“ร้อยเรื่องลดหย่อน ปีภาษี 2560”
1.ชื่อเรื่อง : ภริยามีเงินได้หลายประเภทซื้อหน่วยลงทุน RMF และ LTF ได้ตามสัดส่วน
คำถาม : ภริยามีเงินได้ประเภทเงินเดือนและเงินปันผล สามีมีเงินเดือนอย่างเดียว การซื้อหน่วยลงทุนของกองทุน RMF และ LTF ของภริยาจะซื้อได้ อัตราร้อยละ 15 จากเงินได้เงินเดือนรวมกับเงินปันผลหรือไม่
คำตอบ : การซื้อหน่วยลงทุนของกองทุน RMF และ LTF เป็นสิทธิของผู้มีเงินได้ เมื่อภริยาเป็นผู้มีเงินได้ แม้จะยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 ในนามของสามี สิทธิดังกล่าวยังเป็นของภริยาอยู่เช่นเดิม ภริยาสามารถซื้อได้ตามสัดส่วนของเงินได้ของตนเอง
2.ชื่อเรื่อง : ผู้สูงอายุ 65 ปี ซื้อหน่วยลงทุน RMF และ LTF คำนวณจากเงินได้ก่อนหักยกเว้น 190,000 บาท
คำถาม : การยกเว้นภาษีสำหรับการซื้อหน่วยลงทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่หักได้ในอัตราไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้นั้น คำนวณจากเงินได้หลังหรือก่อนหักการยกเว้นภาษี กรณีเงินได้สำหรับผู้สูงอายุที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 65 ปีบริบูรณ์
คำตอบ : กรณีซื้อหน่วยลงทุนใน (RMF) หรือ (LTF) ที่ผู้มีเงินได้ได้รับยกเว้นภาษีให้ยกเว้นได้ไม่เกินอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมินก่อนหักยกเว้นภาษีกรณีผู้มีเงินได้อายุไม่ต่ำกว่า 65 ปีบริบูรณ์ในปีภาษีที่ได้รับ
3.ชื่อเรื่อง : ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ในต่างประเทศและประกันชีวิตส่วนบุคคลในต่างประเทศหักลดหย่อนไม่ได้
คำถาม : กรณีซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ในต่างประเทศและประกันชีวิตส่วนบุคคลในต่างประเทศสามารถนำมาลดหย่อน ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้หรือไม่
คำตอบ : สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ผู้ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) จะต้องเป็นการซื้อหน่วยลงทุนจากกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพจากกองทุนที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นในประเทศเท่านั้น ส่วนกรณีการใช้สิทธิหักลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิต จะต้องเป็นการจ่ายเบี้ยประกันชีวิตให้แก่บริษัทที่ประกอบกิจการในไทย
4.ชื่อเรื่อง : ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมวายุภักษ์หนึ่ง หักลดหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุนไม่ได้
คำถาม : ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมวายุภักษ์หนึ่ง มีสิทธินำมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่
คำตอบ : การซื้อหน่วยลงทุนที่จะได้รับสิทธินำมาหักลดหย่อน ต้องเป็นการซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) หรือกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) เท่านั้น
5.ชื่อเรื่อง : ภริยาซื้อกองทุน RMF/LTF และแยกยื่นแบบสำหรับเงินได้ประเภทอื่น หักค่าลดหย่อนได้
คำถาม : กรณีสามีมีเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากรและภริยามีเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากรและประเภทอื่นซื้อกองทุนและแยกยื่นแบบ จะหักลดหย่อน LTF กับ RMF ได้อย่างไร
คำตอบ : กรณีสามีภริยา ต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ แยกยื่นรายการและเสียภาษี ให้ต่างฝ่ายต่างใช้สิทธิหักลดหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุนตามสัดส่วนเงินได้ของตน ในอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท ตามข้อ 2(55) และ (66) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509)
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2558 เป็นต้นไป ให้ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว ในอัตราไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมินที่ได้รับซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ในปีภาษีนั้น แต่ไม่เกิน 500,000 บาท สำหรับปีภาษีนั้น ตามข้อ 3 ของประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 257)
และยกเว้นภาษีเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ในอัตราไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมินที่ได้รับซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ในปีภาษีนั้น แต่ไม่เกิน 500,000 บาท สำหรับปีภาษีนั้น ตามข้อ 3 ของประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 259)
6 .ชื่อเรื่อง : โอนเงินลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) ไปยังกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ใช้สิทธิลดหย่อนไม่ได้
คำถาม : ผู้มีเงินได้โอนเงินลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) ไปยังกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ในปีที่มีการโอนกองทุนดังกล่าว ผู้มีเงินได้สามารถนำหน่วยลงทุนที่เกิดจากการโอนมาคำนวณเป็นค่าลดหย่อนในการยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 ได้หรือไม่
คำตอบ : ผู้มีเงินได้โอนเงินลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) ไปยังกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 324 (พ.ศ.2560) ประกอบกับประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 286) จะนำมาใช้สิทธิลดหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุน RMF ตามประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 171) ไม่ได้ เนื่องจากเป็นการได้มาจากการโอนหรือเกี่ยวเนื่องจากการโอนมาจากกองทุนสำรองลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไม่ได้เกิดจากการซื้อหน่วยลงทุน RMF ทั้งนี้ ตามข้อ 7/1 ของประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 171) แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 288)
7 .ชื่อเรื่อง : ลดหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุน RMF หลังจากจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพเกินกว่า 500,000 บาท
คำถาม : นาย ก จ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และมีการซื้อหน่วยลงทุน RMF ต่อเนื่องกันทุกปี มีจำนวนรวมกันไม่เกินกว่าร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมินที่ได้รับในแต่ละปี และเมื่อรวมกับเงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มีจำนวนไม่เกินกว่า 500,000 บาท ต่อมาปรากฏว่าเงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพในแต่ละปี มีจำนวนเกินกว่า 500,000 บาท นาย ก ยังคงต้องซื้อหน่วยลงทุน RMF ต่อไปหรือไม่ และหากมีการขายหน่วยลงทุนดังกล่าวจะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่
คำตอบ : การจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพในแต่ละปี เกินกว่า 500,000 บาท นาย ก จะไม่สามารถใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุน RMF ในปีภาษีที่ได้มีการจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพครบ 500,000 บาทแล้ว แต่เพื่อมิให้เสียสิทธิในการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุน RMF ในแต่ละปีภาษีที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไปแล้ว นาย ก ยังคงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุน RMF และการถือหน่วยลงทุน RMF ตามประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 171) ต่อไป
และเมื่อ นาย ก ขายหน่วยลงทุน RMF ดังกล่าว โดยได้ถือหน่วยลงทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี นับตั้งแต่วันซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรก และในขณะที่ขายหน่วยลงทุนมีอายุไม่น้อยกว่า 55 ปีบริบูรณ์ ผู้มีเงินได้ย่อมได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ได้รับเนื่องจากการขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ
8 .ชื่อเรื่อง : ค่าซื้อพันธบัตรรัฐบาล นำมาหักลดหย่อนเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไม่ได้
คำถาม : ซื้อพันธบัตรรัฐบาล สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้หรือไม่
คำตอบ : ไม่ได้ แต่ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และ ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ประกอบกับ ประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 169) และ (ฉบับที่ 171)
9 .ชื่อเรื่อง : เงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร ถือเป็นเงินได้พึงประเมินในการคำนวณซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม RMF/LTF
คำถาม : นาย ค ขายที่ดินที่ได้รับมรดกมา หากเลือกไม่นำมารวมคำนวณเสียภาษีตามแบบ ภ.ง.ด.90 สามารถนำเงินได้จากการขายดังกล่าว มาเป็นฐานคำนวณซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม RMF หรือ LTF ได้หรือไม่
คำตอบ : นาย ค มีรายการเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร ถือเป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับในปีภาษีนั้น ไม่ว่าผู้มีเงินได้จะเลือกเสียภาษีโดยไม่นำมารวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่นๆ หรือไม่ก็ตาม สามารถนำมารวมเป็นฐานในการคำนวณซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม RMF หรือ LTF ในปีภาษีนั้นได้
10 .ชื่อเรื่อง : ซื้อหน่วยลงทุน RMF ถ้าหยุดการซื้อ RMF เกินกว่า 1 ปีติดต่อกันถือว่าผิดหลักเกณฑ์
คำถาม : นาย ค ซื้อหน่วยลงทุน RMF ในปีภาษี 2558 ต่อมาในปีภาษี 2559 ไม่ได้ซื้อ และถ้าในปีภาษี 2560 จะไม่ซื้ออีก จะทำได้หรือไม่
คำตอบ : นาย ค ได้มีการซื้อหน่วยลงทุนในปีภาษี 2558 และได้ใช้สิทธิลดหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุนไปแล้วในปีภาษี 2558 ต่อมาในปีภาษี 2559 ไม่ได้ซื้อหน่วยลงทุน หากในปีภาษี 2560 นาย ค. จะไม่ซื้อหน่วยลงทุนอีก ถือว่าผิดเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่กำหนด เนื่องจากได้ระงับการซื้อติดต่อกันเกินกว่า 1 ปี ดังนั้น นาย ค. จะต้องทำการยื่นแบบแสดงรายการสำหรับภาษี 2558 เพื่อปรับปรุงรายการค่าลดหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุน โดยให้ยื่นแบบเพิ่มเติมสำหรับปีภาษี 2558 ภายในเดือนมีนาคม 2561 ทั้งนี้ ตามข้อ 9 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 171) ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2551 โดยไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม
11. เงินปันผลจาก BOI ไม่สามารถนำมาเป็นฐานในการคำนวณค่าซื้อหน่วยลงทุน RMF และ LTF
คำถาม : นาง ช. ได้รับเงินปันผลจากบริษัทที่ได้รับส่งเสริมการลงทุน (BOI) จำนวน 500,000 บาท สามารถนำมาเป็นฐานในการคำนวณค่าซื้อหน่วยลงทุน RMF และ LTF ได้หรือไม่
คำตอบ : นาง ช. ไม่สามารถนำเงินปันผลที่ได้รับจากบริษัทที่ได้รับส่งเสริมการลงทุน (BOI) มาใช้เป็นฐานในการคำนวณซื้อหน่วยลงทุน RMF และหน่วยลงทุน LTF เพื่อใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีได้ เนื่องจากเงินปันผลที่ได้รับนั้นเป็นเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้
12. ซื้อหน่วยลงทุน RMFทุกปี ตั้งแต่ปี 2551 ถึงปี 2559 จะขายในปี 2560 อายุครบ 55 ปี ได้รับยกเว้นค่าขายหน่วยลงทุน
คำถาม : นาง ฉ. ซื้อหน่วยลงทุน RMF ตั้งแต่ปี 2551 ถึงปี 2559 มีการซื้อและใช้สิทธิลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หากในปี 2560 ต้องการขายเพราะอายุครบ 55 ปี สามารถขายหน่วยลงทุนทั้งหมดได้หรือไม่ และต้องเสียภาษีเงินได้หรือไม่
คำตอบ : นาง ฉ ได้ซื้อหน่วยลงทุนโดยได้ถือหน่วยลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปีนับแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรก โดยได้ขายเมื่ออายุครบ 55 ปี เงินได้จากการขายหน่วยลงทุนถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(8) จะต้องนำไปแสดงในแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.90 โดยหักค่าซื้อหน่วยลงทุน สำหรับส่วนต่าง (capital gain) จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้
13. คณะบุคคลหรือห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล กองมรดกที่ยังมิได้แบ่ง ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
คำถาม : คณะบุคคลหรือห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล หรือกองมรดกที่ยังมิได้แบ่ง ได้ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) จะได้รับสิทธิยกเว้นด้วยหรือไม่
คำตอบ : ผู้มีเงินได้ที่จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) จะต้องถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปี นับตั้งแต่วันซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรก และไถ่ถอนหน่วยลงทุนดังกล่าวเมื่อผู้มีเงินได้มีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปี บริบูรณ์ ตามข้อ 2(55) ของกฎกระทรวง (ฉบับที่ 126) พ.ศ.2509 แก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อ 4 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 266 (พ.ศ.2551) ประกอบกับ ข้อ 1(2) ของประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 90)
ดังนั้น ผู้มีเงินได้ที่เป็นคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล หรือห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่คณะบุคคล หรือกองมรดกที่ยังมิได้แบ่งจึงไม่ได้รับสิทธิในการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ