เมนูปิด
Untitled Document

 

เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
การแลกเปลี่ยนข้อมูลตามคำขอระหว่างประเทศและการแลกเปลี่ยนข้อมูลอัตโนมัติระหว่างประเทศ

               สภาพปัญหาและความจำเป็นที่ต้องตรากฎหมายขึ้นเพื่อแก้ปัญหา
                   โดยที่ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิก Global Forum on Transparency and Exchange of Information for Tax Purposes (Global Forum) เพื่อส่งเสริมบทบาทของประเทศไทยในกรอบความร่วมมือขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development : OECD) และเป็นการยืนยันเจตนารมณ์ของประเทศไทยที่พร้อมจะร่วมมือกับ OECD ในการป้องกันการหลบหลีกหรือหลีกเลี่ยงภาษีและมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางภาษีเป็นไปตามมาตรฐานสากลเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความโปร่งใสในการบริหารจัดเก็บภาษีของประเทศ ดังนั้น เพื่อให้การจัดเก็บภาษีอากรสอดคล้องกับนโยบายดังกล่าว สมควรปรับปรุงบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

                หลักการอันเป็นสาระสำคัญของร่างกฎหมาย

                    1. เพิ่มเติมอำนาจอธิบดีในการสั่งให้บุคคลมีหน้าที่รวบรวมและนำส่งข้อมูลทางภาษีและข้อมูลอื่นๆ ตามที่ได้ร้องขอจากเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหรือตามสัญญาที่รัฐบาลไทยได้ทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศหรือตามสัญญาที่สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจได้ทำไว้กับหน่วยงานของต่างประเทศ (เพิ่มเติมมาตรา 3 ปัณณรส)
                    2. เพิ่มเติมให้อธิบดีมีอำนาจเปิดเผยและแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ได้รับตามสัญญาที่รัฐบาลไทยได้ทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศหรือตามสัญญาที่สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจได้ทำไว้กับหน่วยงานของต่างประเทศ (เพิ่มเติมมาตรา 3 โสฬส)
                    3. เพิ่มเติมกรณีห้ามมิให้เปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศตามสัญญาที่รัฐบาลไทยได้ทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศหรือตามสัญญาที่สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจได้ทำไว้กับหน่วยงานของต่างประเทศ (เพิ่มเติมมาตรา 3 สัตตรส)
                    4. เพิ่มเติมบทลงโทษในกรณีที่ผู้มีหน้าที่รายงานผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการรวบรวมและนำส่งข้อมูล (เพิ่มเติมมาตรา 35 ตรี)
                    5. เพิ่มเติมบทลงโทษในกรณีที่ผู้ใดรู้อยู่แล้วหรือโดยจงใจแจ้งข้อความเท็จในการรวบรวมและนำส่งข้อมูล (เพิ่มเติมมาตรา 35 จัตวา)
                    6. เพิ่มเติมบทลงโทษในกรณีที่ผู้ล่วงรู้ข้อมูลที่ต้องรายงานหรือข้อมูลที่ได้รับมาจากต่างประเทศ แล้วนำไปเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนแก่บุคคลอื่น (เพิ่มเติมมาตรา 35 เบญจ)
                    
               ในการนี้ กรมสรรพากรจึงขอเชิญชวนผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างกฎหมายดังกล่าวตามแบบฟอร์มการให้ความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.ฯ ผ่านทางเว็บไซต์ของกรมสรรพากร
ระหว่างวันที่ 25 กรกฎาคม 2561 ถึงวันที่ 9 สิงหาคม 2561

 



 

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 14-08-2018