เมนูปิด

“ร้อยเรื่องลดหย่อน  ปีภาษี 2560”

 

หมวดค่าลดหย่อนเงินบริจาค

 

 

1 .ชื่อเรื่อง :  บริจาคเงินให้วัดพระศรีรัตนศาสดาราม นำมาหักลดหย่อนได้
คำถาม :   กรณีบริจาคเงินให้วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) ซึ่งไม่ใช่วัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา และจัดตั้งตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ใบเสร็จรับเงินหรือใบอนุโมทนาบัตรที่ได้รับ สามารถนำมาหักลดหย่อนได้หรือไม่
คำตอบ :   วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นพระอารามหลวงที่ตั้งอยู่ในเขตพระบรมมหาราชวัง ไม่ใช่วัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 แต่เป็นวัดซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นพร้อมการสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นราชธานีในปี พ.ศ. 2325 ก่อนที่พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.121 และพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 จะมีผลบังคับใช้ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีลักษณะสำคัญตามประเพณีการสร้างพระอารามหลวงในเขตพระบรมมหาราชวัง คือ เป็นวัดที่มีแต่เขตพุทธาวาส ไม่มีเขตสังฆาวาสสำหรับพระสงฆ์จำพรรษา โดยมีพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร และพระพุทธรูปสำคัญอื่นๆ และเป็นที่สำหรับพระสงฆ์ประกอบสังฆกรรมในพระราชพิธีต่างๆ รอบพระอุโบสถมีซุ้มเสมาเป็นเครื่องหมายปักเขตพระอุโบสถ ซึ่งสอดคล้องกับความหมายของวิสุงคามสีมา ดังนั้น วัดพระศรีรัตนศาสดาราม จึงเป็นวัดที่เข้าลักษณะเป็นองค์การหรือสถานสาธารณกุศล ตามมาตรา 47(7) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 ของประกาศกระทรวงการคลัง ว่าด้วยภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 2)   ผู้บริจาคที่ได้รับใบอนุโมทนาบัตรหรือใบเสร็จรับเงินที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามออกให้ จึงได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ดังนี้
           กรณีบุคคลธรรมดา บริจาคเงินให้แก่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีสิทธินำเงินบริจาคไปหักเป็นค่าลดหย่อนในการคำนวณเงินได้สุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้เท่าจำนวนที่บริจาคแต่ต้องไม่เกินกว่าร้อยละ 10 ของเงินที่เหลือหลังจากได้หักลดหย่อน ตามมาตรา 47(1) (2) (3) (4) (5) หรือ (6) แห่งประมวลรัษฎากร แล้ว และต้องบริจาคเป็นเงินเท่านั้น
            หากบริจาคเป็นทรัพย์สินให้แก่วัด ผู้บริจาคไม่มีสิทธินำมาลดหย่อนในการคำนวณเงินได้สุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแต่อย่างใด ทั้งนี้ ตามมาตรา 47(7)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร
 

2.ชื่อเรื่อง :   กรณีบริจาคเงินให้สมาคมผู้ปกครองและครู หักลดหย่อนไม่ได้
คำถาม :   นาย ก.บริจาคเงินสมทบทุนโครงการพัฒนาโรงเรียน  เป็นเงิน 20,000 บาท จะสามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้หรือไม่ ใบเสร็จรับเงินเลขที่ 0449 ลงวันที่ 8 เมษายน 2560   สมาคมผู้ปกครองและครู  รายการพัฒนาอาคารสถานที่ การเรียนการสอน และสวัสดิการ หากสามารถนำมาหักภาษีได้ จะถือว่าเป็นเงินสนับสนุนการศึกษาหรือเงินบริจาค
คำตอบ :   บริจาคเงินให้สมาคมผู้ปกครองและครูไม่สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ เนื่องจากไม่ได้มีการประกาศให้เป็นองค์การหรือสถานสาธารณกุศล และไม่ถือเป็นเงินสนับสนุนเพื่อการศึกษา

 

3..ชื่อเรื่อง :   เอกสารหลักฐานในการบริจาคเงินหรือสิ่งของให้กับโรงเรียนต้องเป็นใบอนุโมทนาบัตรหรือไม่
คำถาม :   ในการบริจาคสิ่งของหรือบริจาคเงินให้กับโรงเรียน โรงเรียนจะต้องออกเป็นหลักฐานอย่างไร
คำตอบ :   โรงเรียนจะออกเป็นบันทึกหรือหนังสือใดๆที่เป็นหลักฐานแสดงว่าได้บริจาคเงินจากผู้ใด จำนวนเท่าใดและเมื่อใด ถือเป็นหลักฐานการบริจาคได้

 

4.ชื่อเรื่อง :   บริจาคเงินในนามผู้มีเงินได้และคู่สมรส แต่คู่สมรสไม่มีเงินได้
คำถาม :   เงินบริจาคในนามผู้มีเงินได้และคู่สมรส แต่คู่สมรสไม่มีเงินได้จะหักค่าลดหย่อนได้เต็มหรือไม่
คำตอบ :   หักได้เฉพาะส่วนเฉลี่ยที่เป็นของผู้มีเงินได้

 

5.ชื่อเรื่อง :   บริจาคเงินให้สำนักงานสงฆ์หักลดหย่อนไม่ได้
คำถาม :   เงินบริจาคให้สำนักสงฆ์หักเงินบริจาคได้หรือไม่
คำตอบ :   ถ้าสำนักสงฆ์ไม่มีสภาพเป็นวัด หักเงินบริจาคไม่ได้

 

6.ชื่อเรื่อง :   บริจาคชุดนักเรียน และเครื่องเขียนให้โรงเรียน หักลดหย่อนไม่ได้
คำถาม :   นาย ก  บริจาคชุดนักเรียน และเครื่องเขียน รวมเป็นเงิน 20,000 บาทหักค่าลดหย่อนได้หรือไม่
คำตอบ :   การหักลดหย่อนเงินบริจาคมีหลักเกณฑ์ว่าต้องบริจาคเป็นเงินเท่านั้น

 

7.ชื่อเรื่อง :   บริจาคเงินให้กับวัดไทยในต่างประเทศ นำมาลดหย่อนไม่ได้
คำถาม :   นาย ข.  บริจาคเงินให้กับวัดไทยในประเทศอินเดีย จะนำมาลดหย่อนเงินบริจาคได้หรือไม
คำตอบ :   ไม่ได้ เนื่องจากวัดไทยในต่างประเทศไม่ได้จัตดั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505

 

8.ชื่อเรื่อง :   บริจาคเงินให้กับโรงเรียนเอกชน สามารถหักลดหย่อนได้ 2 เท่า
คำถาม :   นาย ค.  บริจาคเงินให้กับโรงเรียนเอกชน เป็นเงินจำนวน 10,000 บาท หักลดหย่อนได้หรือไม
คำตอบ :   การบริจาคเงินให้กับสถานศึกษา สามารถหักลดหย่อนได้ 2 เท่า แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน

 

9. ชื่อเรื่อง :    บริจาคเงินให้แก่กรมศิลปากร
คำถาม :   นาย ง  บริจาคเงินให้แก่กรมศิลปากร เพื่อสนับสนุนในการบำรุงรักษาและบูรณะโบราณสถาน โบราณวัตถุ นำใบเสร็จรับเงินจากการบริจาคไปหักค่าลดหย่อนในการคำนวณเงินได้สุทธิเพื่อเสียภาษีได้หรือไม่
คำตอบ :   ไม่ได้ เนื่องจากกรมศิลปากรเป็นส่วนราชการ ไม่เข้าลักษณะเป็นสถานพยาบาล สถานศึกษาของทางราชการ องค์การหรือสถานสาธารณกุศล ตามมาตรา 47(7)(ก) และ (ข) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้บริจาคจึงไม่มีสิทธินำเงินบริจาคไปหักเป็นค่าลดหย่อนในการคำนวณเงินได้สุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
          อนึ่ง หากบุคคลธรรมดาบริจาคเงินโดยตรงให้หอสมุด ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ ของทางราชการ ก็มีสิทธินำเงินบริจาคไปหักเป็นค่าลดหย่อนในการคำนวณเงินได้สุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ ตามมาตรา 47(7)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร

 

10. ชื่อเรื่อง :    ค่าบำรุงการศึกษา/ค่าเทอม/ค่าเล่าเรียน หักลดหย่อนไม่ได้
คำถาม :   นาย ฉ จ่ายค่าบำรุงการศึกษา/ค่าเทอม/ค่าเล่าเรียน  นำใบเสร็จรับเงินที่ได้รับจากสถานศึกษาไปหักค่าลดหย่อนการบริจาคให้ 1 ได้ 2  ได้หรือไม่
คำตอบ :   ไม่ได้ เนื่องจากการจ่ายเงินค่าบำรุงการศึกษา/ค่าเทอม/ค่าเล่าเรียน ไม่ใช่เป็นการบริจาค

 

11 .ชื่อเรื่อง :  ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 แสดงความประสงค์บริจาคเงินภาษีให้แก่พรรคการเมืองแล้วเปลี่ยนแปลงไม่ได้
คำถาม :   นาย ก. ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 มีเงินภาษีต้องชำระ จำนวน 500 บาท แสดงความประสงค์บริจาคเงินภาษีให้แก่พรรคการเมืองพรรคหนึ่ง ต่อมาต้องการเปลี่ยนพรรคการเมืองที่ได้แสดงความประสงค์ไว้ สามารถยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 เพิ่มเติม เพื่อแจ้งความประสงค์บริจาคเงินภาษีให้แก่พรรคการเมืองใหม่ได้หรือไม่
คำตอบ :   ไม่ได้  เมื่อผู้เสียภาษีแสดงเจตนาบริจาคเงินภาษีให้แก่พรรคการเมืองใดแล้ว ห้ามเปลี่ยนแปลง ตามข้อ 1(2) ของประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 176)
                   อย่างไรก็ตาม  หากผู้เสียภาษียื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 ฉบับปกติ ไม่ได้แสดงเจตนาบริจาคเงินภาษีให้แก่พรรคการเมืองใด ต่อมาผู้เสียภาษีมีความประสงค์จะแสดงเจตนาบริจาคเงินภาษีให้แก่พรรคการเมือง ผู้เสียภาษีสามารถยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 เพิ่มเติม เพื่อแจ้งความประสงค์บริจาคเงินภาษีให้แก่พรรคการเมืองได้

 

ปรับปรุงล่าสุด: 03-12-2021