เมนูปิด
Untitled Document
เลขที่หนังสือ: กค 0702/5199
วันที่: 2 กรกฎาคม 2557
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม และอากรแสตมป์ กรณีการจ่ายค่าบริการให้กับบริษัทต่างประเทศ
ข้อกฎหมาย: การจ่ายค่าบริการให้กับบริษัทต่างประเทศ
ข้อหารือ           1.จำหน่าย นำเข้าส่งออก กรดอะมิโนสำหรับเภสัชกรรม เอพีไอ เครื่องสำอาง เคมีภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์อาหาร วัตถุเจือปนอาหาร ผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ อาหารเสริม อาหารสัตว์ และวัตถุเจือปนอาหารสัตว์
          2. เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2556 บริษัทฯ ได้ทำสัญญาให้บริการ กับ บริษัท ("ก." หรือ ผู้ให้บริการ) จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายญี่ปุ่น โดยสัญญาให้บริการกำหนดว่า ผู้ให้บริการเป็นผู้ประสานงานในการจัดซื้อ ตรวจสอบการออกแบบ และควบคุมคุณภาพการผลิตถังบรรจุสารเคมี จำนวน 29 ใบ และเครื่องกวน จำนวน 19 เครื่อง กับบริษัทผู้ผลิตในประเทศจีน (รายละเอียดปรากฏในเอกสารแนบท้ายสัญญาให้บริการ) บริษัทฯ ตกลงจะชำระค่าบริการให้แก่ผู้ให้บริการเป็นงวด ๆ ตามที่กำหนดในสัญญาให้บริการ จำนวนทั้งสิ้น 14,000,000 เยนไม่รวมภาษี
          3. บริษัทฯ จึงขอทราบว่า
               3.1 การให้บริการดังกล่าวไม่อยู่ในนิยามความหมายของคำว่า "ค่าสิทธิ" ตามเงื่อนไขของข้อ 12 แห่งอนุสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ บริษัทฯ ผู้จ่ายเงินได้จึงไม่มีหน้าที่หักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายนั้น ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร แม้ว่าจะถือเป็นกำไรจากธุรกิจซึ่งผู้ให้บริการจะต้องนำมาเป็นรายได้ของผู้ให้บริการตามประมวลรัษฎากร ก็ไม่อาจบังคับได้ เนื่องจากผู้ให้บริการไม่มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย ใช่หรือไม่
               3.2 เมื่อบริษัทฯ ชำระค่าบริการให้แก่ผู้ให้บริการ บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 83/6 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ใช่หรือไม่
               3.3 เนื่องจากสัญญาให้บริการดังกล่าวจัดทำขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่น และการให้บริการตามสัญญาก็กระทำนอกราชอาณาจักร บริษัทฯ จึงได้รับยกเว้นไม่มีหน้าที่ต้องชำระอากรแสตมป์ตามข้อ 4แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ใช่หรือไม่
แนววินิจฉัย           1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณี ก. ให้บริการเป็นผู้ประสานงานในการจัดซื้อ ตรวจสอบการออกแบบ และควบคุมคุณภาพการผลิตถังบรรจุสารเคมี จำนวน 29 ใบ และเครื่องกวน จำนวน 19 เครื่อง กับบริษัทผู้ผลิตในประเทศจีน แทนบริษัทฯ เพื่อให้ได้อุปกรณ์ตามที่บริษัทฯ ต้องการตามรายละเอียดแนบท้ายสัญญาให้บริการ ลงวันที่ 21 พฤษภาคม 2556 หากการให้บริการตามสัญญาดังกล่าว ไม่มีการให้แผนผัง สูตร หรือกรรมวิธีลับใด ๆ หรือสิทธิในการใช้ข้อสนเทศเกี่ยวกับประสบการณ์ทางอุตสาหกรรม การพาณิชย์ หรือทางวิทยาศาสตร์ เงินได้จากการให้บริการดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นค่าตอบแทนจากการรับทำงานให้ ถือเป็นกำไรจากธุรกิจ ตามข้อ 7 แห่งอนุสัญญาฯ ประกอบกับมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่18) พ.ศ.2505 ดังนั้น หาก ก.ไม่มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทย บริษัทฯ ผู้จ่ายเงินค่าบริการดังกล่าว จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่าย ตามมาตรา 70แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างใด
          2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม การให้บริการที่ ก. ได้กระทำให้แก่บริษัทฯ คือ เป็นผู้ประสานงานในการจัดซื้อ ตรวจสอบการออกแบบ และควบคุมคุณภาพการผลิตถังบรรจุสารเคมี จำนวน 29 ใบ และเครื่องกวน จำนวน 19 เครื่อง กับบริษัทผู้ผลิตในประเทศจีน แทนบริษัทฯ เพื่อให้ได้อุปกรณ์ที่บริษัทฯ ต้องการเข้าลักษณะเป็นการให้บริการที่กระทำในต่างประเทศ และมิได้มีการนำผลของบริการมาใช้ในราชอาณาจักร จึงเป็นการให้บริการของผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักร โดยไม่มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร เมื่อบริษัทฯ จ่ายเงินค่าบริการ จึงไม่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 83/6(2) แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างใด
          3. อากรแสตมป์ บริษัทฯ ได้ทำสัญญาให้บริการ กับ ก. ที่ประเทศญี่ปุ่น เพื่อให้ ก.เป็นผู้ประสานงานในการจัดซื้อ ตรวจสอบการออกแบบ และควบคุมคุณภาพการผลิตถังบรรจุสารเคมี จำนวน29 ใบ และเครื่องกวน จำนวน 19 เครื่อง กับบริษัทผู้ผลิตในประเทศจีน แทนบริษัทฯ เพื่อให้ได้อุปกรณ์ที่บริษัทฯ ต้องการ เข้าลักษณะเป็นสัญญารับจ้างทำของ แต่เนื่องจากสัญญา และการดำเนินการตามสัญญามิได้กระทำในประเทศไทย สัญญารับจ้างทำของดังกล่าว จึงไม่อยู่ในบังคับต้องเสียอากรแสตมป์ ตามลักษณะแห่งตราสาร 4 . จ้างทำของ ของบัญชีอัตราอากรแสตมป์ แต่อย่างใด
เลขตู้: 77/39178

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020