2502 เป็นต้นไป )

            มาตรา 125 ผู้ใดออกใบรับไม่ถึง 10 บาท สำหรับมูลค่าตั้งแต่ 10 บาทขึ้นไป หรือแบ่งแยกมูลค่าที่ได้ชำระนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียอากรก็ดี จงใจกระทำ หรือทำตราสารให้ผิดความจริง เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งหมวดนี้ก็ดี มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองร้อยบาท
            ( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 ใช้บังคับ 27 มี.ค. 2496 เป็นต้นไป )

            มาตรา 126 ผู้ใดจงใจลงวันเดือนปีที่ขีดฆ่าแสตมป์เป็นเท็จ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ
            ( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2502 ใช้บังคับ 5 พ.ย. 2502 เป็นต้นไป )

            มาตรา 127 ผู้ใดไม่ทำหรือไม่เก็บบันทึกตามมาตรา 105 ตรี หรือไม่ออกใบรับให้ในทันทีที่ถูกเรียกร้องตามมาตรา 106 หรือออกใบรับซึ่งไม่ปิดแสตมป์ตามจำนวนอากรที่ต้องเสีย ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท
            ( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2502 ใช้บังคับ 5 พ.ย. 2502 เป็นต้นไป )

            มาตรา 127 ทวิ ผู้ใดโดยตนเองหรือโดยสมคบกับผู้อื่นทำให้ไม่มีการออกใบรับ หรือไม่ออกใบรับให้ในทันทีที่รับเงินหรือรับชำระราคาตามมาตรา 105 หรือออกใบรับเป็นจำนวนเงินน้อยกว่าที่รับเงินหรือรับชำระราคาจริง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือทั้งปรับทั้งจำ
            ( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2502 ใช้บังคับ 5 พ.ย. 2502 เป็นต้นไป )

            มาตรา 128 ผู้ใดโดยรู้อยู่แล้วไม่อำนวยความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือนายตรวจ ในการปฏิบัติตามหน้าที่ หรือโดยรู้อยู่แล้ว หรือจงใจไม่ปฏิบัติตามคำเรียก หรือไม่ยอมให้ยึดตราสารหรือเอกสาร หรือไม่ปฏิบัติตามหมายของพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือนายตรวจ ตามความในมาตรา 123 หรือไม่ยอมตอบคำถามเมื่อซักถามหรือฝ่าฝืนบทบัญญัติ มาตรา 105 ทวิ มาตรา 105 จัตวา หรือมาตรา 123 ทวิ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท
            ( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2497 ใช้บังคับ 13 ธ.ค. 2497 เป็นต้นไป )

            มาตรา 129 ผู้ใดโดยเจตนาทุจริตมีแสตมป์ซึ่งรู้อยู่ว่า เป็นแสตมป์ปลอมก็ดี หรือค้าแสตมป์ที่ใช้แล้ว หรือที่มีกฎกระทรวงประกาศให้เลิกใช้เสียแล้วก็ดี ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือจำคุกไม่เกินสามปี หรือทั้งปรับทั้งจำ
            ( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2489 ใช้บังคับ 31 ธ.ค. 2489 เป็นต้นไป )

 

ปรับปรุงล่าสุด: 07-02-2024