“ร้อยเรื่องลดหย่อน ปีภาษี 2560”
1. ชื่อเรื่อง : หลักเกณฑ์การหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดา/มารดา
คำถาม : การหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดา/มารดาต้องมีหลักเกณฑ์อย่างไร
คำตอบ : การหักค่าลดหย่อนบิดามารดาของผู้มีเงินได้ รวมทั้งบิดามารดาของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ ตามมาตรา 47(1)(ญ) แห่งประมวลรัษฎากร มีหลักเกณฑ์ดังนี้ ตามประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 136)
1. หักลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท
2. บิดามารดามีอายุ 60 ปีขึ้นไป และอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้มีเงินได้ (ไม่จำเป็นต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเดียวกันกับผู้มีเงินได้)
3. บิดามารดามีเงินได้พึงประเมิน ไม่เกิน 30,000 บาท
4. ผู้มีเงินได้ต้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดามารดา เช่น บิดามารดาจดทะเบียนสมรส / บิดาจดทะเบียน รับรองบุตร (หมายเหตุ บุตรบุญธรรม ไม่สามารถหักลดหย่อนบิดามารดาบุญธรรมได้)
5. หากผู้มีเงินได้มิได้เป็นผู้อยู่ในไทย ให้หักลดหย่อนได้เฉพาะบิดามารดาที่อยู่ในไทย
6. ผู้มีเงินได้ต้องระบุเลขประจำตัวประชาชนของบิดามารดา ในแบบแสดงรายการฯ ด้วย
7. หลักฐานการหักลดหย่อนบิดามารดา
หนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา (แบบ ล.ย.03) เป็นภาษาไทย (หมายเหตุ ถ้าเป็นภาษาต่างประเทศต้องมีคำแปลภาษาไทยด้วย)
8. กรณีบิดามารดามีบุตรหลายคน ให้บุตรเพียงคนเดียวที่มีหนังสือรับรองฯ (แบบ ล.ย.03) เป็นผู้มีสิทธิหักลดหย่อน
9. การหักค่าลดหย่อนบิดามารดา ให้หักได้ตลอดปีภาษี ไม่ว่ากรณีที่จะหักลดหย่อนได้นั้น จะมีอยู่ตลอดปีภาษีหรือไม่
2.ชื่อเรื่อง : มารดาไม่มีเงินได้ บิดาใช้สิทธิหักค่าลดหย่อนมารดาในฐานะคู่สมรส บุตรผู้มีเงินได้ใช้สิทธิหักลดหย่อนอุปการะเลี้ยงดูมารดาได้
คำถาม : สามีมีเงินได้ แต่ภริยาไม่มีเงินได้ สามีได้นำภริยามาหักค่าลดหย่อน 60,000 บาท ในฐานะคู่สมรส บุตรมีเงินได้ได้นำมารดามาหักค่าลดหย่อนในฐานะบุพการีอีก 30,000 บาท กรณีนี้สามารถหักค่าลดหย่อนในฐานะคู่สมรสและฐานะมารดาของผู้มีเงินได้ ใช่หรือไม่
คำตอบ : บุตรมีเงินได้สามารถนำมารดามาหักค่าลดหย่อนในฐานะบุพการีได้อีก 30,000 บาท ตามมาตรา 47(1)(ญ) แห่งประมวลรัษฎากร หากเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ตามประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 136)
3. ชื่อเรื่อง : บิดา/มารดาตายในระหว่างปีภาษีนำมาหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาได้
คำถาม : กรณีบิดามารดาถึงแก่ความตายในระหว่างปีภาษี (เช่น ตายในเดือนกันยายน 2560) หรือก่อนการยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.91 บุตรจะใช้สิทธิหักลดหย่อนบิดามารดาได้หรือไม่
คำตอบ : กรณีบิดามารดาตายในระหว่างปีภาษี หรือก่อนการยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.91 ให้บุตรเพียงคนใดคนหนึ่งใช้สิทธิหักลดหย่อนได้โดยแนบ แบบ ล.ย.03 และสำเนาใบมรณะบัตร พร้อมกับการยื่นแบบฯ
4. ชื่อเรื่อง : บิดาหรือมารดาเป็นคนต่างด้าวนำมาหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาได้
คำถาม : กรณีบิดาหรือมารดาเป็นคนต่างด้าว บุตรสามารถนำมาหักลดหย่อนคนละ 30,000 บาท ได้หรือไม่ ถ้าได้จะใช้หนังสือทะเบียนต่างด้าวใช่หรือไม่ เพราะคนต่างด้าวไม่มีบัตรประชาชน
คำตอบ : การหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดาหรือมารดาที่เป็นคนต่างด้าว หากเข้าหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ตามประกาศอธิบดีฯ เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 136) และได้ขอมีเลขประจำตัวประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรประกอบแบบหนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา (แบบ ล.ย.03) ใช้เป็นหลักฐานประกอบการหักลดหย่อนได้
5. ชื่อเรื่อง : คู่สมรส บุตรและบุพการีที่อยู่ต่างประเทศ ของผู้มีเงินได้ชาวต่างชาติซึ่งเป็นผู้อยู่ในประเทศหักลดหย่อนได้
คำถาม : ชาวต่างชาติเข้ามาทำงานบริษัทในไทยเกิน 180 วัน มีเงินได้ประเภทเงินเดือน ภริยา บุตร บุพการี อยู่ต่างประเทศไม่มีเงินได้ บุตรเรียนหนังสือที่ต่างประเทศและบุพการีอายุเกิน 60 ปี มีสิทธิหักลดหย่อนภริยา บุตร และบุพการี ได้เท่าใด
คำตอบ : กรณีชาวต่างชาติเข้ามาทำงานในไทยเกิน 180 วัน ถือว่าผู้มีเงินได้เป็นผู้อยู่ในไทย สามารถหักลดหย่อนภริยาได้ ไม่ว่าภริยาจะอยู่ในไทยหรืออยู่ต่างประเทศ โดยหักลดหย่อนภริยาได้จำนวน 60,000 บาท และสามารถหักลดหย่อนบุตรได้ ไม่ว่าบุตรจะอยู่ในไทยหรืออยู่ต่างประเทศโดยหักลดหย่อนบุตรได้อีกคนละ 30,000 บาท ทั้งนี้ ตามมาตรา 47(1)(ข) และ (ค) แห่งประมวลรัษฎากร
สำหรับการหักลดหย่อนบิดามารดาของผู้มีเงินได้ชาวต่างชาติจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ตามประกาศอธิบดีฯ เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 136) โดยบิดามารดาจะต้องมีเลขประจำตัวประชาชน ตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร ประกอบแบบหนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา (แบบ ล.ย.03) ด้วย หากไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ก็ไม่สามารถหักลดหย่อนบิดามารดาได้
6. ชื่อเรื่อง : มารดาเป็นข้าราชการบำนาญ แต่บิดาไม่มีเงินได้ หักลดหย่อนบิดาได้
คำถาม : มารดาเป็นข้าราชการบำนาญ แต่บิดาไม่มีเงินได้บุตรสามารถนำบิดามาหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูได้หรือไม่
คำตอบ : บุตรสามารถนำบิดามาหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูได้จำนวน 30,000 บาท เนื่องจากบิดาไม่มีเงินได้พึงประเมิน
7 . ชื่อเรื่อง : ผู้มีเงินได้เป็นบุตรบุญธรรม หักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาผู้รับบุตรบุญธรรมไม่ได้
คำถาม : กรณีเป็นบุตรบุญธรรม สามารถนำบิดามารดาผู้รับเป็นบุตรบุญธรรมมาหักลดหย่อนได้หรือไม่
คำตอบ : บุตรบุญธรรมไม่สามารถนำบิดามารดาซึ่งเป็นผู้รับบุตรบุญธรรมมาหักลดหย่อนได้ เพราะการหักค่าลดหย่อนในกรณีนี้ผู้มีเงินได้ต้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดามารดาที่ผู้มีเงินได้ใช้สิทธิหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูเท่านั้น (ไม่รวมบุตรบุญธรรม)
8 . ชื่อเรื่อง : ภริยามีเงินได้แยกยื่นเสียภาษี สามีหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาของภริยาไม่ได้
คำถาม : กรณีสามีภริยามีเงินได้ทั้ง 2 คน และความเป็นสามีภริยามีอยู่ตลอดปีภาษี โดยภริยาใช้สิทธิมีเงินได้แยกคำนวณภาษี บิดามารดาของภริยาสามารถนำมาหักลดหย่อนในช่องการคำนวณของสามีได้หรือไม่ เนื่องจากภริยามีเงินได้น้อย ไม่
คำตอบ : หากสามีและภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ และภริยาใช้สิทธิแยกคำนวณภาษีเงินได้โดยแยกยื่นแบบแสดงรายการ กรณีสามีภริยามีเงินได้ทั้งสองฝ่าย ให้ต่างฝ่ายต่างหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาของตนได้คนละ 30,000 บาท สามีจึงไม่สามารถหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาของภริยา
9 . ชื่อเรื่อง : ผู้มีเงินได้อุปการะเลี้ยงดูมารดาของอดีตสามีหักลดหย่อนไม่ได้
คำถาม : กรณีสามีได้ทำการหย่าจากภริยาแล้วก่อนที่สามีจะเสียชีวิต แต่ปัจจุบันภริยายังต้องเลี้ยงดูมารดาของสามี กรณีนี้ลดหย่อนได้หรือไม่อย่างไร
คำตอบ : 1. กรณีคู่สมรสไม่มีเงินได้ ในปีที่หย่าหรือเสียชีวิต ผู้มีเงินได้สามารถหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาของคู่สมรสได้ ตามมาตรา 47(1) แห่งประมวลรัษฎากร และประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 136) แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 230) โดยหักลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท
2. ในปีต่อไป ความเป็นสามีภริยาสิ้นสุดลงด้วยความตายหรือการหย่า ตามมาตรา 1501 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น ภริยาไม่มีสิทธิหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาของอดีตสามีได้
10 . ชื่อเรื่อง : บิดามารดามีรายได้จากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์และมีกำไรจากการซื้อขายหุ้นหักลดหย่อนไม่ได้
คำถาม : กรณีบิดามารดามีอายุเกิน 60 ปี ไม่มีเงินได้ประจำ แต่มีการซื้อขายในตลาดหุ้นและมีกำไรจากการซื้อขาย ถือเป็นเงินได้ของบิดามารดาหรือไม่ และสามารถนำมาหักลดหย่อนบิดามารดาได้หรือไม่
คำตอบ : กำไรที่ได้จากการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ถือเป็นเงินได้ของบิดามารดา หากมีจำนวนไม่เกิน 30,000 บาทในปีภาษีที่ขอหักลดหย่อน ผู้มีเงินได้สามารถนำบิดามารดามาหักลดหย่อนได้
11 . ชื่อเรื่อง : บิดามารดามีชื่ออยู่ในคณะบุคคล/ห้างหุ้นส่วนสามัญ ถ้าได้รับส่วนแบ่งกำไรเกิน 30,000 บาท หักค่าลดหย่อนอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาไม่ได้
คำถาม : บิดามารดา อายุเกิน 60 ปี มีชื่ออยู่ในคณะบุคคล/ห้างหุ้นส่วนสามัญ และมีรายได้เกิน 30,000 บาท บุตรสามารถหักลดหย่อนสำหรับค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาได้หรือไม่
คำตอบ : กรณีบิดามารดา อายุเกิน 60 ปี มีชื่ออยู่ในคณะบุคคล/ห้างหุ้นส่วนสามัญ บุตรสามารถนำบิดามารดามาหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาได้ ตามมาตรา 47(1)(ญ) แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากเงินได้ของคณะบุคคล/ห้างหุ้นส่วนสามัญต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในนามคณะบุคคล/ห้างหุ้นส่วนสามัญ
หากคณะบุคคล/ห้างหุ้นส่วนสามัญนำเงินได้มาแบ่งกันตามส่วน โดยแต่ละคนมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ขอหักลดหย่อนเกิน 30,000 บาท ขึ้นไป บุตรไม่สามารถนำบิดามารดามาหักลดหย่อน สำหรับค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา เนื่องจากกฎหมายมิได้กำหนดว่า เงินได้พึงประเมินของบิดามารดาจะต้องมิใช่เงินได้ที่ได้รับยกเว้น ตามประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 136)แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 230)
12 . ชื่อเรื่อง : พี่น้องหลายคนลดหย่อนอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา ใช้สิทธิได้เพียงคนเดียว
คำถาม : กรณีบิดามารดามีบุตรที่ดูแลเลี้ยงดูบิดามารดาหลายคน บุตรจะสามารถนำมาหักลดหย่อนสลับกันคนละปีได้หรือไม่
คำตอบ : กรณีผู้มีเงินได้หลายคนอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาคนเดียวกัน ให้ผู้มีเงินได้คนใดคนหนึ่งเพียงคนเดียวที่มีหลักฐานรับรองการอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาเป็นผู้มีสิทธิหักลดหย่อนดังกล่าวในแต่ละปีภาษีได้ โดยใช้แบบหนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา (แบบ ล.ย.03) เป็นหลักฐานประกอบการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
13 . ชื่อเรื่อง : บิดามารดาไม่ได้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเดียวกันกับผู้มีเงินได้ หักลดหย่อนได้
คำถาม : การหักลดหย่อนสำหรับค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา บิดามารดาต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเดียวกันหรือไม่
คำตอบ : การหักลดหย่อนบิดามารดาไม่ต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเดียวกันกับผู้มีเงินได้ หากเข้าหลักเกณฑ์ก็สามารถหักลดหย่อนได้
14 . ชื่อเรื่อง : ลดหย่อนบิดามารดา ปีนี้ใช้สิทธิลดหย่อนบิดา ปีหน้าจะใช้สิทธิลดหย่อนมารดา ได้
คำถาม : การหักลดหย่อนสำหรับค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา หากปีภาษีก่อนใช้สิทธิลดหย่อนบิดา ถ้าในปีต่อไปจะเปลี่ยนมาใช้สิทธิมารดาโดยให้พี่หรือน้องใช้สิทธิลดหย่อนบิดา ทำได้หรือไม่
คำตอบ : การหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา ผู้มีเงินได้ที่เป็นบุตรสามารถตกลงกันเพื่อใช้สิทธิลดหย่อนในแต่ละปีภาษี ได้