เลขที่หนังสือ | : กค 0702/4339 | วันที่ | : 24 มิถุนายน 2557 | เรื่อง | : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน | ข้อกฎหมาย | : กรณีเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน | ข้อหารือ | นางสาว ก. ทำงานอยู่ที่บริษัทฯ อายุงานต่อเนื่องเป็นเวลา 1 ปี 4 เดือน 19 วัน เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2556 บริษัทฯ ได้เลิกจ้างนางสาว ก. เนื่องจากได้ยุบหน่วยงานบางหน่วยงานเพื่อให้สอดคล้องกับแผนงานใหม่ ทำให้นางสาว ก. พ้นสภาพจากการเป็นพนักงานบริษัทฯ และได้รับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน เป็นเงิน 358,045 บาท ซึ่งเงินค่ารถและค่าโทรศัพท์บริษัทฯ จ่ายให้ทุกเดือนเป็นจำนวนแน่นอน และไม่ต้องมีใบเสร็จไปแสดงต่อบริษัทฯนอกจากนั้นยังพบว่า ได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7316/2549 พิพากษาว่า "ลูกจ้างได้รับเงินค่าน้ำมันรถและค่าโทรศัพท์มือถือทุกเดือน เป็นจำนวนแน่นอนในลักษณะเหมาจ่าย ไม่ต้องมีใบเสร็จนำไปแสดงต่อนายจ้าง มิใช่เป็นเงินสวัสดิการหรือเงินช่วยเหลือที่จ่ายให้เป็นครั้งคราว แต่มีลักษณะเป็นเงินได้ที่ได้รับเนื่องจากการทำงานปกติ เป็นค่าจ้าง" และได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5024/2548 วินิจฉัยในทำนองเดียวกันจึงขอให้กรมสรรพากรวินิจฉัยว่า "ค่าจ้างหรือเงินเดือนค่าจ้าง" ให้หมายความรวมถึงเงินค่ารถ และค่าโทรศัพท์ที่บริษัทฯ จ่ายให้ทุกเดือนเป็นจำนวนแน่นอน และไม่ต้องมีใบเสร็จไปแสดงต่อบริษัทฯ ด้วยเพื่อใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานซึ่งได้รับการยกเว้นภาษี ทั้งนี้ เฉพาะค่าชดเชยส่วนที่ไม่เกินค่าจ้างหรือเงินเดือนค่าจ้างของการทำงานสามร้อยวันสุดท้าย แต่ไม่เกินสามแสนบาท | แนววินิจฉัย | กรณีตามข้อเท็จจริง เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2556 นางสาว ก. ถูกบริษัทฯ นายจ้างเลิกจ้างโดยมิใช่ความผิดของลูกจ้าง โดยมีอายุงาน 1 ปี 4 เดือน 19 วัน นางสาว ก. จึงได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน กรณีลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหนึ่งปี แต่ไม่ครบสามปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายเก้าสิบวันโดยคำนวณจากค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้าง สำหรับระยะเวลาการทำงานเป็นรายเดือนปกติ ดังนั้น เงินเดือน เงินค่ารถ และค่าโทรศัพท์ที่บริษัทฯ จ่ายให้ทุกเดือนเป็นจำนวนแน่นอนและไม่ต้องมีใบเสร็จไปแสดงต่อบริษัทฯ ซึ่งเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้าง สำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายเดือนถือว่า เป็นค่าจ้าง ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 จึงต้องนำเงินเดือน เงินค่ารถ และค่าโทรศัพท์ของนางสาว ก. ของการทำงานเก้าสิบวันสุดท้ายมาเป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยเพื่อการใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามข้อ 2 (51) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร | เลขตู้ | : 77/39116 |