เลขที่หนังสือ | : กค 0702/5745 | วันที่ | : 15 สิงหาคม 2557 | เรื่อง | : ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีการขอยกเลิกการหักภาษี ณ ที่จ่าย | ข้อกฎหมาย | : ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย | ข้อหารือ | นาย ก. ปัจจุบันเป็นข้าราชการบำนาญ สังกัดคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) รับเงินเดือนโดยตรงจากกรมบัญชีกลาง เดือนละ28,148.55 บาท หักภาษีหัก ณ ที่จ่าย 564.86 บาท คงเหลือรับจริง 27,583.69 บาท แต่เนื่องจากนาย ก.เป็นข้าราชการบำนาญที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 65 ปีบริบูรณ์ รัฐบาลให้สิทธิยกเว้นเงินได้ไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้ที่ผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยและมีอายุไม่ไม่ต่ำกว่า 65 ปีบริบูรณ์ ได้รับเฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 190,000 บาท ในปีภาษีซึ่งคำนวณภาษีแล้ว นาย ก.ก็ไม่มีภาษีที่ต้องชำระ แต่กรมสรรพากรก็ยังคงให้กรมบัญชีกลางผู้จ่ายเงินได้จะต้องคำนวณหักภาษี ณ ที่จ่าย จากเงินได้ทุกเดือน เดือนละ 564.86 บาท กรณีดังกล่าว ทำให้นาย ก.ต้องขอคืนเงินภาษีที่ได้ถูกหักไว้พร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการภาษีตอนสิ้นปี ทำให้สูญเสียรายได้ที่มีไว้ในยามชราภาพในแต่ละเดือน จึงขอความอนุเคราะห์ เพื่อเป็นสวัสดิการแก่ข้าราชการบำนาญที่จะได้มีเงินไว้ใช้ในยามชราภาพให้กรมสรรพากรยกเลิกการหักภาษี ณ ที่จ่าย ในแต่ละเดือนดังกล่าว | แนววินิจฉัย |
1. กรณีนาย ก.เป็นข้าราชการบำนาญที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 65 ปีบริบูรณ์ ได้รับสิทธิยกเว้นเงินได้ไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้พึงประเมินทุกประเภทที่ได้รับรวมกันไม่เกิน 190,000 บาท ในปีภาษี ตามข้อ 2 (72) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 257 (พ.ศ. 2549)ฯ และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 150) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้ที่ผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย และมีอายุไม่ต่ำกว่าหกสิบห้าปีบริบูรณ์ในปีภาษีที่ได้รับ ลงวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2549 โดยกำหนดให้ผู้ที่ได้รับสิทธิในกรณีดังกล่าวต้องแสดงเงินได้ที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นพร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพื่อให้ผู้มีเงินได้ได้แสดงเงินได้ที่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีว่า จะยกเว้นภาษีสำหรับเงินได้พึงประเมินประเภทใด เป็นจำนวนเท่าใด โดยมีจำนวนรวมกันแล้วไม่เกิน 190,000 บาท ซึ่งเป็นสิทธิตามกฎหมายฉบับดังกล่าว ทั้งนี้ เงินได้ประเภทใดที่ได้รับจากผู้จ่ายเงินได้ และมีกฎหมายกำหนดให้ผู้จ่ายเงินได้ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย เช่น เงินเดือนค่านายหน้า ค่าเบี้ยประชุม ค่าที่ปรึกษา ดอกเบี้ย เงินปันผล ค่าเช่า ค่าวิชาชีพอิสระ เป็นต้น ผู้จ่ายเงินได้จึงยังคงมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามกฎหมายตามปกติ โดยผู้มีเงินได้ที่ได้รับสิทธิในกรณีดังกล่าว และถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ก็ต้องนำรายการเงินได้ที่ได้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้นั้น มาแสดงในแบบแสดงรายการภาษี และหากคำนวณภาษีแล้วมีภาษีที่ต้องขอคืน ผู้มีเงินได้ก็มีสิทธิยื่นขอคืนในปีภาษีถัดจากปีที่ได้รับเงินได้ ตามแนวทางปกติต่อไป กรณีตามข้อเท็จจริงข้างต้น กรมบัญชีกลางซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้ก็จะคำนวณหักภาษี ณ ที่จ่าย ที่ได้จ่ายทุกเดือน และผู้มีเงินได้ดังกล่าวก็ต้องนำเงินได้ที่ได้รับในปีภาษีมาแสดงในแบบแสดงรายการ เพื่อคำนวณเสียภาษีตอนสิ้นปีและขอคืนเงินภาษีที่ได้ถูกหักไว้พร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการภาษีนั้น โดยจะได้รับคืนเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้นในปีถัดไป
2. กรณีที่นาย ก.อ้างว่า การปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว ทำให้สูญเสียรายได้ที่มีไว้ในยามชราภาพในแต่ละเดือน เนื่องจากถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ทุกเดือน จึงต้องการให้ได้รับยกเว้นเงินได้จำนวน 190,000 บาทในกรณีตาม 1. ไว้ในขั้นตอนของการคำนวณหักภาษี ณ ที่จ่าย ซึ่งเมื่อคำนวณภาษีออกมาแล้ว นาย ก.จะไม่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ไม่มีภาษีที่ต้องเสีย และไม่ต้องขอคืนภาษี โดยต้องการให้มีการแก้ไขหลักเกณฑ์ของกฎหมายนั้น กรมสรรพากรไม่อาจดำเนินการได้ทันที เนื่องจากวัตถุประสงค์ในการยกเว้นภาษีเงินได้ดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายให้ผู้มีเงินได้ใช้สิทธิยกเว้นเงินได้เมื่อถึงกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการ จึงไม่อาจกำหนดให้ยกเว้นเงินได้ตั้งแต่ขณะที่มีการจ่ายเงินได้จากผู้จ่ายได้ ทั้งนี้ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ (1) หากจะแก้ไขกฎหมายโดยกำหนดให้ข้าราชการบำนาญซึ่งเป็นผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ได้รับสิทธิยกเว้นเงินได้ 190,000 บาท ในขั้นตอนการคำนวณหักภาษี ณ ที่จ่าย ย่อมก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมและความไม่เสมอภาคต่อผู้มีเงินได้พึงประเมินประเภทอื่นที่มิใช่ผู้มีเงินได้ตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากผู้มีเงินได้พึงประเมินประเภทอื่นยังคงต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย และต้องแสดงรายการเงินได้และการยกเว้นเงินได้ในการยื่นแบบแสดงรายการภาษี เช่น ดอกเบี้ยเงินฝากประจำ ตามมาตรา 40 (4) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร ค่าเช่า ตามมาตรา 40 (5) แห่งประมวลรัษฎากรค่าวิชาชีพอิสระ ตามมาตรา 40 (6) แห่งประมวลรัษฎากร เงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ ตามมาตรา 40 (8)แห่งประมวลรัษฎากร เป็นต้น กรณีจึงไม่อาจกระทำได้ (2) หากจะแก้ไขกฎหมาย โดยกำหนดให้สิทธิยกเว้นเงินได้ในกรณีดังกล่าวแก่ผู้มีเงินได้พึงประเมินทุกประเภท (ไม่เฉพาะแต่ผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ประเภทเดียว) ให้ได้รับสิทธิยกเว้นเงินได้นั้นในขั้นตอนการคำนวณหักภาษี ณ ที่จ่าย อาจก่อให้เกิดปัญหาหลายประการ เนื่องจากผู้มีเงินได้พึงประเมินแต่ละคนมีเงินได้ที่ได้รับแตกต่างกัน บางคนอาจได้รับเงินได้พึงประเมินหลายประเภทในปีภาษี และอาจได้รับเงินได้พึงประเมินจากผู้จ่ายมากกว่า 1 คน ดังนั้น หากกำหนดให้การได้รับสิทธิยกเว้นเงินได้ในกรณีดังกล่าวนำไปใช้ในขั้นตอนของการคำนวณหักภาษี ณ ที่จ่าย และผู้จ่ายเงินได้ทุกรายของผู้มีเงินได้พึงประเมิน ได้นำสิทธิการยกเว้นเงินได้ 190,000 บาท มาคำนวณในขั้นตอนการหักภาษี ณ ที่จ่ายของผู้มีเงินได้นั้น อาจมีผลให้ผู้จ่ายเงินได้ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ต้องรับผิด กรณีหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ไม่ถูกต้อง ตามมาตรา 54 แห่งประมวลรัษฎากร และเกิดการใช้สิทธิยกเว้นเงินได้ซ้ำซ้อนไม่ถูกต้อง ก่อให้เกิดผลเสียหายต่อรายได้และการจัดเก็บภาษีของรัฐ 3. กรณีการจะกำหนดให้สิทธิผู้มีอายุไม่ต่ำกว่า 65 ปีบริบูรณ์ ได้รับยกเว้นเงินได้จำนวน190,000 บาท ในลักษณะของการหักลดหย่อน (หักลดหย่อนเงินได้ของผู้สูงอายุ) เช่นเดียวกันกับการหักลดหย่อนผู้มีเงินได้ 30,000 บาท ตามมาตรา 47 (1) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร เพื่อบรรเทาภาระภาษีตามสถานภาพของผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งจะต้องตราเป็นพระราชบัญญัติเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร แต่เนื่องจากนโยบายที่เร่งด่วนของรัฐบาลที่ต้องการให้ผู้สูงอายุได้รับสิทธิดังกล่าว โดยไม่ต้องรอการแก้ไขประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นกฎหมายลำดับชั้นพระราชบัญญัติที่ต้องใช้ระยะเวลาในการเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติ จึงได้ออกกฎหมายในลักษณะของการยกเว้นเงินได้ที่ไม่ต้องนำมารวมคำนวณภาษี ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 257 (พ.ศ.2549)ฯ และกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การได้รับสิทธิยกเว้นในกรณีดังกล่าว ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 150)ฯ ลงวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2549 ดังนั้น เมื่อมีการออกกฎหมายในลักษณะเป็นการยกเว้นภาษีเงินได้สภาพบังคับของกฎหมาย จึงมีลักษณะตามที่กลาวแล้วใน 1. และ 2. | เลขตู้ | : 77/39206 |