เมนูปิด
Untitled Document
เลขที่หนังสือ: กค 0702(กม.08)/4374
วันที่: 25 มิถุนายน 2557
เรื่อง: หนังสือมอบอำนาจกรณีกรรมการหรือผู้ชำระบัญชีมีถิ่นที่อยู่ในต่างประเทศ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 797 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และเทียบเคียงมาตรา 47 แห่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
ข้อหารือ           กรณีกรรมการหรือผู้ชำระบัญชีอยู่ในต่างประเทศลงนามในหนังสือมอบอำนาจ สรุปข้อเท็จจริงได้ดังนี้
          1.บริษัทฯ จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2540 ประกอบกิจการผลิตเบาะนั่งต่างๆ และผลิตอุปกรณ์สำหรับรถยนต์ กลไกขับเคลื่อนกระจก สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ถนนเพชรเกษม 81 แขวงหนองค้างพลู เขตหนองแขม กรุงเทพมหานคร กรรมการของบริษัทฯ มี 6 คน โดยกรรมการซึ่งลงชื่อผูกพันบริษัทได้คือ นาง ป. หรือนาย ส. หรือนาย ว. ลงลายมือชื่อร่วมกับนาย A หรือนายB หรือนาย C รวมเป็นสองคน และประทับตราสำคัญของบริษัท
          2. บริษัทฯ จดทะเบียนเลิกบริษัท ซึ่งนายทะเบียนได้รับจดทะเบียนไว้แล้ว เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2555 และขณะนี้ยังไม่ได้จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี ผู้ชำระบัญชี ได้แก่อดีตกรรมการบริษัทฯ ทั้ง 6 คนข้างต้น
          3. หนังสือมอบอำนาจ ฉบับลงวันที่ 1 กันยายน 2553 ของบริษัทฯ โดยมีนาย ส. และนาย C กรรมการผู้มีอำนาจ มอบอำนาจให้นาง ก. ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากร (ภ.พ.30) รวมทั้งให้มีอำนาจลงนามในเอกสารแบบ ภ.พ.30 แทนผู้ประกอบการ รับรองเอกสาร รับ-ส่งเอกสารหรือสิ่งของใดๆ ให้ถ้อยคำ ตลอดจนดำเนินการอื่นใดในเรื่องดังกล่าวจนแล้วเสร็จ และฉบับลงวันที่ 23 เมษายน 2556 ของบริษัทฯ โดยนาง ป. นาย ส. นาย ว. นาย A นาย B และนาย C ผู้ชำระบัญชีผู้มีอำนาจ มอบอำนาจให้นาง ก. และนาย พ. เป็นผู้รู้เกี่ยวกับกิจการดำเนินการในเรื่องการตรวจสอบภาษีอากร การขอคืนและรับเงินภาษี แจ้งเลิกสถานประกอบการ ขอคืนบัตรประจำตัวผู้เสียภาษี และให้มีอำนาจลงนามในเอกสาร รับรองสำเนา ให้ถ้อยคำใดๆ แก่เจ้าหน้าที่หรือกระทำการอื่นใดแทนบริษัทฯ
          4. ปรากฏว่า กรรมการและผู้ชำระบัญชีชาวต่างชาติผู้มอบอำนาจบางคนไม่ได้อยู่ในประเทศไทยในวันที่จัดทำหนังสือมอบอำนาจ จึงขอหารือว่ากรณีดังกล่าวเป็นการมอบอำนาจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
แนววินิจฉัย           กรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่าหนังสือมอบอำนาจไม่ใช่หนังสือมอบอำนาจอันแท้จริง หนังสือมอบอำนาจที่จะสามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินการทางภาษีกับกรมสรรพากรได้นั้น เป็นปัญหาข้อเท็จจริง แต่อย่างไรก็ตาม
          (1) กรณีผู้มอบอำนาจอยู่ในประเทศไทย ผู้รับมอบอำนาจต้องรับรองในหนังสือมอบอำนาจที่ผู้มอบอำนาจทำว่าลายมือชื่อของผู้มอบอำนาจเป็นลายมือชื่อที่แท้จริง และให้นายอำเภอเป็นพยาน
          (2) กรณีผู้มอบอำนาจไม่อยู่ในประเทศไทย หนังสือมอบอำนาจต้องได้รับการรับรองจากกระทรวงการต่างประเทศ ตามระเบียบปฏิบัติของกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวคือ หากยื่นคำร้องต่อสถานทูตหรือสถานกงสุลของไทยในต่างประเทศ หนังสือมอบอำนาจต้องเป็นเอกสารที่ลงนามโดยเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของกระทรวงการต่างประเทศ หรือโนตารี พับลิค หรือหน่วยงานอื่นตามกฎหมายของประเทศนั้นๆ แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ตามมาตรา 797 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และเทียบเคียงมาตรา 47 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
เลขตู้: 77/39120

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020