“ร้อยเรื่องลดหย่อน ปีภาษี 2560”
1 .ชื่อเรื่อง : สามีมีเงินได้ไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.91 และภริยากู้ยืมเงินเพื่อซื้อบ้าน หักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท
คำถาม : สามีมีเงินได้จากเงินเดือนทั้งปี จำนวน 30,000 บาท และภริยามีเงินได้จากเงินเดือนทั้งปี จำนวน 120,000 บาท ภริยาทำสัญญากู้ยืมเงินเพื่อซื้อบ้านกับธนาคารและผ่อนชำระเงินกู้เพียงผู้เดียว ในการยื่นแบบ ภ.ง.ด. 91 ภริยาสามารถหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมดังกล่าวเพียงผู้เดียวทั้งจำนวน ถูกต้องหรือไม่
คำตอบ : ภริยาทำสัญญากู้ยืมเงินเพื่อซื้อบ้านกับธนาคารแต่เพียงผู้เดียว ภริยาสามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ตามที่จริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ตามมาตรา 47(1)(ซ) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(53) ของกฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509)
2.ชื่อเรื่อง : ภริยาไม่มีเงินได้ทำสัญญากู้ยืมเงินคนเดียว สามีไม่มีสิทธิหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืม
คำถาม : นาง ม. ภริยาของนาย ธ. ทำสัญญากู้ยืมเงินกับธนาคารเพียงคนเดียว โดยนาย ธ. มิได้เป็นผู้กู้ร่วม และนาง ม. ได้ใช้สิทธิหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมในปีภาษี 2559 ต่อมาในปีภาษี 2560 นาง ม.ไม่มีเงินได้ นาย ธ. สามารถใช้สิทธิลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมดังกล่าวได้หรือไม่
คำตอบ : นาย ธ. มิได้มีชื่อเป็นผู้กู้ร่วมกับนาง ม. จึงไม่มีสิทธินำดอกเบี้ยเงินกู้ยืมดังกล่าวมาหักลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้ ตามมาตรา 47(1)(ซ) แห่งประมวลรัษฎากร
3.ชื่อเรื่อง : หนังสือรับรองดอกเบี้ยเงินกู้ยืมมีชื่อผู้กู้ร่วม 2 คน ใช้สิทธิหักลดหย่อนตามจำนวนผู้กู้
คำถาม : หนังสือรับรองดอกเบี้ยเงินกู้ยืมมีชื่อผู้กู้ร่วม 2 คน จะหักลดหย่อนอย่างไร
คำตอบ : กรณีผู้มีเงินได้ 2 คนร่วมกันกู้ยืมเงิน ให้หักลดหย่อนและยกเว้นภาษีเงินได้ได้คนละกึ่งหนึ่ง แต่รวมกันต้องไม่เกิน 100,000 บาท
4.ชื่อเรื่อง : คู่สมรสต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ทำสัญญากู้ร่วมกับบุคคลอื่น
คำถาม : สามีภริยาถูกต้องตามกฎหมาย และต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ โดยอยู่ร่วมกันตลอดปีภาษี ต่อมา หากสามีภริยาทำสัญญากู้ยืมเงินกับธนาคารร่วมกับน้องชาย (กู้รวม 3 คน) เพื่อซื้อบ้านอยู่อาศัยกัน จะใช้สิทธิหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมอย่างไร
คำตอบ : สามีภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ ทำสัญญากู้ยืมร่วมกับน้องชาย (กู้รวม 3 คน) ให้ผู้มีเงินได้แต่ละคน รวมจำนวน 3 คนนั้น เฉลี่ยค่าลดหย่อนตามส่วนจำนวนผู้มีเงินได้ที่กู้ร่วม (หาร 3) รวมกันต้องไม่เกินจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ทั้งนี้ ไม่ว่าความเป็นสามีภริยาจะได้มีอยู่ตลอดปีภาษีหรือไม่ก็ตาม เช่นจ่ายดอกเบี้ยเป็นเงิน 120,000 บาท กู้ร่วม 3 คน จะใช้สิทธิลดหย่อนดอกเบี้ยคนละ 33,333.33 บาท
5.ชื่อเรื่อง : ภริยากู้ยืมเงินเพื่อซื้อบ้านร่วมกับบุตร แต่บุตรไม่มีเงินได้ ต้องใช้สิทธิหักลดหย่อนตามจำนวนผู้กู้
คำถาม : นาย ก. เป็นข้าราชการบำนาญและภริยาประกอบอาชีพรับราชการ ภริยาใช้สิทธิสมาชิก กบข. กู้ยืมเงินซื้อห้องชุดคอนโดมิเนียมตามโครงการเพื่อที่อยู่อาศัยของ กบข. ร่วมกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ โดยกู้ร่วมกับบุตรสาว (นาย ก. ไม่ได้เกี่ยวข้องลงนามผูกพันเป็นผู้กู้ร่วมในสัญญากู้) ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา นาย ก. แยกยื่นรายการสำหรับเงินได้พึงประเมินต่างหากจากภริยา นาย ก. จะนำดอกเบี้ยเงินกู้ยืมของภริยามาหักลดหย่อนได้หรือไม่
คำตอบ : นาย ก. มิได้เป็นผู้กู้ร่วมกับภริยาและบุตร รวมทั้งแยกยื่นรายการสำหรับเงินได้พึงประเมินต่างหากจากภริยา นาย ก.จึงไม่สามารถนำดอกเบี้ยเงินกู้ยืมของภริยามาหักลดหย่อนได้ ดังนั้น การหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืม จึงต้องเฉลี่ยดอกเบี้ยเงินกู้ตามส่วนของสัญญากู้ยืมเงินร่วมระหว่างภริยากับบุตร แต่รวมกันต้องไม่เกินจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท
6.ชื่อเรื่อง : สามีมีเงินได้มากกว่าภริยาทำสัญญากู้ยืมเงินเพื่อซื้อบ้านร่วมกัน โดยสามีจ่ายดอกเบี้ยมากกว่าภริยา หักลดหย่อนได้คนละกึ่งหนึ่ง
คำถาม : สามีภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ โดยสามีมีเงินได้มากกว่าภริยา ทำสัญญากู้ยืมเงินเพื่อซื้อบ้านร่วมกัน สามีจึงชำระดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อบ้านมากกว่าภริยา ในการยื่นแบบ ภ.ง.ด.91 ภริยาใช้สิทธิแยกยื่นรายการเสียภาษีต่างหากจากสามีจะมีสิทธิหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมตามสัดส่วนที่จ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ยืมได้หรือไม่
คำตอบ : ต่างฝ่ายต่างมีสิทธิหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมได้ฝ่ายละกึ่งหนึ่งของจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
7 .ชื่อเรื่อง : ขายบ้านระหว่างผ่อนชำระกับธนาคาร ไม่ต้องยื่นแบบ ภ.งด.90/91 ปรับปรุงค่าลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืม
คำถาม : นาย ก. กู้ยืมเงินจากธนาคารเพื่อซื้อบ้าน และนำดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่จ่ายให้กับธนาคารมาหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมในแบบ ภ.ง.ด.91 ในระหว่างการผ่อนชำระกับธนาคาร นาย ก. ขายบ้านดังกล่าวไป นาย ก. จะต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.91 เพิ่มเติมปรับปรุงค่าลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมหรือไม่
คำตอบ : ขณะที่นาย ก. จ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อบ้านกับธนาคาร นาย ก. มีสิทธิหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืม ตามมาตรา 47(1)(ช) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น เมื่อนาย ก. ขายบ้านดังกล่าวไป จึงไม่มีสิทธิหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมอีกต่อไป และไม่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.91 เพิ่มเติมปรับปรุงค่าลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมแต่อย่างใด
8 .ชื่อเรื่อง : การหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืม กรณีผู้ที่กู้ร่วมถึงแก่กรรม
คำถาม : ดอกเบี้ยกู้ยืมเงินเพื่อซื้ออาคารที่อยู่อาศัยโดยกู้ร่วมกับผู้อื่น ต่อมาเมื่อเดือนสิงหาคม 2546 ผู้กู้ร่วมถึงแก่กรรม ผู้กู้ร่วมที่ยังมีชีวิตอยู่จะนำดอกเบี้ยเงินกู้ยืมมาลดหย่อนทั้งจำนวนได้หรือไม่
คำตอบ : ผู้กู้ร่วมที่ยังมีชีวิตอยู่จะนำดอกเบี้ยเงินกู้ยืมมาหักลดหย่อนและยกเว้นดอกเบี้ยเงินกู้ยืมทั้งจำนวนไม่ได้ แต่ให้เฉลี่ยค่าลดหย่อนและยกเว้นเงินได้ตามส่วนจำนวนของผู้กู้ร่วมทุกคนโดยการเฉลี่ยภาษีตามส่วนจำนวนผู้กู้ร่วม
9 .ชื่อเรื่อง : ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมมาเพื่อปรับปรุงบ้านหักลดหย่อนไม่ได้
คำถาม : การกู้ยืมเงินเพื่อซื้อที่ดินพร้อมบ้านหรือเพื่อซื้อบ้านที่ต้องปรับปรุงก่อนเข้าอยู่อาศัย โดยเบิกเงินไปก่อนในวันที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ ณ สำนักงานที่ดิน ส่วนค่าปรับปรุงซ่อมแซมที่จ่ายตามงวดของงานที่แล้วเสร็จ สามารถนำดอกเบี้ยเงินกู้ยืมมาหักลดหย่อนได้หรือไม่
คำตอบ : การกู้ยืมเงินเพื่อซื้อที่ดินพร้อมบ้านหรือเพื่อซื้อบ้านที่ต้องปรับปรุงก่อนเข้าอยู่อาศัย โดยเบิกเงินไปก่อนในวันที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ ณ สำนักงานที่ดิน หากมีการจำนองที่ดินพร้อมบ้าน หรือมีการจำนองบ้านที่ซื้อที่ต้องปรับปรุงก่อนเข้าอยู่อาศัยเป็นการประกันการกู้ยืมเงินนั้นด้วย กรณีนี้มีสิทธินำดอกเบี้ยเงินกู้มาหักลดหย่อนได้ ตามมาตรา 47(1)(ซ) แห่งประมวลรัษฎากร ส่วนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมมาเพื่อปรับปรุงบ้านซึ่งมีการจ่ายเงินตามงวดของงานที่ทำเสร็จ กรณีนี้ไม่มีสิทธินำดอกเบี้ยจากการกู้ยืมมาหักลดหย่อนภาษี
10 .ชื่อเรื่อง : ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อที่ดินที่อยู่ติดกับบ้านหลังเดิมหักลดหย่อนไม่ได้
คำถาม : การกู้ยืมเงินเพื่อซื้อบ้านและที่ดินโดยจำนองไว้กับธนาคาร ต่อมาขอกู้เงินเพื่อซื้อที่ดินที่อยู่ติดกับที่ดินและบ้านหลังเดิม การกู้ยืมเงินครั้งหลังสามารถนำดอกเบี้ยเงินกู้มาหักลดหย่อนได้หรือไม่
คำตอบ การกู้ยืมเงินเพื่อซื้อบ้านพร้อมที่ดินโดยจำนองไว้กับธนาคารมีสิทธินำดอกเบี้ยเงินกู้มาหักลดหย่อนได้ ตามมาตรา 47(1)(ซ) แห่งประมวลรัษฎากร ส่วนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อที่ดินที่อยู่ติดกับบ้านหลังเดิมนั้นไม่มีสิทธินำดอกเบี้ยมาหักลดหย่อน ตามมาตรา 47(1)(ซ) แห่งประมวลรัษฎากร
11 .ชื่อเรื่อง : ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยบนที่ดินของผู้อื่นสามารถนำมาหักลดหย่อนได้
คำถาม : นาง ก ก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยบนที่ดินของนาย ข (บิดา) โดยนาย ข ให้ความยินยอมในการใช้ที่ดินดังกล่าว นาง ก กู้ยืมเงินจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) มาใช้ในการก่อสร้าง โดยได้จำนองที่ดินและอาคารเป็นประกันการกู้ยืมและอยู่อาศัยในบ้านดังกล่าว นาง ก สามารถนำดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อสร้างอาคารอยู่อาศัยบนที่ดินของบิดามาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้หรือไม่
คำตอบ การที่นาย ข ยินยอมให้นาง ก ปลูกสร้างอาคารบนที่ดินของตนเองถือเป็นการอนุญาตให้ใช้สอยครอบครองที่ดิน สิทธิครอบครองที่ดินดังกล่าวจึงโอนไปยังนาง ก นับแต่วันที่ส่งมอบการครอบครอง เมื่อนาง ก ได้จำนองอาคารพร้อมที่ดินเป็นประกันการกู้ยืม และใช้อาคารที่ปลูกสร้างเป็นที่อยู่อาศัยโดยมีชื่อตามหลักฐานทะเบียนราษฎร นาง ก สามารถนำดอกเบี้ยเงินกู้ยืมมาหักลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 47(1)(ซ) แห่งประมวลรัษฎากร
12 .ชื่อเรื่อง : แปลงหนี้ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อบ้าน ลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมได้ไม่เกินกว่าหนี้ที่ค้างชำระ
คำถาม : นาย ส. กู้เงินซื้อบ้านจากธนาคาร ข. จำนวน 1,000,000 บาท และมีหนี้สินอื่นอีก 500,000 บาท นาย ส. มากู้เงินจากธนาคาร ก. จำนวน 1,500,000 บาท เพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่ดังกล่าว นาย ส. มีสิทธินำดอกเบี้ย เงินกู้ยืมของธนาคาร ข. มาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่
คำตอบ นาย ส. กู้ยืมเงินจากธนาคาร ก. จำนวน 1,500,000 บาท เพื่อใช้หนี้เงินกู้ยืมให้แก่ธนาคาร ข. ซึ่งเป็นเงินกู้เพื่อซื้อบ้าน จำนวน 1,000,000 บาท และหนี้สินอื่นอีก 500,000 บาท นาย ส. มีสิทธินำดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเฉพาะในส่วนของเงินกู้เพื่อซื้อบ้าน แต่ไม่เกินกว่าหนี้ที่ค้างชำระกับธนาคาร ข. มาหักลดหย่อนได้เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ทั้งนี้ เฉพาะดอกเบี้ยเงินกู้ยืม ตั้งแต่ 1 มกราคม 2550 ตามมาตรา 47(1)(ซ) แห่งประมวลรัษฎากร
13 .ชื่อเรื่อง : สามีภริยากู้ยืมเงินเพื่อซื้อบ้านร่วมกับบุตร ซึ่งบุตรไม่มีเงินได้ ให้หักลดหย่อนเฉลี่ยดอกเบี้ยเป็น 3 ส่วน
คำถาม : สามีภริยากู้ยืมเงินเพื่อซื้อบ้านร่วมกับบุตร โดยต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมอย่างไร
คำตอบ สามีภริยากู้ยืมเงินเพื่อซื้อบ้านร่วมกับบุตร โดยต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้หักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืม โดยเฉลี่ยดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเป็น 3 ส่วน
14 .ชื่อเรื่อง : จ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยให้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์ หักลดหย่อนได้
คำถาม : ดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัยจากสหกรณ์ออมทรัพย์หักลดหย่อนภาษีได้หรือไม่
คำตอบ ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่ผู้มีเงินได้จ่ายให้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์ หักลดหย่อนภาษีได้ ตามมาตรา 47(1)(ซ) แห่งประมวลรัษฎากร
15 .ชื่อเรื่อง : จ่ายดอกเบี้ยชำระค่าซื้อรถยนต์ หักลดหย่อนไม่ได้
คำถาม : จ่ายดอกเบี้ยค่าซื้อรถยนต์ผ่อนชำระ จะนำมาหักลดหย่อนได้หรือไม่ มีหลักฐานการจ่ายชำระทุกเดือน
คำตอบ ดอกเบี้ยชำระค่าซื้อรถยนต์ไม่สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษี กฎหมายตามประมวลรัษฎากรกำหนดให้หักลดหย่อนได้เฉพาะดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัยเท่านั้น
16 .ชื่อเรื่อง : จ่ายชำระเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ) หักลดหย่อนไม่ได้
คำถาม : จ่ายเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ) จะนำมาหักลดหย่อนได้หรือไม่ มีหลักฐานการจ่ายชำระทุกเดือน
คำตอบ การชำระเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ) ไม่สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษี กฎหมายตามประมวลรัษฎากรกำหนดให้หักลดหย่อนได้เฉพาะดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัยเท่านั้น