เมนูปิด
Untitled Document

“ค่าฝากครรภ์ ค่าคลอดบุตร และบุตรคนที่ 2 ลดหย่อนอย่างไร ???”

การใช้สิทธิหักลดหย่อนค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร
1. Q1 : หากจ่ายค่าคลอดบุตรต้นปี 2561 เป็นเงิน 60,000 บาท ปลายปีจ่ายค่าฝากครรภ์บุตรคนที่ 2 อีก 60,000 บาท ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 120,000 บาทใช่หรือไม่
A1 : สามารถใช้สิทธิแต่ละคราวหรือท้องละไม่เกิน 60,000 บาท ดังนั้น สามารถใช้สิทธิได้ 120,000 บาท

2. Q2 : หากจ่ายค่าฝากครรภ์ต้นปี 2561 เป็นเงิน 30,000 บาท ต่อมาแท้งบุตรต้องขูดมดลูกจำนวน 40,000 บาท สามารถใช้สิทธิยกเว้นภาษีได้บุคคลธรรมดาเท่าใด
A2 : ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทั้งค่าฝากครรภ์และค่าขูดมดลูก แต่ต้องไม่เกิน 60,000 บาท

3. Q3 : หากจ่ายค่าฝากครรภ์ปลายปี 2560 เป็นเงิน 35,000 บาท และจ่ายค่าคลอดบุตรปลายปี 2561 เป็นเงิน 45,000 บาท สามารถใช้สิทธิยกเว้นภาษีได้บุคคลธรรมดาในปี 2561 ได้เท่าใด
A3 : ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเฉพาะค่าคลอดบุตร 45,000 บาท เนื่องจากสามารถใช้สิทธิยกเว้นได้เท่าที่จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป

4. Q4 : หากจ่ายค่าฝากครรภ์ปี 2561 เป็นเงิน 35,000 บาท และจ่ายค่าคลอดบุตรปี 2562 เป็นเงิน 45,000 บาท สามารถใช้สิทธิยกเว้นภาษีได้บุคคลธรรมดาในปี 2561 และ 2562 ได้เท่าใด
A4 : ปี 2561 ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 35,000 บาท และปี 2562 จำนวน 25,000 บาท เนื่องจากในแต่ละคราวรวมกันต้องไม่เกิน 60,000 บาท

5. Q5 : กรณีฝากครรภ์แล้วภายหลังตรวจพบว่าบุตรในครรภ์ไม่สมบูรณ์ แพทย์จำเป็นต้องนำทารกออกจากครรภ์ (ยุติการตั้งครรภ์) สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้หรือไม่
A5 : ได้ เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาลอันเนื่องมาจากการตั้งครรภ์และคลอดบุตร ไม่ว่าจะเป็นค่าตรวจและรับฝากครรภ์ ค่าบำบัดทางการแพทย์ ค่ายาและค่าเวชภัณฑ์ ค่าทำคลอด และค่ากินอยู่ในสถานพยาบาล ทั้งนี้ ไม่ว่าทารกที่คลอดจะมีชีวิตรอดหรือไม่

6. Q6 : กรณีตั้งครรภ์และแท้งเอง และตั้งครรภ์ใหม่ในปีภาษีเดียวกัน ลดหย่อนได้เท่าใด
A6 : ใช้สิทธิลดหย่อนได้ทั้ง 2 ครั้งๆ ละ ไม่เกิน 60,000 บาท ตามข้อ2(4) ของประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 331)

7. Q7 : ค่าขูดมดลูกกรณีแท้งจากครั้งก่อน ถือเป็นค่าฝากครรภ์ที่ได้รับสิทธิลดหย่อนหรือไม่
A7 : ได้ ถือเป็นค่าบำบัดทางการแพทย์ ตามความหมายของค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร ตามประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 331)

8. Q8 : กรณีต่างฝ่ายต่างมีเงินได้แยกยื่นแบบ ใบเสร็จรับเงินค่าฝากครรภ์และคลอดบุตรออกมาในชื่อสามี ภริยาใช้สิทธิลดหย่อนได้หรือไม่
A8 : ได้ ใบเสร็จรับเงินหรือหลักฐานอื่นใดที่แสดงว่าผู้มีเงินได้หรือคู่สมรสได้จ่ายค่าฝากครรภ์ ตามข้อ 3(2) ของประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 331)

9. Q9 : กรณีตั้งครรภ์และแท้งในเดือนมีนาคม 2561 และตั้งครรภ์ใหม่ในเดือนกันยายน 2561 จะได้รับสิทธิค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรอย่างไร
A9 : ได้รับสิทธิ 120,000 บาท เนื่องจากมีการตั้งครรภ์ 2 คราว ในปีภาษีเดียวกัน

10. Q10 : กรณีคลอดลูกแฝด ในเดือนกันยายน ปี 2561 จะได้รับสิทธิลดหย่อนค่าฝากครรภ์และคลอดบุตรอย่างไร
A10 : ได้รับสิทธิ 60,000 บาท เนื่องจากเป็นการตั้งครรภ์เพียงคราวเดียว

11. Q11 : ค่าตรวจครรภ์ที่คลินิก สามารถนำมาลดหย่อนค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร ได้หรือไม่
A11 : หากคลินิกดังกล่าวเป็นสถานพยาบาลแบบไม่มีเตียงตาม พ.ร.บ. สถานพยาบาล พ.ศ.2541 สามารถนำมาใช้สิทธิได้

12. Q12 : กรณีการยกเว้นค่าคลอดบุตร ชาวต่างชาติได้รับสิทธิด้วยหรือไม่
A12 : หากชาวต่างชาติ (มารดา) ยื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในไทย และบุตรมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย สามารถนำมาใช้สิทธิได้

13. Q13 : กรณีชาวต่างชาติเข้ามาในไทย ทำงานมีเงินได้และอยู่ในไทยไม่เกิน 180 วัน สามารถลดหย่อนค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร และลดหย่อนบุตรคนที่ 2 เพิ่ม ได้หรือไม่
A13 : หากชาวต่างชาติ (มารดา) ยื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในไทย และบุตรมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย สามารถนำมาใช้สิทธิได้

14. Q14 : กรณีผู้มีเงินได้เป็นชาวต่างชาติ และภริยาเป็นคนไทยไม่มีรายได้ ชาวต่างชาติผู้มีเงินได้สามารถใช้สิทธิลดหย่อนค่าฝากครรภ์ ค่าคลอดบุตร และลดหย่อนบุตรคนที่ 2 เพิ่ม ได้หรือไม่
A14 : หากชาวต่างชาติ (บิดาผู้มีเงินได้) ยื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในไทย และบุตรคนที่ 2 มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย สามารถนำมาใช้สิทธิได้

15. Q15 : เดือนมกราคม 2561 จ่ายค่าคลอดบุตรคนที่ 1 จำนวน 60,000 บาท และเดือนกันยายน 2561 จ่ายค่าฝากครรภ์บุตรคนที่ 2 จำนวน 60,000 บาท กรณีนี้จะใช้สิทธิลดหย่อนค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรในปีภาษี 2561 ได้เท่าไหร่ และในปีภาษี 2562 จะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนค่าคลอดบุตรคนที่ 2 ได้อีกหรือไม่
A15 : ปี 2561 ใช้สิทธิลดหย่อนค่าฝากครรภ์และคลอดบุตร ได้จำนวน 120,000 บาท (ค่าคลอดบุตรคนที่ 1 + ค่าฝากครรภ์บุตรคนที่ 2)
ปี 2562 ไม่สามารถใช้สิทธิได้ เนื่องจากในปี 2561 ใช้สิทธิลดหย่อนค่าฝากครรภ์บุตรคนที่ 2 ไปเต็มจำนวนแล้ว

16. Q16 : กรณีที่บิดาและมารดา ไม่ได้จดทะเบียนสมรส มารดาสามารถใช้สิทธิค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรได้หรือไม่
A16 : สามารถใช้สิทธิได้ เนื่องจากมารดาเป็นมารดาที่ชอบด้วยกฎหมายของบุตรเสมอ โดยไม่ต้องจดทะเบียนสมรส

17. Q17 : กรณีที่บิดามารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสและมารดาไม่มีเงินได้ บิดาสามารถใช้สิทธิค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรได้หรือไม่
A17 : กรณีบิดาไม่ได้จดทะเบียนสมรส บิดาไม่สามารถใช้สิทธิได้
ทั้งนี้ หากบิดามีการจดทะเบียนรับรองบุตรในปีภาษีที่บุตรคลอด บิดาสามารถใช้สิทธิหักลดหย่อนค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรได้

18. Q18 : กรณีมีลูกแฝดเกิดห่างกันไม่กี่นาที แฝดพี่คลอด 31 ธ.ค. 2560 แฝดน้องคลอด 1 ม.ค. 2561 จะได้รับสิทธิค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร และลดหย่อนบุตรคนที่ 2 เพิ่ม 30,000 บาท อย่างไร
A18 : ได้รับสิทธิค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร 60,000 บาท และได้รับสิทธิลดหย่อนบุตรคนที่ 2 เพิ่ม 30,000 บาท

19. Q19 : กรณีได้รับสิทธิสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลจากนายจ้างภาคเอกชนในการคลอดบุตร จำนวน 30,000 บาท แต่ได้จ่ายค่าคลอดบุตรไปจำนวน 100,000 บาท จะใช้สิทธิลดค่าฝากครรภ์และคลอดบุตร อย่างไร
A19 : ได้รับสิทธิ จำนวน 30,000 บาท เนื่องจากเมื่อนำไปรวมกับสิทธิสวัสดิการต้องไม่เกิน 60,000 บาท

20. Q20 : มีบุตรคนที่ 1 มาแล้วเกิดเมื่อปีภาษี 2557 และยังมีชีวิตอยู่ และได้ทำการฝากครรภ์เมื่อต้นปี 2561 คลอดบุตรปลายปี 2561 จ่ายเงินค่าฝากครรภ์และคลอดบุตรเอง และเป็นบุตรแฝด 3 จะได้รับสิทธิลดหย่อนอย่างไร
A20 : กรณีบุตรคนที่ 1 เกิดปี 2557 และได้ทำการฝากครรภ์และคลอดบุตรแฝด 3 คน ในปี 2561 สามารถใช้สิทธิได้ ดังนี้
1. บุตรคนที่ 1 - 4 หักลดหย่อนได้ 30,000 บาท
2. ใช้สิทธิหักลดหย่อนค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรของบุตรแฝด 3 ได้ 60,000 บาท เพราะถือเป็นคราวเดียวกัน
3. ใช้สิทธิหักค่าลดหย่อนบุตรแฝดคนที่ 2 - 4 ได้เพิ่มอีกคนละ 30,000 บาท
รวมหักลดหย่อนได้ทั้งสิ้น 270,000 บาท

21. Q21 : ตั้งครรภ์แล้วเกิดการแท้งในปีภาษี 2561 ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการแท้ง ค่าใช้จ่ายใดบ้างที่จะถือว่าเป็นค่าคลอดบุตรที่สามารถนำสิทธิมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้
A21 : ค่าใช้จ่ายที่จ่ายไปเพื่อการรักษาพยาบาลจากการแท้งบุตร สามารถนำมาใช้สิทธิหักลดหย่อนได้ทั้งหมด

22. Q22 : ฝากครรภ์ปีภาษี 2560 จ่ายค่าฝากครรภ์ปี 2560 จำนวน 30,000 บาท และคลอดบุตรต้นปีภาษี 2561 จ่ายค่าคลอดบุตรปี 2561 อีกจำนวน 30,000 บาท จะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรอย่างไร
A22 : สามารถใช้สิทธิลดหย่อนค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรในปีภาษี 2561 ได้ 30,000 บาท เนื่องจากกฎหมายให้สิทธิตั้งแต่ปี 2561

23. Q23 : กรณีบุตรคนที่ 2 เกิดในปี 2562 จะใช้สิทธิลดหย่อนบุตรเพิ่มได้หรือไม่
A23 : ได้ เนื่องจากใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป

24. Q24 : กรณีจดทะเบียนสมรสและหย่าภริยาคนแรก มีบุตร 2 คน และต่อมาได้จดทะเบียนสมรสกับภริยาคนที่ 2 มีบุตรด้วยกันอีก 2 คน และบุตรคนที่ 3 ตั้งครรภ์และคลอดในปี 2561 จะสามารถลดหย่อนบุตรได้ 5 คนหรือไม่ และจะได้รับสิทธิค่าฝากครรภ์ ค่าคลอดบุตร และสิทธิลดหย่อนบุตรเพิ่ม 30,000 บาท หรือไม่ และต้องใช้เอกสารหลักฐานอะไรบ้าง
A24 : ได้รับสิทธิลดหย่อนบุตร ทั้ง 5 คน และบุตรคนที่ 5 ได้รับสิทธิค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร และสิทธิลดหย่อนบุตรเพิ่ม โดยใช้หลักฐาน ดังนี้
1. บันทึกท้ายหย่าในการแสดงรายละเอียดว่าเป็นผู้เลี้ยงดูบุตรจากภริยาคนแรก
2. เอกสารใบทะเบียนสมรสกับภริยาคนที่ 2
3. ใบรับรองแพทย์ฯ และใบเสร็จรับเงิน หรือหลักฐานอื่นใดที่แสดงว่าได้จ่ายค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร

25. Q25 : กรณีฝากครรภ์และคลอดบุตรที่ได้ลดหย่อนภาษี รวมถึงค่าใช้จ่ายอย่างอื่นด้วยหรือไม่ เช่น ค่านม ค่าของใช้ที่เกี่ยวกับการคลอดบุตร ค่าเดินทาง เป็นต้น
A25 : ไม่รวม เนื่องจากไม่เป็นค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร

26. Q26 : เดือนมกราคม 2561 จ่ายค่าฝากครรภ์แต่ภายหลังได้แท้งบุตร ต่อมาได้ตั้งครรภ์และฝากครรภ์อีกครั้งในเดือนเมษายน 2561 และคลอดก่อนกำหนดในเดือนธันวาคม 2561 จะใช้สิทธิลดหย่อนค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร อย่างไร
A26 : ได้รับสิทธิ 120,000 บาท เนื่องจากมีการตั้งครรภ์ 2 คราวในปีภาษีเดียวกัน

27. Q27 : มีบุตรมาแล้ว 3 คน คนที่ 1 อายุ 21 ปี คนที่ 2 อายุ 18 ปี และคนที่ 3 อายุ 6 เดือน แต่ภริยาคนแรกเสียชีวิตในปี 2560 ได้สมรสใหม่กับภริยาคนปัจจุบันในปี 2561 ภริยาไม่มีเงินได้ เมื่อเดือนมีนาคม 2561 ภริยาตั้งครรภ์และมีการฝากครรภ์แต่ในเดือนสิงหาคม 2561 มีภาวะต้องยุติการตั้งครรภ์ เนื่องจากเด็กไม่สมบูรณ์ ตั้งครรภ์ใหม่และฝากครรภ์ในเดือนพฤศจิกายน 2561 ใช้สิทธิลดหย่อนค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรได้เท่าไหร่
A27 : ได้รับสิทธิหักลดหย่อนค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร จำนวน 120,000 บาท เนื่องจากมีการตั้งครรภ์ 2 คราวในปีภาษีเดียวกัน

28. Q28 : มีบุตรกับภริยาคนแรก ไม่ได้จดทะเบียนสมรส แต่มีการจ่ายค่าเลี้ยงดู 1 คน เกิดเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2561 ขณะนี้บุตรคนแรกมีอายุ 10 เดือนกว่าๆ และได้แต่งงานจดทะเบียนสมรสกับภริยาคนปัจจุบันมีบุตรด้วยกันอีก 1 คน เกิดเมื่อวันที 1 พ.ย. 2561 ภริยาทั้ง 2 คน ไม่มีเงินได้ จะใช้สิทธิลดหย่อนค่าฝากครรภ์และคลอดบุตร รวมถึงการใช้สิทธิลดหย่อนบุตรเพิ่ม 30,000 บาท ได้หรือไม่
A28 : ใช้สิทธิลดหย่อนค่าฝากครรภ์และคลอดบุตรจากภริยาที่จดทะเบียนสมรส แต่ไม่ได้รับสิทธิลดหย่อนบุตรเพิ่ม 30,000 บาท เนื่องจากมีบุตรชอบด้วยกฎหมายเพียงคนเดียว

 

การใช้สิทธิหักลดหย่อนบุตรคนที่ 2
1. Q1 : นาย A. จดทะเบียนสมรสกับนาง ก. มีบุตรร่วมกัน 1 คน (บุตรเกิด เดือนมกราคม 2561) ต่อมาเดือนมิถุนายน 2561 นาย A. และนาง ก. ได้จดทะเบียนหย่ากัน ภายหลังนาย A. ได้มาจดทะเบียนสมรสใหม่ กับนาง ข. เมื่อเดือนธันวาคม 2561 โดยนาง ข. มีลูกติดกับสามีเก่า 1 คน (บุตรเกิดในปี 2561) ดังนั้น ในกรณีต่างฝ่ายต่างมีลูกกับคู่สมรสเดิมมากันทั้ง 2 ฝ่าย จะสามารถลดหย่อนบุตรคนที่ 2 ได้อีก 30,000 บาท หรือไม่
A1 : ไม่ได้ เนื่องจากบุตรที่เกิดจากคู่สมรสเดิมต่างก็เป็นบุตรคนแรกของทั้ง 2 ฝ่าย จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์การลดหย่อนบุตรคนที่ 2

2. Q2 : นาย A. กับนาง ก. มีบุตรคนที่ 2 ร่วมกัน (บุตรเกิด เดือนมกราคม 2561) ต่อมาได้มีการจดทะเบียนหย่าในเดือนมิถุนายน 2561 และนาย A. ได้จดทะเบียนสมรสใหม่กับ นาง ข. เมื่อเดือนธันวาคม 2561 (นาง ข. ไม่เคยมีบุตรมาก่อน) โดยต่างฝ่ายต่างมีเงินได้พึงประเมิน อยากทราบว่า นาย A. และนาง ข. สามารถใช้สิทธิลดหย่อนบุตรคนที่ 2 ได้หรือไม่
A2 : เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของ นาย A.� ดังนั้น นาย A และนาง ข. จึงสามารถใช้สิทธิลดหย่อนบุตรคนที่ 2 ได้เพิ่มอีก 30,000 บาท

3. Q3 : นาย A. กับนาง ข. มีบุตรคนที่ 2 ในปี 2561 และใช้สิทธิลดหย่อนบุตรคนที่ 2 ในปีภาษี 2561 แล้ว ต่อมาในปี 2562 มิได้มีบุตรเพิ่มแต่อย่างใด อยากทราบว่า ในปีภาษี 2562 ยังสามารถใช้สิทธิลดหย่อนบุตรคนที่ 2 ได้เพิ่มอีกคนละ 30,000 บาทหรือไม่
A3 : ถือเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของทั้ง 2 ฝ่าย ดังนั้น ในปีภาษี 2562 สามารถใช้สิทธิหักลดหย่อนบุตรคนที่ 2 ได้เพิ่มอีกคนละ 30,000 บาท

4. Q4 : การใช้สิทธิลดหย่อนบุตรคนที่ 2 เพิ่ม 30,000 บาท การรับบุตรบุญธรรม จะได้รับสิทธิหรือไม่
A4 : ไม่ได้รับสิทธิ เนื่องจากบุตรบุญธรรมมิได้เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้มีเงินได้

5. Q5 : กรณีบุตรคนที่ 2 เกิดได้ 2 เดือนแล้วเสียชีวิตจะได้รับสิทธิลดหย่อนบุตรเพิ่ม 30,000 บาทหรือไม่
A5 : ได้รับสิทธิ เนื่องจากการหักลดหย่อนบุตร ให้หักได้ตลอดปีภาษีไม่ว่ากรณีที่จะหักได้นั้นจะมีอยู่ตลอดปีภาษีหรือไม่

6. Q6 : กรณีคลอดบุตรครั้งแรกเป็นลูกแฝด จะได้รับสิทธิลดหย่อนบุตรเพิ่ม 30,000 บาท หรือไม่
A6 : ได้รับสิทธิ จำนวน 1 คน เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้สิทธิบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่คนที่ 2 เป็นต้นไป

7. Q7 : บุตรคนที่ 1 เสียชีวิตไปนานแล้ว ต่อมาปี 2561 ตั้งครรภ์และคลอดบุตรนับเป็นบุตรคนที่ 2 จะได้รับสิทธิลดหย่อนบุตรเพิ่มขึ้นอีก 30,000 บาท ใช่หรือไม่
A7 : ได้รับสิทธิ จำนวน 1 คน เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้สิทธิบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่คนที่ 2 เป็นต้นไป

8. Q8 : กรณีจดทะเบียนสมรสและหย่าภรรยาคนแรก มีบุตร 1 คน ต่อมาได้จดทะเบียนสมรสใหม่และมีบุตรในปี 2561 บุตรที่เกิดในปี 2561 จะนับเป็นบุตรคนที่ 2 ได้สิทธิลดหย่อนบุตรเพิ่ม 30,000 บาท หรือไม่
A8 : ได้

9. Q9 : กรณีมีบุตร 5 คน โดยบุตรคนที่ 1 เกิดปี 2557 บุตรคนที่ 2 เกิดปี 2558 บุตรคนที่ 3 เกิดปี 2559 บุตรคนที่ 4 เกิดปี 2560 และบุตรคนที่ 5 เกิดปี 2561 โดยบุตรคนที่ 1 – 3 เสียชีวิต บุตรคนที่ 5 สามารถใช้สิทธิหักลดหย่อนบุตรเพิ่มได้หรือไม่

A9 : ได้ เนื่องจากบุตรคนที่ 5 เป็นบุตรในลำดับที่ 2 เป็นต้นไป และเกิดในปี 2561 จึงสามารถหักลดหย่อนบุตรเพิ่มได้

10. Q10 : กรณีบุตรคนที่ 2 เกิดในปี 2562 จะใช้สิทธิลดหย่อนบุตรเพิ่มได้หรือไม่
A10 : ได้ เนื่องจากใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป

 

ปรับปรุงล่าสุด: 09-01-2021