“ร้อยเรื่องลดหย่อน ปีภาษี 2560”
1. .ชื่อเรื่อง : คู่สมรสไม่มีเงินได้ แต่เป็นผู้ประกันตนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม
คำถาม : กรณีภริยาไม่มีเงินได้ แต่เป็นผู้ประกันตนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม สามีสามารถนำเงินสมทบกองทุนประกันสังคมที่ภริยาชำระ มารวมหักลดหย่อนภาษีเงินสมทบกองทุนประกันสังคมที่ตนชำระด้วยได้หรือไม่
คำตอบ : ในกรณีสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษี ให้หักลดหย่อนได้ด้วยสำหรับเงินสมทบของสามีหรือภริยาที่จ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมดังกล่าวตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 9,000 บาทต่อคน ตามมาตรา 47(1)(ฌ) แห่งประมวลรัษฎากร
2. .ชื่อเรื่อง : หลักฐานในการใช้สิทธิลดหย่อนเงินสมทบกองทุนประกันสังคม
คำถาม : นาย ก. เป็นผู้ประกันตนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม จ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมเอง การใช้สิทธิหักลดหย่อนเงินสมทบกองทุนประกันสังคมเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ต้องใช้หลักฐานอะไรคำตอบ : การหักลดหย่อนเงินสมทบกองทุนประกันสังคมตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมตามจำนวนที่จ่ายจริง ตามมาตรา 47(1)(ฌ) แห่งประมวลรัษฎากร แต่ไม่เกินที่กฎหมายว่าด้วยประกันสังคมกำหนด ให้ผู้จ่ายเงินสมทบดังกล่าวใช้ใบเสร็จรับเงินที่ได้รับจากกองทุนประกันสังคมตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม เป็นหลักฐานในการหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้
3. ชื่อเรื่อง : จ่ายเงินสมทบที่ผู้ประกันตนจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด
คำถาม : นาย ก. ได้จ่ายเงินสมทบที่ผู้ประกันตนจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคม จำนวน 10,000 บาท จะหักลดหย่อนได้ทั้งจำนวนหรือไม่
คำตอบ : เงินสมทบที่ผู้ประกันตนจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคม หักได้ตามจำนวนที่ได้จ่ายไปจริงในปีภาษี ทั้งนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม ไม่เกินคนละ 9,000 บาท
4. ชื่อเรื่อง หลักเกณฑ์ การหักลดหย่อนเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม
คำถาม : การหักลดหย่อนเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ต้องมีเงื่อนไขอย่างไรบ้าง
คำตอบ : การหักลดหย่อนเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ให้หักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่ผู้มีเงินได้จ่ายไปจริง แต่ไม่เกินตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม