Q1 : มาตรการ “ช้อปดีมีคืน ปี 2565” เป็นการให้สิทธิประโยชน์อะไร
A1 : ผู้มีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่ นิติบุคคล หักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการเท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการสำหรับการซื้อสินค้าหรือการรับบริการในราชอาณาจักร ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 30,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565
Q2 : ผู้ใช้สิทธิประโยชน์ มาตรการ “ช้อปดีมีคืน ปี 2565” คือใคร
A2 : บุคคลธรรมดาเท่านั้น ไม่รวมห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
Q3 : การให้หักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ มีหลักเกณฑ์ เงื่อนไข อย่างไร
A3 : 1) ซื้อสินค้าหรือค่าบริการสำหรับการซื้อสินค้าหรือการรับบริการในราชอาณาจักร ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 30,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565
2) หลักเกณฑ์
2.1) ค่าสินค้าหรือค่าบริการไม่รวมถึง
2.1.1) ค่าสุรา เบียร์ และไวน์
2.1.2) ค่ายาสูบ
2.1.3) ค่าน้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ
2.1.4) ค่ารถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ
2.1.5) ค่าหนังสือพิมพ์และนิตยสารและค่าบริการหนังสือพิมพ์และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
2.1.6) ค่าบริการจัดนำเที่ยวที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยว และมัคคุเทศก์
2.1.7) ค่าที่พักในโรงแรมที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม
2.1.8) ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ ค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต และค่าบริการสำหรับบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการระยะยาวซึ่งเริ่มต้นก่อนวันที่ 1 มกราคม 2565 หรือสิ้นสุดหลังวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 แม้ว่าจะจ่ายค่าบริการระหว่าง วันที่ 1 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 ก็ตาม
2.1.9) ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย
2.2) ผู้มีเงินได้ต้องจ่ายค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและได้รับใบกำกับภาษีเต็มรูปตามมาตรา 86/4 เว้นแต่ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการดังต่อไปนี้จะจ่ายให้แก่ผู้มิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มก็ได้
2.2.1) ค่าซื้อหนังสือและค่าบริการหนังสือที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
2.2.2) ค่าสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนา ชุมชนแล้ว
2.3) หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขอื่น ๆ เป็นไปตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด เช่น วิธีการใช้สิทธิ์โดยทั่วไป วิธีการใช้สิทธิ์ของสามีและภริยา ข้อห้ามการใช้สิทธิ์ของผู้มีเงินได้ที่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หลักฐานประกอบการใช้สิทธิ์ เป็นต้น
Q4 : ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการใดบ้าง ที่สามารถนำมาหักลดหย่อนตามมาตรการนี้ได้
A4 : 1) ค่าซื้อสินค้าทุกประเภทที่ซื้อจากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม สามารถนำมาหักลดหย่อนตามมาตรการนี้ได้ ยกเว้น การซื้อสินค้า ดังต่อไปนี้
1.1) ค่าสุรา เบียร์ และไวน์
1.2) ค่ายาสูบ
1.3) ค่าน้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ
1.4) ค่ารถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ
1.5) ค่าหนังสือพิมพ์และนิตยสาร
1.6) ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า
2) ค่าซื้อบริการทุกประเภทจากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม สามารถนำมาหักลดหย่อนตามมาตรการนี้ได้ ยกเว้นการซื้อบริการ ดังต่อไปนี้
2.1) ค่าบริการนำเที่ยว
2.2) ค่าที่พักโรงแรม
2.3) ค่าบริการหนังสือพิมพ์และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
2.4) ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ ค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต และค่าบริการสำหรับบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการระยะยาวซึ่งเริ่มต้นก่อนวันที่ 1 มกราคม 2565 หรือสิ้นสุดหลังวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 แม้ว่าจะจ่ายค่าบริการระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 ก็ตาม
2.5) ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย
3) ค่าซื้อสินค้าหรือบริการ ดังต่อไปนี้ แม้จะจ่ายให้แก่ผู้มิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มสามารถนำมาหักลดหย่อนตามมาตรการนี้ได้ด้วย
3.1) หนังสือ และบริการหนังสือที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
3.2) สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว
Q5 : การซื้อทองรูปพรรณ สามารถนำมาหักลดหย่อนเป็นค่าซื้อสินค้าหรือบริการในประเทศ ได้หรือไม่
A5 : สามารถนำมาหักลดหย่อนเป็นค่าซื้อสินค้าได้ เฉพาะค่ากำเหน็จ (ตามมูลค่าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม) และ ต้องได้รับหลักฐานเป็นใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตามมาตรา 86/4
Q6 : การซื้อทองคำแท่ง สามารถนำมาหักลดหย่อนเป็นค่าซื้อสินค้าหรือบริการในประเทศ ได้หรือไม่
A6 : ไม่ได้ เนื่องจากทองคำแท่ง เป็นสินค้าที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ประกอบการไม่มีหน้าที่ออกใบกำกับภาษี อันเป็นหลักฐานในการใช้สิทธิตามมาตรการได้
Q7 : ค่ารักษาพยาบาล ค่าทำศัลยกรรม สามารถนำมาหักลดหย่อนเป็นค่าซื้อสินค้าหรือบริการในประเทศ ได้หรือไม่
A7 : ไม่ได้ เนื่องจากการให้บริการของสถานพยาบาลได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ประกอบการไม่มีหน้าที่ออกใบกำกับภาษี อันเป็นหลักฐานในการใช้สิทธิตามมาตรการได้
Q8 : ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ สามารถนำมาหักลดหย่อนเป็นค่าซื้อสินค้าหรือบริการในประเทศ ได้หรือไม่
A8 : ค่าบริการสาธารณูปโภค ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา และค่าโทรศัพท์ไม่สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีตามมาตรการได้
Q9 : ค่าซื้อแพคเกจทัวร์ท่องเที่ยวในประเทศ สามารถนำมาหักลดหย่อนเป็นค่าซื้อสินค้าหรือบริการในประเทศ ได้หรือไม่
A9 : ไม่ได้
Q10 : ค่าซื้อประกันชีวิต ประกันวินาศภัย ประกันสุขภาพ ประกันรถยนต์ สามารถนำมาหักลดหย่อนเป็นค่าซื้อสินค้าหรือบริการในประเทศ ได้หรือไม่
A10 : 1) ค่าซื้อประกันชีวิต ไม่สามารถนำมาใช้สิทธิตามมาตรการนี้ได้ เนื่องจากเป็นบริการไม่อยู่บังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ขอให้พิจารณาใช้สิทธิลดหย่อนค่าซื้อเบี้ยประกันชีวิต ตามประมวลรัษฎากร (มาตรา 47 (1) (ง)) และกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 พ.ศ. 2509 ข้อ 2 (61) ไม่เกินจำนวน 100,000 บาท
2) ค่าซื้อประกันวินาศภัย ประกันสุขภาพ และประกันรถยนต์ ไม่สามารถนำมาใช้สิทธิตามมาตรการนี้ได้
Q11 : ค่าซ่อมรถ สามารถนำมาหักลดหย่อนเป็นค่าซื้อสินค้าหรือบริการในประเทศ ได้หรือไม่
A11 : ได้ หากเป็นการซ่อมและจ่ายค่าซ่อมระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565
Q12 : ค่าซื้อเนื้อวัว หมู ไก่ ปลา สามารถนำมาหักลดหย่อนเป็นค่าซื้อสินค้าหรือบริการในประเทศ ได้หรือไม่
A12 : ไม่ได้ เนื่องจากเป็นสินค้าที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม
Q13 : ค่าซื้ออาหารในโรงแรม สามารถนำมาหักลดหย่อนเป็นค่าซื้อสินค้าหรือบริการในประเทศ ได้หรือไม่
A13 : ได้ หากโรงแรมสามารถออกใบกำกับภาษีของค่าซื้ออาหารได้
Q14 : ค่าซื้อบัตรเพื่อแลกรับบริการ สามารถนำมาหักลดหย่อนเป็นค่าซื้อสินค้าหรือบริการในประเทศได้หรือไม่
A14 : ไม่ได้ เนื่องจากการขายบัตรเพื่อแลกรับบริการ ไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ขายบัตรเพื่อแลกรับบริการไม่มีหน้าที่ออกใบกำกับภาษี อันเป็นหลักฐานในการใช้สิทธิตามมาตรการได้ แต่หากนำบัตรเพื่อแลกรับบริการ ไปแลกรับบริการในช่วงวันที่ 1 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งสามารถคำนวณเป็นจำนวนเงินและออกใบกำกับภาษีได้ สามารถนำใบกำกับภาษีมาใช้เป็นหลักฐานในการรับสิทธิตามมาตรการนี้ได้
Q15 : ค่าซื้อบัตรของขวัญของห้างสรรพสินค้า (Gift voucher) ค่าซื้อบัตรของขวัญ (Voucher) สำหรับค่าซื้ออาหารของโรงแรม บัตรเติมเงินค่าโทรศัพท์ สามารถนำมาหักลดหย่อนเป็นค่าซื้อสินค้าหรือบริการในประเทศ ได้หรือไม่
A15 : ไม่ได้ เนื่องจากการขายบัตรของขวัญ/บัตรเติมเงิน ไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ขายบัตรของขวัญ/เติมเงิน ไม่มีหน้าที่ออกใบกำกับภาษี อันเป็นหลักฐานในการใช้สิทธิตามมาตรการได้ แต่หากนำบัตรของขวัญ/บัตรเติมเงิน ไปแลกซื้อสินค้าหรือบริการ ในช่วงวันที่ 1 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งสามารถคำนวณเป็นจำนวนเงิน และออกใบกำกับภาษีได้ สามารถนำใบกำกับภาษีมาใช้เป็นหลักฐานในการรับสิทธิตามมาตรการนี้ได้
Q16 : กรณีชำระค่าบริการระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 แต่ได้ใช้บริการหลังวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 จะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้หรือไม่
A16 : ไม่สามารถใช้ได้ เนื่องจากต้องชำระค่าบริการและใช้บริการในช่วงวันที่ 1 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 เท่านั้น
Q17 : กรณีมีสัญญาใช้บริการระยะยาว ที่มีระยะเวลาสัญญาเริ่มต้นก่อนวันที่ 1 มกราคม 2565 หรือมีระยะสิ้นสุดหลัง 15 กุมภาพันธ์ 2565 โดยมีส่วนที่ชำระและใช้บริการภายในวันวันที่ 1 มกราคม 2565 ถึง 15 กุมภาพันธ์ 2565 สามารถนำค่าบริการเฉพาะส่วนที่ใช้บริการในช่วงเวลาดังกล่าวมาใช้สิทธิหักลดหย่อนตามมาตรการนี้ ได้หรือไม่
A17 : ไม่สามารถใช้ได้ เนื่องจากเป็นค่าบริการสำหรับบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการระยะยาว ซึ่งเริ่มต้นก่อน วันที่ 1 มกราคม 2565 หรือสิ้นสุดหลังวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565
Q18 : กรณีจ่ายค่าที่พักโรงแรม หรือจ่ายค่าบริการนำเที่ยว ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 สามารถใช้สิทธิหักลดหย่อนตามมาตรการนี้ ได้หรือไม่
A18 : ไม่สามารถใช้สิทธิหักลดหย่อนตามมาตรการนี้ได้ เนื่องจากการจ่ายค่าบริการนั้น ไม่รวมถึงการจ่ายค่าที่พักโรงแรม และค่าบริการนำเที่ยว
Q19 : ต้องใช้หลักฐานใด ในการใช้สิทธิหักลดหย่อน
A19 : หลักฐานที่ใช้ คือ ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ตามมาตรา 86/4 (ใบกำกับภาษีที่มีข้อความระบุชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ) เว้นแต่สินค้าหรือบริการดังต่อไปนี้ ที่ซื้อมาจากผู้ประกอบการที่ไม่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ต้องมีหลักฐานใบรับ ซึ่งมีรายการอย่างน้อยตามมาตรา 105 ทวิ พร้อมระบุชื่อ และนามสกุลของผู้มีเงินได้
1) หนังสือ
2) บริการหนังสือที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (e-Book)
3) สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว
Q20 : ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตามมาตรา 86/4 ที่สามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานในการหักลดหย่อน หมายถึงอะไร
A20 : ใบกำกับภาษีที่มีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้
(1) คำว่า "ใบกำกับภาษี" ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด
(2) ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษี
(3) ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ
(4) หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี และหมายเลขลำดับของเล่ม (ถ้ามี)
(5) ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ
(6) จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ โดยให้แยกออกจากมูลค่าของสินค้าและหรือของบริการให้ชัดแจ้ง
(7) วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี
(8) ข้อความอื่นที่อธิบดีกำหนด เช่น คำว่าเอกสารออกเป็นชุด สำเนาใบกำกับภาษี ฯลฯ
Q21 : ใบกำกับภาษีมีข้อความไม่สมบูรณ์ เช่น เขียนชื่อ หรือที่อยู่ผู้ซื้อสินค้าผิด หรือมีการแก้ไข สามารถนำมาใช้หักลดหย่อนได้หรือไม่
A21 : หากใบกำกับภาษีนั้นมีรายการครบถ้วนตามมาตรา 86/4 แม้จะมีการเขียนชื่อ หรือที่อยู่ผู้ซื้อสินค้าผิด หรือมีการแก้ไขข้อความ ก็สามารถใช้หักลดหย่อนได้
Q22 : ผู้ซื้อมีที่อยู่ตามบัตรประชาชนกับที่อยู่ในแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแตกต่างกันให้ใช้ที่อยู่ใด
A22 : เลือกใช้ที่อยู่ตามบัตรประชาชนหรือที่อยู่ปัจจุบันได้
Q23 : กรณีซื้อสินค้าหรือชำระค่าบริการหลายครั้ง (มีใบกำกับภาษีหลายใบ) ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 จะสามารถนำมูลค่าการซื้อสินค้าหรือชำระค่าบริการแต่ละครั้งมารวมกันเพื่อใช้สิทธิได้หรือไม่
A23 : การซื้อสินค้าหรือค่าบริการในแต่ละครั้งหากมีมูลค่าไม่ถึง 30,000 บาท สามารถนำการซื้อหลายครั้งมารวมกันได้ แต่ใช้สิทธิได้ไม่เกิน 30,000 บาท
Q24 : กรณีซื้อสินค้าหรือชำระค่าบริการครั้งเดียว (มีใบกำกับภาษี 1 ใบ) ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 โดยมูลค่าการซื้อสินค้าหรือชำระค่าบริการนั้นสูงกว่า 30,000 บาท สามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานในการรับสิทธิได้หรือไม่
A24 : สามารถใช้สิทธิตามมาตรการนี้ได้ เฉพาะมูลค่าสินค้าและบริการส่วนที่ไม่เกิน 30,000 บาท
Q25 : ใบกำกับภาษีมีชื่อผู้ซื้อสินค้าหลายคน สามารถนำรายจ่ายดังกล่าวไปหักลดหย่อนเป็นค่าซื้อสินค้าหรือบริการในประเทศ ได้หรือไม่
A25 : ไม่ได้ ใบกำกับภาษีต้องมีชื่อผู้ซื้อสินค้าหรือชำระค่าบริการเพียงคนเดียว
Q26 : กรณีใบกำกับภาษีมีทั้งรายการสินค้าและบริการ ที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มและไม่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม จะหักลดหย่อนอย่างไร
A26 : สามารถนำมาหักลดหย่อนได้เฉพาะค่าสินค้าและค่าบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เว้นแต่สินค้าหรือบริการดังต่อไปนี้ ที่จะสามารถนำมาหักลดหย่อนตามมาตรการนี้ได้ แม้จะจ่ายให้แก่ผู้มิใช่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
1) หนังสือ และบริการหนังสือที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
2) สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว
Q27 : หากใช้สิทธิมาตรการช้อปดีมีคืน ปี 2565 จะสามารถใช้สิทธิโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 ได้หรือไม่
A27 : สามารถใช้สิทธิมาตรการช้อปดีมีคืน ปี 2565 พร้อมกันกับเข้าร่วมโครงการคนละครึ่งระยะที่ 4 ได้
Q28 : ค่าธรรมเนียมซื้อขายหลักทรัพย์ สามารถใช้ลดหย่อนมาตรการช้อปดีมีคืน ปี 2565 ได้หรือไม่
A28 : ได้ หากค่าธรรมเนียมการซื้อหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้ามีภาษีมูลค่าเพิ่ม และกระทำในช่วงวันที่ 1 มกราคม - 15 กุมภาพันธ์ 2565 สามารถนำมาใช้ลดหย่อนมาตรการช้อปดีมีคืน ปี 2565 ได้
Q29 : สามีมีเงินได้ 500,000 บาท ภริยามีเงินได้ 20,000 บาท ภริยายื่นแบบรวมคำนวณกับสามี ถ้าภริยามีใบกำกับภาษีมูลค่า 30,000 บาท สามารถใช้สิทธิได้ 30,000 หรือไม่
A29 : นำมาใช้สิทธิได้ไม่เกินเงินได้พึงประเมินของภริยา คือ 20,000 บาท
Q30 : สามารถขอคืนภาษีตามมาตรการช้อปดีมีคืน ปี 2565 กับร้านค้าผู้ออกใบกำกับภาษีได้เลยใช่หรือไม่
A30 : ไม่ใช่ ผู้มีเงินได้ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 ปีภาษี 2565 กรอกรายได้ ค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อนและคำนวณภาษี ผ่านระบบe-Filing หรือยื่นแบบฯ ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา
Q31 : ต่างชาติสามารถใช้สิทธิตามมาตรการช้อปดีมีคืน ปี 2565 ได้หรือไม่
A31 : บุคคลต่างชาติที่มีหน้าที่ยื่นแบบฯ สามารถใช้สิทธิลดหย่อนมาตรการช้อปดีมีคืน ปี 2565 ได้
Q32 : ค่าสปา คาราโอเกะ อาบอบนวด สามารถนำมาหักลดหย่อนเป็นค่าซื้อสินค้าหรือบริการในประเทศ ได้หรือไม่
A32 : สามารถนำมาหักลดหย่อนเป็นค่าบริการในประเทศได้ และต้องได้รับหลักฐานเป็นใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตามมาตรา 86/4 จากผู้ประกอบการจดทะเบียน
Q33 : ค่าธรรมเนียมเทรดหุ้น สามารถใช้ลดหย่อนมาตรการช้อปดีมีคืน ปี 2565 ได้หรือไม่
A33 : ได้ หากค่าธรรมเนียมการเทรดหุ้นมีภาษีมูลค่าเพิ่ม และกระทำในช่วงวันที่ 1 มกราคม - 15 กุมภาพันธ์ 2565 สามารถนำมาใช้ลดหย่อนมาตรการช้อปดีมีคืน ปี 2565 ได้
Q34 : การซื้อยารักษาโรค อาหารเสริม สามารถใช้ลดหย่อนมาตรการช้อปดีมีคืน ปี 2565 ได้หรือไม่
A34 : สามารถนำมาหักลดหย่อนเป็นค่าซื้อสินค้าได้ และต้องได้รับหลักฐานเป็นใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตามมาตรา 86/4 จากผู้ประกอบการจดทะเบียน
Q35 : การซื้ออุปกรณ์ไอที เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน สามารถใช้ลดหย่อนมาตรการช้อปดีมีคืน ปี 2565 ได้หรือไม่
A35 : สามารถนำมาหักลดหย่อนเป็นค่าซื้อสินค้าได้ และต้องได้รับหลักฐานเป็นใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตามมาตรา 86/4 จากผู้ประกอบการจดทะเบียน
Q36 : การซื้อของออนไลน์ เช่น Shopee Lazada หรือร้านค้าออนไลน์ สามารถใช้ลดหย่อนมาตรการช้อปดีมีคืน ปี 2565 ได้หรือไม่
A36 : สามารถนำมาหักลดหย่อนเป็นค่าซื้อสินค้าได้ และต้องได้รับหลักฐานเป็นใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตามมาตรา 86/4 จากผู้ประกอบการจดทะเบียน
Q37 : การซื้อสินค้าและบริการโดยชำระด้วยบัตรเครดิต สามารถใช้ลดหย่อนมาตรการช้อปดีมีคืน ปี 2565 ได้หรือไม่
A37 : การชำระค่าซื้อสินค้าและบริการด้วยเงินสด พร้อมเพย์ บัตรเดบิต หรือบัตรเครดิต สามารถนำมาหักลดหย่อนเป็นค่าซื้อสินค้าและบริการได้ โดยต้องมีหลักฐานเป็นใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตามมาตรา 86/4 จากผู้ประกอบการจดทะเบียน และชำระในช่วงวันที่ 1 มกราคม - 15 กุมภาพันธ์ 2565
Q38 : ใบเสร็จรับเงิน ที่สามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานในการหักลดหย่อนได้ หมายถึงอะไร
A38 : หากซื้อสินค้าตามเงื่อนไขของมาตรการช้อปดีมีคืน ปี 2565 จากผู้ขายที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ใบเสร็จรับเงินต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้
(1) เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ขาย
(2) ชื่อหรือยี่ห้อของผู้ออกใบรับ
(3) เลขลำดับของเล่มและของใบรับ
(4) วันเดือนปีที่ออกใบรับ
(5) จำนวนเงินที่รับ
(6) ชนิด ชื่อ จำนวนและราคาสินค้า ในกรณีการขายหรือให้เช่าซื้อสินค้า เฉพาะชนิดที่มีราคาตั้งแต่ 100 บาทขึ้นไป
Q39 : การขอคืนภาษีตามมาตรการช้อปดีมีคืน ปี 2565 จะได้รับเงินคืนภาษีจำนวน 30,000 บาท ใช่หรือไม่
A39 : ไม่ใช่ การได้รับเงินคืนภาษีขึ้นอยู่กับจำนวนเงินได้ การคำนวณภาษี และอัตราภาษีของแต่ละคน
Q40 : การใช้สิทธิลดหย่อนตามมาตรการช้อปดีมีคืน ปี 2565 จำนวน 30,000 บาท คือ ยอดรวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วใช่หรือไม่
A40 : ใช่
Q41 : ค่าซื้อชุดตรวจ ATK สามารถใช้ลดหย่อนมาตรการช้อปดีมีคืน ปี 2565 ได้หรือไม่
A41 : สามารถนำมาหักลดหย่อนเป็นค่าซื้อสินค้าได้ และต้องได้รับหลักฐานเป็นใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตามมาตรา 86/4 จากผู้ประกอบการจดทะเบียน
Q42 : การชำระค่าบริการให้แก่ผู้ให้บริการ e-Service เช่น Netflix หรือค่าโฆษณา Meta (Facebook) สามารถใช้ลดหย่อนมาตรการช้อปดีมีคืน ปี 2565 ได้หรือไม่
A42 : ไม่ได้ เนื่องจากผู้ให้บริการ e-Service ไม่มีหน้าที่ออกใบกำกับภาษี
Q43 : การชำระค่าบริการชาร์ตไฟของรถยนต์ไฟฟ้าผ่านจุดบริการเครื่องชาร์ตรถไฟฟ้า สามารถใช้ลดหย่อนมาตรการช้อปดีมีคืน ปี 2565 ได้หรือไม่
A43 : สามารถใช้ลดหย่อนได้ หากค่าบริการชาร์ตไฟของรถยนต์ไฟฟ้ามีภาษีมูลค่าเพิ่ม กระทำในช่วงวันที่ 1 มกราคม - 15 กุมภาพันธ์ 2565 และได้รับหลักฐานใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตามมาตรา 86/4 จากผู้ประกอบการจดทะเบียน
จำนวนผู้เยี่ยมชม