เลขที่หนังสือ | : กค 0702/5193 | วันที่ | : 24 กรกฎาคม 2557 | เรื่อง | : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการได้รับเงินเมื่อพ้นจากตำแหน่งผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการราย นาย ม. | ข้อกฎหมาย | : มาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร | ข้อหารือ |
1.นาย ม.เป็นพนักงานของ บริษัท น. ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2540 ถึง 18 พฤษภาคม 2551 ซึ่งในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศไทยบริษัท น.ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงในปี 2541 เนื่องจากมีภาระผูกพันเป็นเงินตราต่างประเทศจำนวนมาก เมื่อบริษัท น.ไม่สามารถชำระหนี้สินที่มีขณะนั้นได้ ศาลล้มละลายกลางจึงได้มีคำสั่งให้บริษัท น.เข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ และเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2544 ศาลล้มละลายกลางได้แต่งตั้ง บริษัท ก. ให้เป็นผู้บริหารแผน โดยบริษัท ก. จัดตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการบริหารแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท น.โดยเฉพาะ และนายม.มีตำแหน่งเป็นกรรมการของบริษัท ก. ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2544 จนถึงวันที่ 18 กันยายน 2549 ด้วย ทำให้ในช่วงระยะเวลานั้น นาย ม.เป็นทั้งพนักงานของบริษัท น.และบริษัท ก. ในเวลาเดียวกัน ซึ่งในช่วงระยะเวลาดังกล่าว นาย ม.ยังคงได้รับเงินเดือนจากการทำงานให้กับบริษัท น.ตามปกติ แต่ไม่ได้รับเงินเดือนหรือค่าตอบแทนใดๆ จากการทำงานให้กับบริษัท ก. เนื่องจากมีข้อตกลงกันว่า กรรมการ จะได้รับค่าตอบแทนเมื่อสามารถบริหารแผนฟื้นฟูให้สำเร็จลุล่วงได้ตามที่กำหนดแล้ว และบริษัท ก. ก็ไม่ได้ประกอบกิจการอื่นใดที่ก่อให้เกิดรายได้พอที่จะนำมาจ่ายค่าตอบแทนกรรมการ เพียงแต่รับเป็นผู้บริหารแผนให้กับบริษัท น.เท่านั้น
2.ในปี 2549 เมื่อกรรมการบริหารของบริษัท ก. ที่มีนาย ม.รวมอยู่ด้วย ไม่สามารถดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด กลุ่มเจ้าหนี้ที่มีหลักประกันของบริษัท น.จึงได้ร้องขอให้มีการเปลี่ยนแปลงตัวกรรมการบริหารบริษัท ก. ใหม่ โดยให้กรรมการชุดเดิมของบริษัท ก. ที่มีนายม.รวมอยู่ด้วยพ้นจากตำแหน่ง และให้มีการเจรจาเรื่องเงินชดเชยและค่าทำขวัญสำหรับกรรมการบริหารเดิมแต่ละรายด้วย ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการเจ้าหนี้ของบริษัท น.ได้มีมติเป็นเอกฉันท์อนุมัติตามคำร้องขอดังกล่าว 3.สำหรับกรณีของนาย ม.ได้มีการเจรจาตกลงเรื่องเงินชดเชย สำหรับการสิ้นสุดของสัญญาจ้างระหว่างบริษัท ก. กับนาย ม.ในตำแหน่งกรรมการ ตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน 2549 เป็นต้นไป ซึ่งผลการเจรจาตกลงให้นายม.ได้รับเงินจำนวน 15,000,000 บาท (ยอดสุทธิหลังหักภาษี ณ ที่จ่าย) โดยมีเงื่อนไขว่า นายม.ต้องส่งมอบทรัพย์สินของบริษัท ก. ที่อยู่ในความครอบครองคืนทั้งหมด และสัญญาว่าจะไม่เปิดเผยข้อมูลใด ๆ ที่ได้รับเนื่องจากการเป็นกรรมการของบริษัท ก. รวมทั้งสละสิทธิในการเรียกร้องค่าตอบแทนใดๆ เพิ่มเติมจากบริษัท ก. อีก ทั้งนี้ ในการจ่ายเงินชดเชยจำนวน 15,000,000 บาท ตามผลการเจรจาที่ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการเจ้าหนี้แล้วนั้นบริษัท น.ได้รับมอบหมายจากบริษัท ก. ให้เป็นผู้จ่ายเงินจำนวนดังกล่าว และออกภาษีหัก ณ ที่จ่ายให้นายม.จำนวน 8,052,968.25 บาท ด้วย ซึ่งหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ได้ออกในนามบริษัท น.ในฐานะเป็นผู้หักภาษี ณ ที่จ่าย 4.เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2550 นายม.ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.91 สำหรับปีภาษี 2549 ขอคืนภาษีที่ชำระไว้เกินจำนวน 4,113,983.87 บาท โดยตามแบบดังกล่าว นาย ม.ได้แสดงเงินได้พึงประเมินดังนี้ (1)เงินเดือน จำนวน 12,546,219.58 บาท (2)ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ที่นายจ้างออกให้ (สำหรับเงินเดือน) จำนวน 5,929,873.01 บาท (3)เงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน จำนวน 15,000,000 บาท (4)ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ที่นายจ้างออกให้ (สำหรับเงินชดเชย) จำนวน 8,052,968.25 บาท ในใบแนบแบบแสดงรายการดังกล่าว นาย ม.ได้นำเงินชดเชยจำนวน 15,000,000 บาท บวกกับภาษีที่นายจ้างออกให้จำนวน 8,052,983.25 บาท มาคำนวณเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานตามมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งมีผลให้ภาษีที่ถูกหักไว้แล้วสูงเกินไป จึงมีภาษีขอคืนดังกล่าว | แนววินิจฉัย | นาย ม.เป็นกรรมการของบริษัท ก. ซึ่งเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท น.แต่ไม่สามารถบริหารแผนฟื้นฟูกิจการได้สำเร็จตามที่กำหนดได้ จึงไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ จากการเป็นกรรมการบริษัท ก. ตามข้อตกลงที่ได้ทำไว้ต่อกัน และต่อมาคณะกรรมการเจ้าหนี้ของบริษัท น.ได้เจรจาให้นายม.ยอมลาออกจากการเป็นกรรมการของบริษัท ก. โดยให้บริษัท น.จ่ายเงินชดเชยจากการสิ้นสุดในฐานะกรรมการของบริษัทผู้รับจ้างบริหารแผนฟื้นฟูกิจการแก่นาย ม.ดังนี้ เงินที่ได้รับในกรณีดังกล่าวจึงเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร นาย ม.ต้องนำเงินได้พึงประเมินดังกล่าว มารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับปีที่ได้รับเงินได้พึงประเมินนั้น | เลขตู้ | : 77/39177 |