เมนูปิด
Untitled Document
เลขที่หนังสือ: กค 0702/6119
วันที่: 26 สิงหาคม 2557
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการได้รับสิทธิในการยกเว้นภาษีเงินได้ตามโครงการบ้านหลังแรก
ข้อกฎหมาย: ตามมาตรา 47(1)(ซ) แห่งประมวลรัษฎากร ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้(ฉบับที่ 213)ฯ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 233)ฯ
ข้อหารือ           นาย พ.และภริยาได้จดทะเบียนสมรส ในปี พ.ศ. 2554 ในปี 2550 ภริยาของนาย พ.ได้ทำนิติกรรมซื้อที่อยู่อาศัย (บ้านเดี่ยว) โดยเป็นผู้กู้เพียงผู้เดียว และใช้สิทธิลดหย่อนภาษีปกติ (สูงสุด 100,000 บาท ต่อปี) ถึงปัจจุบัน บ้านยังติดจำนองกับธนาคาร ภริยาของนาย พ.มีชื่อเป็นเจ้าบ้านทะเบียนบ้านหลังดังกล่าว ในปี 2555 นาย พ.ได้ทำนิติกรรมซื้อที่อยู่อาศัย (บ้านเดี่ยว) มูลค่าไม่เกินห้าล้านบาท เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย โดยนาย พ.เป็นผู้กู้เพียงผู้เดียว นาย พ.ไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยมาก่อน และนาย พ.ได้โอนชื่อของนาย พ.จากทะเบียนบ้านอื่นมาเป็นเจ้าบ้านตามทะเบียนบ้านหลังที่ซื้อดังกล่าวนาย พ.ขอให้วินิจฉัยและชี้แจงแนวปฏิบัติในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับปี 2555 และปีต่อๆ ไป ว่าถูกต้องหรือไม่
               1. นาย พ.และภริยา ต่างฝ่ายต่างมีหน้าที่ยื่นรายการและเสียภาษีเงินได้ในนามตนเอง ตาม คำชี้แจงกรมสรรพากร เรื่อง แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากสามีและภริยา ลงวันที่ 19 กันยายน 2555 ถูกต้องหรือไม่
               2. นาย พ.ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการซื้ออสังหาริมทรัพย์ ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 213) เรื่อง กำหนดวิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุด เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย ลงวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2555 โดยไม่ต้องปฏิบัติตามข้อ 1(6)(7)(8) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ฉบับดังกล่าว ใช่หรือไม่
               3. นาย พ.และภริยา ยังคงได้รับสิทธิในการหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมตามมาตรา 47(1)(ซ) แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะบ้านหลังที่นาย พ.และภริยา ต่างฝ่ายต่างได้ทำนิติกรรม หรือไม่
แนววินิจฉัย           กรณีผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาที่ซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดินหรือห้องชุดในอาคารชุดที่มีมูลค่าไม่เกินห้าล้านบาท เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของตน ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ตามมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 528) พ.ศ. 2554 และกรณีตามข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นอาจพิจารณา ดังนี้
               1. กรณีนาย พ.และภริยา ที่ต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ ในปีภาษี 2555 นาย พ.และภริยาต่างมีหน้าที่ยื่นรายการและเสียภาษีเงินได้ในนามตนเอง ตามข้อ 1 ของคำชี้แจงกรมสรรพากร เรื่อง แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากสามีและภริยา ลงวันที่ 19 กันยายน 2555
               2. ในปี 2555 นาย พ.ได้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดิน (บ้านเดี่ยว) แต่เพียงผู้เดียว หากเป็นการซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดินที่มีมูลค่าไม่เกินห้าล้านบาท เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นไปตามวิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 213)ฯ ลงวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2555 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 233)ฯ ลงวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2556 โดยนาย พ.และภริยาต่างฝ่ายต่างยื่นรายการและเสียภาษีในนามของตนเอง นาย พ.เป็นผู้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการซื้ออสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว ตามข้อ 1(7)(ก) ของประกาศฯ ฉบับดังกล่าว
               3. นาย พ.และภริยา ต่างฝ่ายต่างได้รับสิทธิหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่าซื้อหรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดินที่นาย พ.และภริยา ต่างฝ่ายต่างทำนิติกรรม เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของตน ตามมาตรา 47(1)(ซ) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 77/39230

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020