เมนูปิด

บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร

หมวด 4 ภาษีมูลค่าเพิ่ม มาตรา 85_86

            มาตรา 85 ผู้ประกอบการซึ่งจะเริ่มประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการ ให้มีสิทธิยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มก่อนวันเริ่มประกอบกิจการ
            คำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามแบบที่อธิบดีกำหนดและให้ยื่น ณ ที่ว่าการอำเภอท้องที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 65) )
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 236) )
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 240) )
            ถ้าผู้ประกอบการมีสถานประกอบการหลายแห่งให้ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ที่ว่าการอำเภอท้องที่ที่สถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่
            การยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและการออกใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด และให้ผู้ประกอบการดังกล่าวเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนนับแต่วันที่ระบุไว้ในใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 57) )
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 159) )
            ( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.117/2545 )
            ( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.130/2546 )
            ( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.233/2557 )
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 241) )
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 245) )
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 246) )

            มาตรา 85/1 ผู้ประกอบการซึ่งประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการ ต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายในกำหนดเวลาดังต่อไปนี้
            (1) สำหรับผู้ประกอบการซึ่งประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการและมีมูลค่าของฐานภาษีในการประกอบกิจการเกินมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อมตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 81/1 ให้ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายในสามสิบวันนับแต่
                  (ก) วันที่มูลค่าของฐานภาษีในการประกอบกิจการเกินมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อม สำหรับกรณีที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อมไว้แล้ว หรือ
                  (ข) วันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับ สำหรับกรณีที่มีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อมขึ้นใหม่ หรือมีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกากำหนดมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อมน้อยกว่าที่กำหนดไว้ก่อน
            ( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.115/2545)
            (2) สำหรับผู้ประกอบการที่ได้แจ้งต่ออธิบดีเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81/3 ให้ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้แจ้งต่ออธิบดี
            ให้นำมาตรา 85 วรรคสอง วรรคสาม และวรรคสี่มาใช้บังคับ
            ( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.115/2545)

            มาตรา 85/2 ให้ตัวแทนตามมาตรา 82/1 (1) เป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรด้วย

            มาตรา 85/3 ให้ผู้ประกอบการดังต่อไปนี้ไม่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
            (1) ผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักร และเข้ามาประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการในราชอาณาจักรเป็นครั้งคราว
            (2) ผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการจากต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร ทั้งนี้ เฉพาะ
                  (ก) ผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้ใช้ซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน
                  (ข) ผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการอื่นนอกจากบริการทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้ใช้ทุกราย
             ( แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 53) พ.ศ. 2564 ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564 เป็นต้นไป เว้นแต่บทบัญญัติที่มีผลแก้ไขเปลี่ยนแปลงการเสียหรือการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 4 มาตรา 5 มาตรา 6 มาตรา 7 มาตรา 8 และมาตรา 10 ให้ใช้บังคับสำหรับรายรับหรือการจ่ายเงินตั้งแต่วันที่หนึ่งของเดือนที่เจ็ดถัดจากเดือนที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป )
            (3) ผู้ประกอบการอื่นตามที่อธิบดีประกาศกำหนดเมื่อมีเหตุอันสมควร
            อธิบดีจะผ่อนผันให้ผู้ประกอบการตาม (1) หรือ (3) ซึ่งการประกอบกิจการของผู้ประกอบการดังกล่าวมีลักษณะและวิธีการตามที่อธิบดีกำหนดมีสิทธิขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นการชั่วคราวก็ได้
            การยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มชั่วคราว และการออกใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มชั่วคราว ให้เป็นไปตามแบบ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 43) )
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 169) )
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 236) )
            เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง ให้อธิบดีมีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่จะพิจารณากำหนดว่า การเข้ามาประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการในราชอาณาจักรอย่างใด เป็นการเข้ามาประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการในราชอาณาจักรเป็นครั้งคราว
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 43) )

            มาตรา 85/4 ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนแสดงใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ ณ ที่เปิดเผยซึ่งเห็นได้ง่ายในสถานประกอบการเป็นรายสถานประกอบการ

            มาตรา 85/5 ในกรณีที่ใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มสูญหาย ถูกทำลาย หรือชำรุดในสาระสำคัญ ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนยื่นคำขอรับใบแทนใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ สถานที่ที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ทราบถึงการสูญหาย ถูกทำลาย หรือชำรุด
            การยื่นคำขอและการออกใบแทนใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มให้เป็นไปตามแบบ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
            ใบแทนใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มให้ถือเป็นใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 65) )
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 221) )
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 236) )

            มาตรา 85/6 ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงรายการที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในสาระสำคัญ ซึ่งรวมถึงการเปลี่ยนแปลงชื่อสถานประกอบการ ประเภทกิจการ ประเภทสินค้าหรือบริการ ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนแจ้งการเปลี่ยนแปลงนั้น ณ สถานที่ที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ภายในสิบห้าวันนับจากวันที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น
            การแจ้งการเปลี่ยนแปลงรายการตามวรรคหนึ่ง และการออกใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่เปลี่ยนแปลงรายการแล้ว ให้เป็นไปตามแบบ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 65) )
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 131) )
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 236) )
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 240) )
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 241) )

            มาตรา 85/7 ผู้ประกอบการจดทะเบียนใดประสงค์จะเปิดสถานประกอบการเพิ่มเติม ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนนั้นแจ้งการเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ สถานที่ที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ ก่อนวันเปิดสถานประกอบการเพิ่มเติมไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน เพื่อขอรับใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสถานประกอบการนั้น
            ในการปิดสถานประกอบการบางแห่ง ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนแจ้งการเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ สถานที่ที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ภายในสิบห้าวันนับจากวันปิดสถานประกอบการ     
            ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ปิดสถานประกอบการคืนใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มของสถานประกอบการนั้น ณ สถานที่ที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้พร้อมกับการแจ้งการเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
            ให้นำมาตรา 85/6 วรรคสองมาใช้บังคับ
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 131) )

            มาตรา 85/8 ผู้ประกอบการจดทะเบียนใดประสงค์จะย้ายสถานประกอบการ ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนนั้นแจ้งการเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ สถานที่ที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ก่อนวันย้ายสถานประกอบการไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน
            ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ย้ายสถานประกอบการแจ้งการเปิดสถานประกอบการแห่งใหม่ ณ ที่ว่าการอำเภอท้องที่ที่สถานประกอบการแห่งใหม่ตั้งอยู่ก่อนวันเปิดสถานประกอบการแห่งใหม่ไม่น้อยกว่าสิบห้าวันเพื่อขอรับใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสถานประกอบการแห่งใหม่นั้น พร้อมกับคืนใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มของสถานประกอบการเดิม
            ให้นำมาตรา 85/6 วรรคสอง มาใช้บังคับ
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 131) )

            มาตรา 85/9 ให้อธิบดีมีอำนาจกำหนดลักษณะและเงื่อนไขของสถานประกอบการที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นเป็นการชั่วคราวเป็นสถานประกอบการเฉพาะกิจได้
            สถานประกอบการชั่วคราวที่มีลักษณะและเงื่อนไขเป็นสถานประกอบการเฉพาะกิจตามที่อธิบดีกำหนด ไม่ให้ถือว่าเป็นสถานประกอบการที่อยู่ในบังคับของมาตรา 85/6 มาตรา 85/7 และมาตรา 85/8 แต่ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งจัดตั้งสถานประกอบการเฉพาะกิจจะต้องทำรายงานและปฏิบัติตามแบบ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด

            มาตรา 85/10 ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนดังต่อไปนี้ มีสิทธิขอให้อธิบดีสั่งถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้
            (1) ในกรณีที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อมไว้แล้ว ได้แก่ ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งกิจการของตนมีมูลค่าของฐานภาษีต่ำกว่ามูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อมตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสามปีก่อนการขอถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
            (2) ในกรณีที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกากำหนดมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อมให้สูงขึ้นกว่าที่กำหนดไว้ก่อน ได้แก่ ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งกิจการของตนมีมูลค่าของฐานภาษีก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกาต่ำกว่ามูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อมเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสามปี
            (3) ในกรณีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้แจ้งต่ออธิบดีเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81/3 ได้แก่ ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าระยะเวลาตามที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยนับแต่วันที่ผู้นั้นเริ่มเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน และต้องมีมูลค่าของฐานภาษีของกิจการต่ำกว่ามูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อมที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาตลอดระยะเวลาดังกล่าว
            (4) ในกรณีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งต้องเสียภาษีตามมาตรา 82/16 ซึ่งกิจการของตนมีมูลค่าของฐานภาษีต่ำกว่ามูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อมตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าระยะเวลาตามที่กำหนดในกฎกระทรวงก่อนการขอถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
            การใช้สิทธิขอให้อธิบดีสั่งถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามแบบ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 235))
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 240))
            กฎกระทรวงตาม (3) จะกำหนดระยะเวลาให้แตกต่างกันในกิจการแต่ละประเภทก็ได้ แต่ระยะเวลาที่กำหนดจะต้องไม่น้อยกว่าสองปี
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 236))

            มาตรา 85/11 กิจการใดที่ผู้ประกอบการได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้ว และมีมูลค่าของฐานภาษีสูงกว่ามูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อมตามที่ได้กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 81/1 แต่ต่อมาได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกากำหนดมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อมสูงกว่าที่กำหนดไว้ก่อนซึ่งมีผลทำให้มูลค่าของฐานภาษีของกิจการดังกล่าวต่ำกว่ามูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อมที่กำหนดขึ้นใหม่ ให้การจดทะเบียนของผู้ประกอบการนั้นยังคงมีผลต่อไป เว้นแต่ผู้ประกอบการจดทะเบียนจะได้ใช้สิทธิตามมาตรา 85/10 (2) และ (4) ขอให้อธิบดีสั่งถอนการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

            มาตรา 85/12 ผู้ประกอบการจดทะเบียนใดประสงค์จะหยุดประกอบกิจการชั่วคราวเป็นเวลาติดต่อกันเกินกว่าสามสิบวัน ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนนั้นแจ้งการหยุดประกอบกิจการชั่วคราว ณ ที่ว่าการอำเภอท้องที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ภายในสิบห้าวันนับจากวันที่หยุดประกอบกิจการชั่วคราว
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 236))

            มาตรา 85/13 ผู้ประกอบการจดทะเบียนใดประสงค์จะโอนกิจการบางส่วนหรือทั้งหมด ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนนั้นแจ้งการโอนกิจการและการเปลี่ยนแปลงรายการทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มถ้ามี หรือแจ้งการโอนและแจ้งการเลิกประกอบกิจการตามมาตรา 85/15 แล้วแต่กรณี ตามแบบที่อธิบดีกำหนด ณ สถานที่ที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ก่อนวันโอนกิจการไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 65) )
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 131) )
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 236) )
            ในกรณีที่ผู้รับโอนกิจการเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน ให้ผู้รับโอนแจ้งการรับโอนกิจการ และการเปลี่ยนแปลงรายการทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มถ้ามี ณ สถานที่ที่ผู้รับโอนได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ไม่น้อยกว่าสิบห้าวันก่อนวันรับโอนกิจการ และในกรณีที่ผู้รับโอนไม่ใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนให้ผู้รับโอนยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไม่น้อยกว่าสิบห้าวันก่อนวันรับโอนกิจการ และเมื่อได้ยื่นคำขอแล้วให้ผู้รับโอนประกอบกิจการดังกล่าวต่อเนื่องไปพลางก่อนได้
            ให้นำมาตรา 85/15 วรรคสอง มาใช้บังคับในกรณีที่เป็นการโอนกิจการทั้งหมด

            มาตรา 85/14 ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งเป็นนิติบุคคลใดประสงค์จะควบเข้ากัน ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนนั้นแจ้งการเลิกประกอบกิจการตามมาตรา 85/15 ตามแบบที่อธิบดีกำหนด และให้นิติบุคคลใหม่ซึ่งได้ควบเข้ากันยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้จดทะเบียนนิติบุคคลใหม่
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 65) )
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 131) )
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 236) )

            มาตรา 85/15 ผู้ประกอบการจดทะเบียนใดเลิกประกอบกิจการให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนนั้นแจ้งการเลิกกิจการตามแบบที่อธิบดีกำหนด ณ สถานที่ที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ภายในสิบห้าวันนับจากวันเลิกประกอบกิจการ
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 65) )
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 131) )
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 236) )
            ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่เลิกกิจการคืนใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ สถานที่ที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้พร้อมกับการแจ้งเลิกประกอบกิจการ
            ( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.66/2539 )

            มาตรา 85/16 ในกรณีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาถึงแก่ความตาย ให้ความเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนของผู้ประกอบการจดทะเบียนดังกล่าวสิ้นสุดลง และให้ผู้ครอบครองทรัพย์มรดกที่รับผิดชอบในการดำเนินกิจการของผู้ตายมีสิทธิประกอบกิจการต่อไปได้อีกไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนถึงแก่ความตาย แต่ต้องแจ้งให้นายทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มทราบถึงความตายของผู้ประกอบการจดทะเบียนโดยเร็วที่สุด
            ในกรณีที่ผู้ครอบครองทรัพย์มรดกที่รับผิดชอบในการดำเนินกิจการของผู้ตายใช้สิทธิดำเนินกิจการตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ครอบครองทรัพย์มรดกดังกล่าวมีสิทธิและความรับผิดในฐานะผู้ประกอบการจดทะเบียน และในกรณีที่มีเหตุอันสมควรผู้ครอบครองทรัพย์มรดกนั้นอาจขอให้อธิบดีสั่งขยายเวลาตามที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่งได้โดยแสดงเหตุผลความจำเป็นต่ออธิบดี ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งขยายเวลาได้ตามที่เห็นสมควรโดยจะกำหนดเงื่อนไขไว้ด้วยก็ได้
            ในกรณีที่ผู้ครอบครองทรัพย์มรดกที่รับผิดชอบในการดำเนินกิจการของผู้ตายไม่ใช้สิทธิดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ครอบครองทรัพย์มรดกดังกล่าวคืนใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ตาย ณ สถานที่ที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนถึงแก่ความตาย
            หากผู้จัดการมรดกหรือทายาทประสงค์จะประกอบกิจการของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ถึงแก่ความตายต่อไป ให้ผู้จัดการมรดกหรือทายาทนั้นมีสิทธิขอโอนกิจการของผู้ประกอบการจดทะเบียนได้ตามแบบ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดและให้นำมาตรา 85/13 วรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม และเมื่ออธิบดีได้สั่งให้โอนกิจการแล้วให้สิทธิของผู้ครอบครองทรัพย์มรดกตามมาตรานี้สิ้นสุดลง
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 131) )
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 236) )
            ให้ผู้จัดการมรดกหรือทายาทที่รับโอนกิจการคืนใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ตาย ณ สถานที่ที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมกับการแจ้งเปลี่ยนแปลงรายการทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือการยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แล้วแต่กรณี และในกรณีที่ผู้ครอบครองทรัพย์มรดกที่รับผิดชอบในการดำเนินกิจการของผู้ตายได้ใช้สิทธิดำเนินกิจการตามวรรคหนึ่ง แต่เมื่อพ้นกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่งหรือระยะเวลาที่อธิบดีได้ขยายให้ตามวรรคสองแล้ว ไม่มีผู้จัดการมรดกหรือทายาทขอโอนกิจการของผู้ประกอบการจดทะเบียนตามวรรคสี่ ให้ผู้ครอบครองทรัพย์มรดกที่รับผิดชอบในการดำเนินกิจการของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ถึงแก่ความตายคืนใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ สถานที่ที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ภายในสิบห้าวันนับแต่วันพ้นกำหนดดังกล่าว

            มาตรา 85/17 ผู้ประกอบการจดทะเบียนใดกระทำผิดบทบัญญัติในหมวดนี้ อธิบดีมีอำนาจสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ประกอบการจดทะเบียนนั้นได้ และให้แจ้งการเพิกถอนดังกล่าวให้ผู้ประกอบการทราบเป็นหนังสือ
            ( ดูคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ที่ 34/2540 )
            ให้ผู้ประกอบการที่ได้รับแจ้งตามวรรคหนึ่ง คืนใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ สถานที่ที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ ภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการเพิกถอน

            มาตรา 85/18 ในกรณีที่อธิบดีสั่งถอนทะเบียนตามมาตรา 85/10 หรือในกรณีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการตามมาตรา 85/15 หรือในกรณีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนถึงแก่ความตายและผู้ครอบครองทรัพย์มรดกที่รับผิดชอบในการดำเนินกิจการของผู้ตายได้ใช้สิทธิดำเนินกิจการ แต่ต่อมาสิทธิดำเนินกิจการสิ้นสุดลงโดยไม่มีผู้จัดการมรดกหรือทายาทขอโอนกิจการของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ถึงแก่ความตายตามมาตรา 85/16 หรือในกรณีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนถูกสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 85/17 ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนหรือผู้ครอบครองทรัพย์มรดกที่รับผิดชอบในการดำเนินกิจการของผู้ตายดังกล่าว แล้วแต่กรณี ยังคงต้องรับผิดในฐานะเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนต่อไปจนกว่าอธิบดีจะสั่งขีดชื่อผู้ประกอบการจดทะเบียนนั้นออกจากทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 85/19

            มาตรา 85/19 ในกรณีดังต่อไปนี้ให้อธิบดีสั่งขีดชื่อผู้ประกอบการจดทะเบียนดังกล่าวออกจากทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
            ( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.117/2545 )
            (1) เมื่ออธิบดีสั่งถอนทะเบียนตามมาตรา 85/10
            (2) เมื่อผู้ประกอบการจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการตามมาตรา 85/15
            (3) เมื่อผู้ประกอบการจดทะเบียนตายและไม่มีผู้จัดการมรดกหรือทายาทยื่นขอโอนกิจการของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ถึงแก่ความตายตามมาตรา 85/16
            (4) เมื่ออธิบดีสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 85/17
            ให้อธิบดีแจ้งคำสั่งขีดชื่อให้ผู้ประกอบการจดทะเบียน ผู้จัดการมรดก ทายาท หรือผู้ครอบครองทรัพย์มรดกทราบเป็นหนังสือโดยไม่ชักช้า
            ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนหรือผู้ครอบครองทรัพย์มรดกที่รับผิดชอบในการดำเนินกิจการของผู้ตายและได้ใช้สิทธิดำเนินกิจการตามมาตรา 85/16 พ้นความรับผิดในฐานะผู้ประกอบการจดทะเบียนในวันที่อธิบดีมีคำสั่งขีดชื่อออกจากทะเบียน
            ถ้าผู้ประกอบการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ให้อธิบดีแจ้งการขีดชื่อออกทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มนั้นต่อนายทะเบียนนิติบุคคลตามกฎหมายนั้น ๆ ภายในสามสิบวันและให้นายทะเบียนดังกล่าวจดแจ้งการเพิกถอนการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ในทะเบียนโดยไม่ชักช้า

            มาตรา 85/20 ในกรณีมีความจำเป็นหรือเหมาะสม รัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อกำหนดกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อใช้แทนการดำเนินการเกี่ยวกับทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามที่บัญญัติไว้ในส่วน 9 ได้
            การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงตามวรรคหนึ่ง ให้ถือเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติ อันเป็นความผิดและต้องระวางโทษตามมาตราที่เกี่ยวข้องด้วย
             ( แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 53) พ.ศ. 2564 ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564 เป็นต้นไป เว้นแต่บทบัญญัติที่มีผลแก้ไขเปลี่ยนแปลงการเสียหรือการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 4 มาตรา 5 มาตรา 6 มาตรา 7 มาตรา 8 และมาตรา 10 ให้ใช้บังคับสำหรับรายรับหรือการจ่ายเงินตั้งแต่วันที่หนึ่งของเดือนที่เจ็ดถัดจากเดือนที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป )
            ( ดูกฎกระทรวง ฉบับที่ 377 (พ.ศ.2564)

            มาตรา 86 ภายใต้บังคับมาตรา 86/1 มาตรา 86/2 และมาตรา 86/8 ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนจัดทำใบกำกับภาษีและสำเนาใบกำกับภาษีสำหรับการขายสินค้า หรือการให้บริการทุกครั้ง และต้องจัดทำในทันทีที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น พร้อมทั้งให้ส่งมอบใบกำกับภาษีนั้นแก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ ส่วนสำเนาใบกำกับภาษีให้เก็บรักษาไว้ตามมาตรา 87/3
            ( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.45/2537 )
            ( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.51/2537 )
            ( ดูคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ที่ 25/2537 )
            ผู้ประกอบการที่ได้รับยกเว้นการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มชั่วคราวตามมาตรา 85/3 จะออกใบกำกับภาษีได้ต่อเมื่อเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 44) )
            ใบกำกับภาษีให้ออกเป็นรายสถานประกอบการ ทั้งนี้ เว้นแต่อธิบดีจะกำหนดเป็นอย่างอื่น
            การออกใบกำกับภาษีโดยตัวแทนในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 5) )
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 68) )

            มาตรา 86/1 ห้ามมิให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนดังต่อไปนี้ออกใบกำกับภาษี
            (1) ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่อยู่นอกราชอาณาจักร และได้ให้ตัวแทนของตนออกใบกำกับภาษีแทนตนตามมาตรา 86/2
            (1/1) ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักรโดยผู้ใช้ซึ่งมิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียน
            ( แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 53) พ.ศ. 2564 ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564 เป็นต้นไป เว้นแต่บทบัญญัติที่มีผลแก้ไขเปลี่ยนแปลงการเสียหรือการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 4 มาตรา 5 มาตรา 6 มาตรา 7 มาตรา 8 และมาตรา 10 ให้ใช้บังคับสำหรับรายรับหรือการจ่ายเงินตั้งแต่วันที่หนึ่งของเดือนที่เจ็ดถัดจากเดือนที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป )
            (2) ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ทรัพย์สินถูกนำออกขายทอดตลาดหรือขายโดยวิธีอื่นโดยบุคคลอื่นตามมาตรา 83/5
            (3) ผู้ประกอบการจดทะเบียนตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 83/6 (3)

            มาตรา 86/2 ผู้ประกอบการจดทะเบียนใดที่อยู่นอกราชอาณาจักรและมีตัวแทนทำการแทนตน หากประสงค์จะให้ตัวแทนของตนออกใบกำกับภาษีในนามของตนให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนนั้นยื่นคำขออนุมัติต่ออธิบดีตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด
            ให้ตัวแทนที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้ขอและได้รับอนุมัติแล้ว ออกใบกำกับภาษีแทนผู้ประกอบการจดทะเบียนได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด และให้ตัวแทนดังกล่าวมีหน้าที่และความรับผิดชอบเช่นเดียวกับและร่วมกับผู้ประกอบการจดทะเบียนในส่วนที่เกี่ยวกับใบกำกับภาษี
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 5) )

            มาตรา 86/3 ในการขายทอดตลาดตามมาตรา 83/5 ให้ผู้ทอดตลาดที่มิใช่ส่วนราชการซึ่งขายทรัพย์สินของผู้ประกอบการจดทะเบียนออกใบกำกับภาษีหรือใบรับตามมาตรา 105 แล้วแต่กรณี ในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียนเจ้าของทรัพย์สิน

            มาตรา 86/4 ภายใต้บังคับมาตรา 86/5 และมาตรา 86/6 ใบกำกับภาษีต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้
            (1) คำว่า “ใบกำกับภาษี” ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด
            (2) ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษี และในกรณีที่ตัวแทนเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียนตามมาตรา 86 วรรคสี่ หรือมาตรา 86/2 หรือผู้ทอดตลาดเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียนตามมาตรา 86/3 ให้ระบุชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของตัวแทนนั้นด้วย
            (3) ชื่อ ที่อยู่ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ
            (4) หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี และหมายเลขลำดับของเล่มถ้ามี
            (5) ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ
            (6) จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ โดยให้แยกออกจากมูลค่าของสินค้าและหรือของบริการให้ชัดแจ้ง
            (7) วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี
            (8) ข้อความอื่นที่อธิบดีกำหนด
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 39) )
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 247))
            ( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.117/2545 )
            ( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.46/2537 )
            ( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.86/2542 )
            ( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.147/2557 )
            ( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.155/2560 )
            รายการในใบกำกับภาษีให้ทำเป็นภาษาไทย เป็นหน่วยเงินตราไทย และใช้ตัวเลขไทยหรืออารบิค เว้นแต่ในกิจการบางประเภทที่มีความจำเป็นต้องทำเป็นภาษาต่างประเทศหรือเป็นหน่วยเงินตราต่างประเทศ ให้กระทำได้เมื่อได้รับอนุมัติจากอธิบดี
            ( ดูคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ที่ 25/2537 )
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 92) )
            ใบกำกับภาษีอาจออกรวมกันสำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการหลายอย่างก็ได้ เว้นแต่อธิบดีจะได้กำหนดให้การออกใบกำกับภาษีสำหรับสินค้าหรือบริการบางอย่างหรือหลายอย่างต้องกระทำแยกต่างหาก โดยมิให้รวมไว้ในใบกำกับภาษีเดียวกันกับรายการอื่น
            ( ดูคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.121/2545 )

            มาตรา 86/5 ใบกำกับภาษีดังต่อไปนี้อธิบดีอาจกำหนดให้มีรายการเป็นอย่างอื่นได้
            (1) ใบกำกับภาษีของสินค้าหรือบริการเฉพาะอย่างตามมาตรา 79/1
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 21) )
            ( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.85/2542 )
            ( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.86/2542 )
            (2) ใบกำกับภาษีของยาสูบตามมาตรา 79/5 หรือน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมันตามมาตรา 79/6
             ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 21) )
            ( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.85/2542 )
            ( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.86/2542 )
            ( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.145/2555 )
            (3) ใบกำกับภาษีที่อธิบดีอนุมัติให้ทำเป็นภาษาต่างประเทศ หรือเป็นหน่วยเงินตราต่างประเทศตามมาตรา 86/4 วรรคสอง
            (4) ใบกำกับภาษีของสินค้าหรือบริการอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 68) )
            ( ดูกฎกระทรวง (ฉบับที่ 198) )
            ( ดูคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.121/2545 )
            ( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.155/2560 )
            ( ดูกฎกระทรวง ฉบับที่ 220 (พ.ศ.2542))

            มาตรา 86/6 เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ประกอบกิจการขายสินค้าในลักษณะขายปลีกหรือประกอบกิจการให้บริการในลักษณะบริการรายย่อยแก่บุคคลจำนวนมาก อธิบดีมีอำนาจกำหนดลักษณะและหรือเงื่อนไขของการประกอบกิจการดังกล่าวให้เป็นกิจการค้าปลีก และในกิจการค้าปลีกการแสดงราคาสินค้าหรือราคาค่าบริการจะต้องเป็นการแสดงราคาที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้ว
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 32) )
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 46) )
            ( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.117/2545 )
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 236) )
            ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ประกอบกิจการค้าปลีก มีสิทธิออกใบกำกับภาษีอย่างย่อได้ แต่ตัวแทนของผู้ประกอบการจดทะเบียนจะออกใบกำกับภาษีอย่างย่อไม่ได้
            ใบกำกับภาษีอย่างย่อต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้
            (1) คำว่า “ใบกำกับภาษี” ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด
            (2) ชื่อหรือชื่อย่อและเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษี
            (3) หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี และหมายเลขลำดับของเล่มถ้ามี
            (4) ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ
            (5) ราคาสินค้าหรือราคาค่าบริการโดยต้องมีข้อความระบุชัดเจนว่าได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้ว
            (6) วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี
            (7) ข้อความอื่นที่อธิบดีกำหนด
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 45) )
            ( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.37/2536 )
            ชื่อ ชนิด หรือประเภทของสินค้าตามวรรคหนึ่งจะออกเป็นรหัสก็ได้โดยผู้ประกอบการจดทะเบียนจะต้องแจ้งรหัสให้อธิบดีทราบล่วงหน้าอย่างน้อยสิบห้าวันก่อนวันใช้รหัสนั้น
            รายการในใบกำกับภาษีอย่างย่อให้ทำเป็นภาษาไทยเป็นหน่วยเงินตราไทยและใช้ตัวเลขไทยหรืออารบิค เว้นแต่ในกิจการบางประเภทที่มีความจำเป็นต้องทำเป็นภาษาต่างประเทศ ให้กระทำได้เมื่อได้รับอนุมัติจากอธิบดี
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 92) )
            ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ประกอบกิจการค้าปลีกซึ่งประสงค์จะใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินเพื่อการออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ ให้ยื่นคำขออนุมัติต่ออธิบดีและการใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินดังกล่าวจะต้องปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินที่อธิบดีกำหนด
            ( ดูคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ที่ 25/2537 )
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 46) )
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 73) )
            ( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.37/2536 )
            ( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.40/2537 )
            ให้นำมาตรา 86/4 วรรคสามมาใช้บังคับในการออกใบกำกับภาษีตามมาตรานี้
            ( ดูคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.121/2545 )

            มาตรา 86/7 ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ประกอบกิจการอย่างอื่นซึ่งมิใช่เป็นกิจการค้าปลีก ซึ่งมีความประสงค์จะออกใบกำกับภาษีอย่างย่อและหรือใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 86/6 จะขออนุมัติต่ออธิบดีพร้อมกับแสดงเหตุผลและความจำเป็นก็ได้ และในการอนุมัติ อธิบดีจะกำหนดหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขใด ๆ ตามที่เห็นสมควรก็ได้
            ( ดูคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ที่ 25/2537 )
            ( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป. 121/2545 )

            มาตรา 86/8 เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการรายย่อย อธิบดีมีอำนาจกำหนดลักษณะ และเงื่อนไขของการประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการรายย่อยเพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ได้
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 154) )
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 236) )
            ในการประกอบกิจการรายย่อยผู้ประกอบการจดทะเบียนดังกล่าวไม่จำต้องออกใบกำกับภาษี สำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการที่มีมูลค่าครั้งหนึ่งไม่เกินจำนวนเงินตามที่อธิบดีกำหนด แต่จำนวนเงินดังกล่าวจะต้องไม่เกินหนึ่งพันบาท ทั้งนี้ เว้นแต่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการจะเรียกร้องให้ออกใบกำกับภาษี และให้อธิบดีมีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่จะให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ขายสินค้าหรือให้บริการรายย่อยปฏิบัติตามที่เห็นสมควร
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 54) )

            มาตรา 86/9 ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้ขายสินค้าหรือให้บริการไปแล้ว แต่ต้องคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มใหม่เนื่องจากมูลค่าของสินค้าหรือบริการมีจำนวนเพิ่มขึ้นเพราะเหตุการณ์ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 82/9 ออกใบเพิ่มหนี้ให้กับผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการในเดือนภาษีที่เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นที่ไม่สามารถออกใบเพิ่มหนี้ได้ทันในเดือนภาษีที่มีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ก็ให้ออกใบเพิ่มหนี้ให้กับผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการในเดือนภาษีถัดจากเดือนที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้น
            ( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.80/2542 )
            ( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป. 121/2545 )
            ใบเพิ่มหนี้ต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้
            (1) คำว่า “ใบเพิ่มหนี้” ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด
            (2) ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบเพิ่มหนี้ และในกรณีที่ตัวแทนเป็นผู้ออกใบเพิ่มหนี้ในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียนตามมาตรา 86 วรรคสี่ หรือมาตรา 86/2 ให้ระบุชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของตัวแทนนั้นด้วย
            (3) ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ
            (4) วัน เดือน ปี ที่ออกใบเพิ่มหนี้
            (5) หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษีเดิมรวมทั้งหมายเลขลำดับของเล่ม ถ้ามี มูลค่าของสินค้าหรือบริการที่แสดงไว้ในใบกำกับภาษีดังกล่าว มูลค่าที่ถูกต้องของสินค้าหรือบริการ ผลต่างของจำนวนมูลค่าทั้งสองและจำนวนภาษีที่เรียกเก็บเพิ่มสำหรับส่วนต่างนั้น
            (6) คำอธิบายสั้น ๆ ถึงสาเหตุในการออกใบเพิ่มหนี้
            (7) ข้อความอื่นที่อธิบดีกำหนด
            ให้นำมาตรา 86/4 วรรคสอง มาใช้บังคับ และให้ถือว่าใบเพิ่มหนี้ตามมาตรานี้เป็นใบกำกับภาษี
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 248) )

            มาตรา 86/10 ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้ขายสินค้าหรือให้บริการไปแล้ว แต่ต้องคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มใหม่เนื่องจากมูลค่าของสินค้าหรือบริการมีจำนวนลดลงเพราะเหตุการณ์ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 82/10 ออกใบลดหนี้ให้กับผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการในเดือนภาษีที่เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นไม่สามารถออกใบลดหนี้ได้ทันในเดือนภาษีที่มีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นก็ให้ออกใบลดหนี้ให้กับผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการในเดือนภาษีถัดจากเดือนที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้น
            ( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.39/2537 )
            ( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป. 80/2542 )
            ( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป. 121/2545 )
            ใบลดหนี้ต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้
            (1) คำว่า “ใบลดหนี้” ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด
            (2) ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบลดหนี้ และในกรณีที่ตัวแทนเป็นผู้ออกใบลดหนี้ในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียนตามมาตรา 86 วรรคสี่หรือมาตรา 86/2 ให้ระบุชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของตัวแทนนั้นด้วย
            (3) ชื่อ ที่อยู่ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ
            (4) วัน เดือน ปี ที่ออกใบลดหนี้
            (5) หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษีเดิม รวมทั้งหมายเลขลำดับของเล่มถ้ามี มูลค่าของสินค้าหรือบริการที่แสดงไว้ในใบกำกับภาษีดังกล่าว มูลค่าที่ถูกต้องของสินค้าหรือบริการ ผลต่างของจำนวนมูลค่าทั้งสองและจำนวนภาษีที่ใช้คืนสำหรับส่วนต่างนั้น
            (6) คำอธิบายสั้น ๆ ถึงสาเหตุในการออกใบลดหนี้
            (7) ข้อความอื่นที่อธิบดีกำหนด
            ให้นำมาตรา 86/4 วรรคสอง มาใช้บังคับ และให้ถือว่าใบลดหนี้ตามมาตรานี้เป็นใบกำกับภาษี
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 249) )

            มาตรา 86/11 ในกรณีที่มีการขีดชื่อผู้ประกอบการจดทะเบียนออกจากทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเพราะผู้ประกอบการจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการ หรือเพราะอธิบดีสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ประกอบการจดทะเบียน อธิบดีจะอนุญาตให้ผู้ประกอบการนั้นออกใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้ต่อไปเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะหยุดประกอบกิจการก็ได้ แต่ผู้รับอนุญาตดังกล่าวจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด

            มาตรา 86/12 ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้จัดทำใบกำกับภาษีหรือใบเพิ่มหนี้หรือใบลดหนี้แล้ว ต่อมาหากได้รับการร้องขอจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการซึ่งทำใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้สูญหาย ถูกทำลาย หรือชำรุดในสาระสำคัญ ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนนั้นออกใบแทนใบกำกับภาษี ใบแทนใบเพิ่มหนี้ หรือใบแทนใบลดหนี้ให้กับผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการนั้น ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 36) )
            ใบแทนใบกำกับภาษี ใบแทนใบเพิ่มหนี้ หรือใบแทนใบลดหนี้ ให้มีรายการเช่นเดียวกับใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้ แล้วแต่กรณี โดยให้มีข้อความระบุไว้ในที่ที่เห็นได้ชัดว่าเป็นใบแทนและออกเพื่อแทนใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้ฉบับใด
            ( ดูคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.121/2545 )

            มาตรา 86/13 ห้ามมิให้บุคคลซึ่งมิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนหรือมิใช่ผู้มีสิทธิออกใบกำกับภาษีได้ตามหมวดนี้ ออกใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้
            บุคคลใดออกใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้โดยไม่มีสิทธิที่จะออกตามกฎหมาย บุคคลนั้นต้องรับผิดในภาษีมูลค่าเพิ่มตามจำนวนที่ปรากฏในใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้นั้นเสมือนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน

            มาตรา 86/14 ใบเสร็จรับเงินที่กรมสรรพากรออกให้สำหรับการรับชำระภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 83/6 หรือตามมาตรา 83/7 และใบเสร็จรับเงินที่กรมศุลกากรหรือกรมสรรพสามิตออกให้ในการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อกรมสรรพากรตามมาตรา 83/10 (1) หรือ (2) ให้ถือเป็นใบกำกับภาษี
            ( ดูคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.121/2545 )

 

ปรับปรุงล่าสุด: 18-03-2024