เมนูปิด

ระเบียบกรมสรรพากร

ว่าด้วยการอุทธรณ์และการพิจารณาอุทธรณ์  ตามประมวลรัษฎากร  พ.ศ. 2564

         เพื่อให้การพิจารณาอุทธรณ์ภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรดำเนินไปอย่างมีระบบ มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เป็นแบบแผนเดียวกันและสอดคล้องกับข้อกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง กรมสรรพากรจึงวางระเบียบปฏิบัติไว้ ดังต่อไปนี้
          ข้อ 1 ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบกรมสรรพากร ว่าด้วยการอุทธรณ์และการพิจารณาอุทธรณ์ตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2564”
          ข้อ 2   ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ประกาศเป็นต้นไป
          ข้อ 3   ให้ยกเลิก
            (1) ระเบียบกรมสรรพากร ว่าด้วยการอุทธรณ์และการพิจารณาอุทธรณ์ ตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2546
            (2) ระเบียบกรมสรรพากร ว่าด้วยการอุทธรณ์และการพิจารณาอุทธรณ์ ตามประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2547
            (3) ระเบียบกรมสรรพากร ว่าด้วยการอุทธรณ์และการพิจารณาอุทธรณ์ ตามประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2551
            ข้อ 4   ในระเบียบนี้
              “อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมสรรพากร หรือผู้ที่อธิบดีกรมสรรพากรมอบหมาย
              “การยื่นคำอุทธรณ์” หมายความถึง การยื่นคำอุทธรณ์ ณ หน่วยงานรับคำอุทธรณ์ และให้หมายความรวมถึง การยื่นคำอุทธรณ์ผ่านระบบอุทธรณ์อิเล็กทรอนิกส์
              “การยื่นคำร้อง” หมายความถึง การยื่นคำร้องขอขยายกำหนดเวลาอุทธรณ์และหรือคำร้องขอทุเลาการเสียภาษีอากร ณ หน่วยงานรับคำอุทธรณ์ และให้หมายความรวมถึงการยื่นคำร้องดังกล่าวผ่านระบบอุทธรณ์อิเล็กทรอนิกส์
              “หน่วยงานพิจารณาอุทธรณ์” หมายความว่า สำนักงานสรรพากรภาค และ
กองบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่
              “สรรพากรภาค” หมายความรวมถึง ผู้ที่สรรพากรภาคมอบหมาย
              “ผู้อำนวยการกองบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่” หมายความรวมถึง ผู้ที่ผู้อำนวยการกองบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่มอบหมาย
              “สรรพากรพื้นที่” หมายความรวมถึง ผู้ที่สรรพากรพื้นที่มอบหมาย

             “หน่วยตรวจสอบ” หมายความถึง หน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบภาษีอากรและประเมินภาษีอากร ซึ่งตั้งขึ้นในกองตรวจสอบภาษีกลาง กองบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ และให้หมายความรวมถึงหน่วยงานที่กรมสรรพากรกำหนดให้มีหน้าที่ตรวจสอบภาษีอากรและประเมินภาษีอากรด้วย
                       “หน่วยเร่งรัด” หมายความถึง หน่วยงานที่ทำหน้าที่เร่งรัดภาษีอากรค้าง ซึ่งได้แก่ ส่วนเร่งรัดภาษีอากรค้าง กองบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ หรือส่วนกฎหมายและเร่งรัดภาษีอากรค้าง สำนักงานสรรพากรพื้นที่
                       “หน่วยควบคุม” หมายความถึง หน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลหนี้ภาษีอากรของหน่วยจัดเก็บในท้องที่ที่รับผิดชอบ ซึ่งได้แก่ ส่วนเร่งรัดภาษีอากรค้าง กองบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ หรือส่วนวางแผนและประเมินผล สำนักงานสรรพากรพื้นที่
                       “หน่วยจัดเก็บ” หมายความถึง สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา หรือกองบริหารการคลังและรายได้ หรือหน่วยงานอื่นที่กรมสรรพากรกำหนดให้มีหน้าที่จัดเก็บภาษีอากร
                       “หน่วยรับคำขอจัดทำความตกลงตามวิธีการดำเนินการเพื่อความตกลงร่วมกัน (Mutual Agreement Procedure : MAP)” หมายความถึง ศูนย์ปฏิบัติการตามพันธกรณีระหว่างประเทศ
         ข้อ 5   บรรดาระเบียบ คำสั่ง แนวทางปฏิบัติหรือหนังสืออื่นใดในส่วนที่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดในระเบียบนี้ ให้ใช้ระเบียบนี้แทน

         ข้อ 6   ให้ผู้อำนวยการกองอุทธรณ์ภาษีรักษาการตามระเบียบนี้

 

       

หมวด 1

การอุทธรณ์และการรับอุทธรณ์

ข้อ 7   การอุทธรณ์

7.1   การยื่นคำอุทธรณ์
เมื่อผู้เสียภาษีอากรได้รับหนังสือแจ้งการประเมินภาษีอากรจากเจ้าพนักงานประเมินหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ หากประสงค์จะคัดค้านการประเมินภาษีอากรดังกล่าว ให้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ภายในกำหนดเวลา 30 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งการประเมิน ตามมาตรา 30 แห่งประมวลรัษฎากร โดยใช้แบบคำอุทธรณ์ตามที่อธิบดีกำหนด
กรณีผู้เสียภาษีอากรยื่นคำอุทธรณ์ผ่านระบบอุทธรณ์อิเล็กทรอนิกส์และมีเหตุขัดข้องในระบบเป็นเหตุให้มีการหยุดรับคำอุทธรณ์ หรือมีเหตุอื่นใดที่ทำให้ไม่สามารถยื่นคำอุทธรณ์ผ่านระบบอุทธรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้สำเร็จ ผู้อุทธรณ์ต้องยื่นคำอุทธรณ์ ณ หน่วยงานรับคำอุทธรณ์ภายในกำหนดเวลาตามกฎหมาย
กรณีผู้เสียภาษีอากรยื่นคำอุทธรณ์เมื่อพ้นกำหนดเวลาตามกฎหมาย ต้องยื่นคำร้องขอขยายกำหนดเวลาการอุทธรณ์ต่ออธิบดี ตามมาตรา 3 อัฏฐ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร การอุทธรณ์ไม่เป็นการทุเลาการเสียภาษีอากร ตามมาตรา 31 แห่งประมวลรัษฎากร หากผู้อุทธรณ์จะขอทุเลาการเสียภาษีอากรต้องยื่นคำร้องขอทุเลาการเสียภาษีอากรต่ออธิบดี

         7.2   เขตอำนาจของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
7.2.1   กรณีอุทธรณ์การประเมินภาษีอากรของเจ้าพนักงานประเมินหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่มีสำนักงานตั้งอยู่ในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ให้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ซึ่งประกอบด้วยอธิบดีหรือผู้แทน ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด และผู้แทนกรมการปกครอง
7.2.2   กรณีอุทธรณ์การประเมินภาษีอากรของเจ้าพนักงานประเมินหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่มีสำนักงานตั้งอยู่ในเขตท้องที่จังหวัดอื่น นอกจากกรุงเทพมหานคร ให้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ซึ่งประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้แทน สรรพากรภาคหรือผู้แทน และอัยการจังหวัดหรือผู้แทน
7.3   หน่วยงานรับคำอุทธรณ์
7.3.1   กรณีอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ตามข้อ 7.2.1
ให้ยื่นคำอุทธรณ์ที่หน่วยงาน ดังนี้
(1)  สำนักงานสรรพากรภาค 1
(ก)   กรณีอุทธรณ์การประเมินภาษีอากรของเจ้าพนักงานประเมินหรือพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 1  2  3  4  5  6  7  8 และ 9
(ข)   กรณีอุทธรณ์การประเมินภาษีอากรของเจ้าพนักงานประเมินหรือพนักงานเจ้าหน้าที่กองตรวจสอบภาษีกลาง และคณะทำงานหรือหน่วยงานอื่นที่อธิบดีแต่งตั้ง สำหรับผู้เสียภาษีอากรที่มีภูมิลำเนาหรือสำนักงานตั้งอยู่ในเขตท้องที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 1  2  3  4  5  6  7  8  9 รวมทั้งสำนักงานสรรพากรภาค 4 และ 5
(ค)   กรณีอุทธรณ์การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มของเจ้าพนักงานประเมินสังกัดกรมศุลกากรที่มีสำนักงานตั้งอยู่ในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร สำหรับผู้เสียภาษีอากรที่มีภูมิลำเนาหรือสำนักงานตั้งอยู่ในเขตท้องที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 1  2  3  4  5  6  7  8  9 รวมทั้งสำนักงานสรรพากรภาค 4 และ 5 ยกเว้นผู้เสียภาษีอากรที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งกรมสรรพากรกำหนดให้อยู่ในความรับผิดชอบของกองบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่
(2)  สำนักงานสรรพากรภาค 2
(ก)   กรณีอุทธรณ์การประเมินภาษีอากรของเจ้าพนักงานประเมินหรือพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20 และ 21
(ข)   กรณีอุทธรณ์การประเมินภาษีอากรของเจ้าพนักงานประเมินหรือพนักงานเจ้าหน้าที่กองตรวจสอบภาษีกลาง และคณะทำงานหรือหน่วยงานอื่นที่อธิบดีแต่งตั้ง สำหรับผู้เสียภาษีอากรที่มีภูมิลำเนาหรือสำนักงานตั้งอยู่ในเขตท้องที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21 รวมทั้งสำนักงานสรรพากรภาค 7  8  9 และ 10
(ค)   กรณีอุทธรณ์การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มของเจ้าพนักงานประเมินสังกัดกรมศุลกากรที่มีสำนักงานตั้งอยู่ในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร สำหรับผู้เสียภาษีอากรที่มีภูมิลำเนาหรือสำนักงานตั้งอยู่ในเขตท้องที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21 รวมทั้งสำนักงานสรรพากรภาค 7  8  9 และ 10 ยกเว้นผู้เสียภาษีอากร ที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งกรมสรรพากรกำหนดให้อยู่ในความรับผิดชอบของกองบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่

                          (3)  สำนักงานสรรพากรภาค 3
(ก)   กรณีอุทธรณ์การประเมินภาษีอากรของเจ้าพนักงานประเมินหรือพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 22  23  24  25  26  27  28  29 และ 30
(ข)   กรณีอุทธรณ์การประเมินภาษีอากรของเจ้าพนักงานประเมินหรือพนักงานเจ้าหน้าที่กองตรวจสอบภาษีกลาง และคณะทำงานหรือหน่วยงานอื่นที่อธิบดีแต่งตั้ง สำหรับผู้เสียภาษีอากรที่มีภูมิลำเนาหรือสำนักงานตั้งอยู่ในเขตท้องที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 22  23  24  25  26  27  28  29  30 รวมทั้งสำนักงานสรรพากรภาค 6  11 และ 12
(ค)   กรณีอุทธรณ์การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มของเจ้าพนักงานประเมินสังกัดกรมศุลกากรที่มีสำนักงานตั้งอยู่ในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร สำหรับผู้เสียภาษีอากรที่มีภูมิลำเนาหรือสำนักงานตั้งอยู่ในเขตท้องที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 22  23  24  25  26  27  28  29  30 รวมทั้งสำนักงานสรรพากรภาค  6  11 และ 12 ยกเว้นผู้เสียภาษีอากรที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งกรมสรรพากรกำหนดให้อยู่ในความรับผิดชอบของกองบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่
(4)  สำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร
กรณีอุทธรณ์การประเมินภาษีอากรของเจ้าพนักงานประเมินหรือพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานครนั้น
(5)  กองบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่
(ก)   กรณีอุทธรณ์การประเมินภาษีอากรของเจ้าพนักงานประเมินหรือพนักงานเจ้าหน้าที่กองบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่
(ข)   กรณีอุทธรณ์การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มของเจ้าพนักงานประเมินสังกัดกรมศุลกากรที่มีสำนักงานตั้งอยู่ในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร สำหรับผู้เสียภาษีอากรที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งกรมสรรพากรกำหนดให้อยู่ในความรับผิดชอบของกองบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่
7.3.2   กรณีอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ตามข้อ 7.2.2
ให้ยื่นคำอุทธรณ์ที่หน่วยงาน ดังนี้
(1)  สำนักงานสรรพากรภาค
(ก)   กรณีอุทธรณ์การประเมินภาษีอากรของเจ้าพนักงานประเมินหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่มีสำนักงานตั้งอยู่ในเขตท้องที่สำนักงานสรรพากรภาคนั้น
(ข)   กรณีอุทธรณ์การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มของเจ้าพนักงานประเมินสังกัดกรมศุลกากรที่มีสำนักงานตั้งอยู่ในเขตท้องที่สำนักงานสรรพากรภาคนั้น
(2)  สำนักงานสรรพากรพื้นที่
กรณีอุทธรณ์การประเมินภาษีอากรของเจ้าพนักงานประเมินหรือพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่นั้น
ข้อ 8   การรับอุทธรณ์
8.1   ให้หน่วยงานที่มีหน้าที่รับคำอุทธรณ์ ตามข้อ 7.3 จัดข้าราชการตั้งแต่ระดับปฏิบัติการขึ้นไปหรือเทียบเท่า เป็นผู้รับคำอุทธรณ์

      8.2   ให้เจ้าหน้าที่ผู้รับคำอุทธรณ์ ตรวจคำอุทธรณ์ว่า ผู้เสียภาษีอากรได้กรอกข้อความ และแนบหลักฐานตามที่ระบุไว้ในคำอุทธรณ์ครบถ้วนก่อนรับคำอุทธรณ์ พร้อมออกใบรับคำอุทธรณ์ให้แก่
ผู้ยื่นคำอุทธรณ์ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
(1)  ชื่อผู้อุทธรณ์
(2)  วัน เดือน ปี ที่รับคำอุทธรณ์
(3)  ประเภทภาษีอากร
(4)  เดือน ปีภาษีที่อุทธรณ์
(5)  เลขรับอุทธรณ์ โดยให้เลขรับอุทธรณ์แยกตามประเภทภาษี และตามจำนวนหนังสือแจ้งการประเมินภาษีอากร
(6)  ลายมือชื่อเจ้าหน้าที่ผู้รับคำอุทธรณ์ โดยระบุชื่อ ชื่อสกุล และตำแหน่งกำกับไว้ให้ชัดเจน
ให้บันทึกเลขรับอุทธรณ์ วัน เดือน ปี ที่รับคำอุทธรณ์ และลงลายมือชื่อเจ้าหน้าที่ผู้รับคำอุทธรณ์ พร้อมระบุชื่อ ชื่อสกุล และตำแหน่งกำกับไว้ให้ชัดเจนที่มุมบนซ้ายในหน้าแรกของคำอุทธรณ์
8.3   กรณีที่หน่วยงานรับคำอุทธรณ์ได้รับคำอุทธรณ์ ให้บันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับการรับคำอุทธรณ์และออกเลขรับอุทธรณ์แต่ละรายไว้ในระบบอุทธรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เว้นแต่ กรณีมีเหตุขัดข้องไม่สามารถบันทึกในระบบได้ให้บันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับการรับคำอุทธรณ์ไว้ในสมุดบัญชีแสดงการรับและพิจารณาอุทธรณ์ (ท.ง.ด.5) หรือฐานข้อมูลแสดงการรับคำอุทธรณ์ และเมื่อไม่มีเหตุขัดข้องแล้วต้องนำมาบันทึกในระบบอุทธรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยอ้างอิงเลขรับอุทธรณ์ในสมุดบัญชีแสดงการรับและพิจารณาอุทธรณ์ (ท.ง.ด.5) หรือฐานข้อมูลแสดงการรับคำอุทธรณ์ด้วย
กรณีที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่เป็นหน่วยงานรับคำอุทธรณ์ เมื่อเจ้าหน้าที่ผู้รับคำอุทธรณ์บันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับการรับคำอุทธรณ์แล้ว ให้สำเนาคำอุทธรณ์ไว้เพื่อดำเนินการตามข้อ 8.5 และแจ้งการรับคำอุทธรณ์ทุกรายพร้อมส่งต้นฉบับคำอุทธรณ์ให้หน่วยงานพิจารณาอุทธรณ์ภายใน 5 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์ เมื่อหน่วยงานพิจารณาอุทธรณ์ได้รับคำอุทธรณ์ไว้แล้ว ให้ดำเนินการตามขั้นตอนในระบบอุทธรณ์อิเล็กทรอนิกส์
กรณีรับคำอุทธรณ์ผ่านระบบอุทธรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำเร็จ เลขรับอุทธรณ์จะออกด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ และแยกเป็นแต่ละประเภทภาษีอากร ยกเว้นการรับคำอุทธรณ์กรณีกรมศุลกากรหรือกรมสรรพสามิตเป็นผู้ประเมินแทนกรมสรรพากร จะแยกรายละเอียดเกี่ยวกับการรับคำอุทธรณ์และออกเลขรับอุทธรณ์แต่ละรายไว้ต่างหาก
กรณีรับคำอุทธรณ์/คำร้องผ่านระบบอุทธรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ให้เจ้าหน้าที่ผู้รับ
คำอุทธรณ์ของหน่วยงานพิจารณาอุทธรณ์เข้าระบบการยื่นคำอุทธรณ์ผ่านระบบอุทธรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และสั่งพิมพ์คำอุทธรณ์/คำร้องทุกวันทำการ เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนการพิจารณาอุทธรณ์ต่อไป หากคำอุทธรณ์/คำร้องนั้น ยื่นมาผิดหน่วยงานพิจารณาอุทธรณ์ ให้ดำเนินการส่งคำอุทธรณ์/คำร้องไปยังหน่วยงานพิจารณาอุทธรณ์ที่ถูกต้องภายใน 5 วัน นับแต่วันรับคำอุทธรณ์/คำร้อง พร้อมกับแจ้งให้ผู้อุทธรณ์ทราบว่า ได้ส่งคำอุทธรณ์/คำร้องไปที่หน่วยงานพิจารณาอุทธรณ์ใด

         8.4   กรณีที่ปรากฏว่า ผู้เสียภาษีอากรได้ยื่นคำอุทธรณ์เมื่อพ้นกำหนดเวลาตามกฎหมาย ให้เจ้าหน้าที่ผู้รับคำอุทธรณ์แจ้งให้ผู้ยื่นคำอุทธรณ์ทราบ พร้อมแจ้งสิทธิการขอขยายกำหนดเวลาการอุทธรณ์ตามมาตรา 3 อัฏฐ แห่งประมวลรัษฎากร โดยไม่ต้องออกใบรับคำอุทธรณ์
                 กรณีที่ได้บันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับการรับคำอุทธรณ์ไว้แล้ว เจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่พิจารณาอุทธรณ์พบว่า ผู้อุทธรณ์ยื่นคำอุทธรณ์เมื่อพ้นกำหนดเวลาตามกฎหมาย ให้แจ้งผู้อุทธรณ์ทราบเป็นหนังสือภายใน 5 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำนวนตรวจสอบภาษี เพื่อให้ผู้อุทธรณ์จัดทำคำร้องถึงอธิบดีขอขยายกำหนดเวลาการอุทธรณ์ ตามมาตรา 3 อัฏฐ แห่งประมวลรัษฎากร โดยชี้แจงข้อเท็จจริงและเหตุผลความจำเป็นที่ไม่สามารถยื่นคำอุทธรณ์ภายในกำหนดเวลาตามกฎหมาย แนบมาพร้อมคำอุทธรณ์
                 กรณีผู้ยื่นคำอุทธรณ์ได้ยื่นคำร้องขอขยายกำหนดเวลาการอุทธรณ์ ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ ให้หน่วยงานที่รับคำร้องนั้น บันทึกในระบบอุทธรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และส่งคำร้องพร้อมคำอุทธรณ์ ภาพถ่ายหนังสือแจ้งการประเมินภาษีอากร และหลักฐานการรับหนังสือแจ้งการประเมินภาษีอากร รวมทั้งเอกสารที่เกี่ยวข้องให้หน่วยงานพิจารณาอุทธรณ์ภายใน 5 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้อง
                 กรณีหน่วยงานพิจารณาอุทธรณ์ได้รับคำร้องขอขยายกำหนดเวลาการอุทธรณ์แล้ว ให้พิจารณาคำร้องโดยตรวจสอบข้อเท็จจริง เหตุผลความจำเป็นและเอกสารหลักฐานต่างๆ แล้วจัดทำรายงานการพิจารณาคำร้องเสนอความเห็นว่า ควรขยายกำหนดเวลาการอุทธรณ์ให้ผู้ร้องหรือไม่ เพราะเหตุใด พร้อมแนบคำร้องและคำอุทธรณ์ต่อผู้บังคับบัญชาถึงอธิบดีเพื่อพิจารณาสั่งการ ภายใน 85 วัน นับแต่วันที่หน่วยงานรับคำร้องได้รับคำร้องและเอกสารครบถ้วน เมื่ออธิบดีสั่งการแล้ว ให้แจ้งผลให้ผู้ร้องทราบภายใน 7 วัน นับแต่วันที่อธิบดีสั่งการ
                 กรณีอธิบดีสั่งการไม่อนุมัติให้ขยายกำหนดเวลาการอุทธรณ์ ให้หน่วยงานพิจารณาอุทธรณ์จัดทำหนังสือแจ้งการไม่อนุมัติและเหตุผลให้ผู้ร้องทราบ ซึ่งเหตุผลนั้นอย่างน้อยต้องประกอบด้วย ข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ ข้อกฎหมายที่อ้างอิง ข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจ พร้อมทั้งแจ้งสิทธิในการอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุมัติ หากผู้ร้องประสงค์จะอุทธรณ์คำสั่งนั้น ให้อุทธรณ์ต่อเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งภายในกำหนด
เวลา 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งดังกล่าว และสำหรับกรณีที่ได้บันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับการรับคำอุทธรณ์ในระบบแล้ว ให้บันทึกการสั่งการไว้ในระบบอุทธรณ์อิเล็กทรอนิกส์ด้วย
                 กรณีอธิบดีสั่งการอนุมัติให้ขยายกำหนดเวลาการอุทธรณ์ ให้หน่วยงานพิจารณาอุทธรณ์จัดทำหนังสือแจ้งให้ผู้ร้องทราบ โดยไม่จำเป็นต้องระบุเหตุผล เนื่องจากเป็นกรณีที่อนุมัติให้ตามคำร้องขอ และให้หมายเหตุว่า ผู้อุทธรณ์รายนี้ได้รับอนุมัติตามคำสั่งอธิบดี เมื่อวัน เดือน ปีใด ไว้ที่มุมบนซ้ายในหน้าแรกของคำอุทธรณ์ และในระบบอุทธรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งแนบคำสั่งอนุมัติของอธิบดีไว้กับคำอุทธรณ์ สำหรับกรณีที่ยังมิได้ออกใบรับคำอุทธรณ์ให้ออกใบรับคำอุทธรณ์ เพื่อจัดส่งไปให้ผู้อุทธรณ์พร้อมกับหนังสือแจ้งการอนุมัติให้ขยายกำหนดเวลาการอุทธรณ์
         8.5   เมื่อหน่วยงานรับคำอุทธรณ์ได้รับคำอุทธรณ์ไว้แล้ว ให้ดำเนินการต่อไป ดังนี้
                 8.5.1   แจ้งการรับคำอุทธรณ์ให้หน่วยควบคุมทราบ เพื่อให้แจ้งหน่วยเร่งรัดด้วย
                 8.5.2   แจ้งการรับคำอุทธรณ์ให้หน่วยตรวจสอบทราบ เพื่อให้ชี้แจงข้อเท็จจริงและเหตุผลในการประเมินภาษีอากร พร้อมทั้งส่งสำเนาคำอุทธรณ์ไปด้วย ภายใน 5 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์

         8.6   เมื่อหน่วยตรวจสอบได้รับแจ้ง ตามข้อ 8.5.2 แล้ว ให้ชี้แจงข้อเท็จจริงและเหตุผลในการประเมินภาษีอากร ซึ่งข้อเท็จจริงอย่างน้อยประกอบด้วย
(1)  รายละเอียดเกี่ยวกับผู้อุทธรณ์
(2)  มูลเหตุที่ทำการตรวจสอบ
(3)  การดำเนินการในชั้นตรวจสอบ
(4)  ผลการตรวจสอบ ได้แก่
ประเด็นความผิดที่ตรวจพบ เช่น ด้านรายได้ รายจ่าย การไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษี รายละเอียดการคำนวณภาษี
สรุปข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย ข้อพิจารณาในแต่ละประเด็นความผิด ซึ่งเป็นเหตุให้ต้องประเมินภาษี
(5)  วิธีการส่งหนังสือแจ้งการประเมินภาษีและวันที่รับหนังสือแจ้งการประเมินภาษี
(6)  การชี้แจงเหตุผลหักล้างข้อโต้แย้งของผู้อุทธรณ์เป็นรายประเด็น
ให้จัดส่งคำชี้แจงข้อเท็จจริงและเหตุผลในการประเมินภาษีพร้อมสำนวนการตรวจสอบภาษีรายนั้นทั้งหมดแก่หน่วยงานพิจารณาอุทธรณ์ภายใน 20 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากหน่วยงานรับคำอุทธรณ์

 

 

หมวด 2

การพิจารณาคำอุทธรณ์

      

ข้อ 9   หน่วยงานที่มีหน้าที่พิจารณาคำอุทธรณ์
9.1   ให้หน่วยงานต่อไปนี้เป็นหน่วยงานพิจารณาอุทธรณ์ มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการรวบรวมเอกสารหลักฐาน สรุปข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย พร้อมทั้งจัดทำรายงานการพิจารณาอุทธรณ์เสนอความเห็นต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
9.1.1   สำนักงานสรรพากรภาค 1  2  3 และกองบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่สำหรับการอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามข้อ 7.2.1 ซึ่งหน่วยงานรับคำอุทธรณ์ตามข้อ 7.3.1 รับไว้
9.1.2   สำนักงานสรรพากรภาค 4  5  6  7  8  9  10  11 และ 12 สำหรับการอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามข้อ 7.2.2 ซึ่งหน่วยงานรับคำอุทธรณ์ตามข้อ 7.3.2 รับไว้
9.2   ให้หน่วยงานพิจารณาอุทธรณ์จัดเจ้าหน้าที่ให้มีหน้าที่พิจารณาอุทธรณ์และเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ โดยเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่พิจารณาอุทธรณ์จะต้องไม่เป็นผู้ที่ทำการตรวจสอบ หรือเกี่ยวข้องโดยตรงกับการตรวจสอบภาษีอากรรายที่อุทธรณ์นั้นมาก่อน
9.3   เมื่อหน่วยงานพิจารณาอุทธรณ์ได้รับคำอุทธรณ์หรือคำชี้แจงข้อเท็จจริงและเหตุผลในการประเมินภาษีอากร พร้อมทั้งเหตุผลหักล้างข้อโต้แย้งของผู้อุทธรณ์และสำนวนเรื่องทั้งหมดจากหน่วยตรวจสอบแล้ว ให้ส่งให้เจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่พิจารณาอุทธรณ์ดำเนินการ

ข้อ 10   การดำเนินการของเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่พิจารณาอุทธรณ์
10.1   เมื่อเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่พิจารณาอุทธรณ์ได้รับเรื่องอุทธรณ์ตามข้อ 9.3 แล้ว ให้ตรวจสอบเอกสารหลักฐานประกอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ตามเหตุผลข้ออ้างอิงทั้งของเจ้าพนักงานประเมินหรือพนักงานเจ้าหน้าที่และของผู้อุทธรณ์
กรณีมีเหตุอันจำเป็นและสมควรที่จะต้องออกหนังสือเชิญพบหรือหมายเรียก ผู้อุทธรณ์หรือพยานมาไต่สวน และ/หรือให้นำเอกสารหลักฐานมาส่งมอบเพื่อประกอบการพิจารณาอุทธรณ์ให้เสนอผู้บังคับบัญชาเพื่อออกหนังสือเชิญพบหรือขออนุมัติออกหมายเรียกต่อกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามมาตรา 32 แห่งประมวลรัษฎากร
กรณีให้ผู้อุทธรณ์นำส่งเอกสารหลักฐานเพื่อประกอบการพิจารณา ให้กำหนดระยะเวลาให้ส่งมอบอย่างช้าไม่เกิน 30 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือเชิญพบหรือหมายเรียก และแจ้งผู้อุทธรณ์ให้ทราบว่า หากไม่ส่งมอบภายในระยะเวลาที่กำหนดจะพิจารณาตามหลักฐานเท่าที่ปรากฏ
10.2   เมื่อได้ดำเนินการตามข้อ 10.1 แล้วให้เจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่พิจารณาอุทธรณ์พิจารณาและเสนอความเห็นโดยจัดทำเป็นรายงานการพิจารณาอุทธรณ์ ซึ่งประกอบด้วย
(1)  การรับคำอุทธรณ์ แสดงรายละเอียดเกี่ยวกับการรับหนังสือแจ้งการประเมินภาษีอากร และการยื่นคำอุทธรณ์ ตามมาตรา 30 แห่งประมวลรัษฎากร
(2)  ข้อเท็จจริงในชั้นตรวจสอบ แสดงข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย เอกสารหลักฐาน พยานที่เกี่ยวข้อง อันเป็นประเด็นและเหตุผลในการประเมินภาษีอากรของเจ้าพนักงานประเมินหรือพนักงานเจ้าหน้าที่
(3)  ประเด็นที่อุทธรณ์ แสดงข้อโต้แย้งและเหตุผลของผู้อุทธรณ์
(4)  การดำเนินการในชั้นพิจารณาอุทธรณ์ของเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่พิจารณาอุทธรณ์ เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมนอกจากที่ปรากฏในสำนวนการประเมินภาษีอากรและคำอุทธรณ์
(5)  การพิจารณาและความเห็นของเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่พิจารณาอุทธรณ์ อย่างน้อยต้องประกอบด้วย ข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ ข้อกฎหมายที่อ้างอิง ข้อพิจารณาและข้อสนับสนุน
ในการใช้ดุลพินิจว่า การประเมินภาษีอากรของเจ้าพนักงานประเมินหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ในประเด็นที่อุทธรณ์โต้แย้งนั้นถูกต้องหรือไม่ เพราะเหตุใด และสรุปผลการพิจารณาว่าสมควรยกอุทธรณ์ ปลดภาษี ปรับปรุงภาษี (ลดหรือเพิ่ม) ตามการประเมินภาษีอากร ในกรณีที่มีการปรับปรุงภาษี ให้แสดงจำนวนภาษีตามการประเมินภาษีที่ลดลงหรือเพิ่มขึ้น และภาษีที่เรียกเก็บตามผลการพิจารณาอุทธรณ์
กรณีไม่รับคำอุทธรณ์ไว้พิจารณา ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่พิจารณาอุทธรณ์ เสนอความเห็นและแสดงเหตุผลเฉพาะประเด็นที่ไม่รับคำอุทธรณ์ไว้พิจารณา โดยไม่ต้องพิจารณาในเนื้อหา
ของคำอุทธรณ์
10.3   ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่พิจารณาอุทธรณ์เสนอรายงานการพิจารณาอุทธรณ์
ต่อผู้บังคับบัญชาถึงสรรพากรภาคหรือผู้อำนวยการกองบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่เพื่อพิจารณาสั่งการ
เมื่อสรรพากรภาคหรือผู้อำนวยการกองบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ เห็นสมควรดำเนินการเพิ่มเติมประการใด หรือเห็นสมควรนำเสนอคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ก็ให้สั่งการไว้ในเรื่อง
กรณีสั่งการให้ดำเนินการเพิ่มเติม ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่พิจารณาอุทธรณ์
นำเรื่องกลับมาดำเนินการ แล้วเสนอผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาสั่งการให้นำเสนอคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อไป

           10.4   กรณีเจ้าพนักงานประเมินยกเลิกการประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมิน
ฉบับที่ผู้อุทธรณ์ได้ยื่นคำอุทธรณ์คัดค้านการประเมินไว้แล้ว หรือผู้อุทธรณ์ยื่นคำร้องขอถอนคำอุทธรณ์ที่ได้ยื่นไว้ ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่พิจารณาอุทธรณ์จัดทำบันทึกการจำหน่ายคำอุทธรณ์ เสนอผู้บังคับบัญชาพิจารณาสั่งการให้นำเสนอคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เพื่อทราบและจำหน่ายคำอุทธรณ์ออกจากทะเบียนเพื่อดำเนินการ ตามข้อ 15.1
ข้อ 11   ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่พิจารณาอุทธรณ์ดำเนินการและพิจารณาเรื่องอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้น แล้วเสนอรายงานต่อผู้บังคับบัญชาถึงสรรพากรภาคหรือผู้อำนวยการกองบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ตามข้อ 10.3 ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่หน่วยงานรับคำอุทธรณ์ได้รับคำอุทธรณ์และเอกสารหลักฐานครบถ้วน เว้นแต่ กรณียื่นอุทธรณ์เกินกำหนดเวลา ให้นับแต่วันที่อธิบดีลงนามอนุมัติให้ขยายกำหนดเวลาการอุทธรณ์
ในกรณีไม่อาจดำเนินการและพิจารณาเรื่องอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ขออนุมัติขยายเวลาการพิจารณาอุทธรณ์โดยชี้แจงเหตุผลความจำเป็นต่อสรรพากรภาคหรือผู้อำนวยการกองบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ กรณีมีเหตุอันสมควรให้อนุมัติขยายเวลาออกไปได้ ครั้งละไม่เกิน 1 ปี
กรณีส่งสำนวนให้กรมสรรพากรร่วมพิจารณา ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่พิจารณาอุทธรณ์ดำเนินการและพิจารณาเรื่องอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้น แล้วเสนอรายงานต่อผู้บังคับบัญชาถึงอธิบดีภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่ได้รับสำนวนจากหน่วยงานพิจารณาอุทธรณ์ และได้รับเอกสารหลักฐานครบถ้วน กรณีมีเหตุอันสมควรให้อนุมัติขยายเวลาออกไปได้ ครั้งละไม่เกิน 6 เดือน

หมวด 3

การพิจารณาอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์

        

ข้อ 12   การจัดประชุมคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
12.1   ให้หน่วยงานพิจารณาอุทธรณ์ จัดให้มีเลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์สำหรับคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แต่ละคณะ แล้วนำเสนอคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เพื่อแต่งตั้งเลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการ
12.2   เมื่อสรรพากรภาคหรือผู้อำนวยการกองบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ได้สั่งให้นำเรื่องอุทธรณ์เสนอคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามข้อ 10.3 แล้ว ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่พิจารณาอุทธรณ์ส่งเรื่องทั้งหมดให้เลขานุการคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เพื่อลงทะเบียนรับเรื่องอุทธรณ์ไว้ แล้วจัดเข้าระเบียบวาระการประชุมคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
12.3   ให้เลขานุการคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ จัดระเบียบวาระการประชุมให้มีเรื่องอุทธรณ์ตามข้อ 12.2 โดยในระเบียบวาระการประชุมให้แจ้งรายละเอียดแต่ละเรื่อง ดังนี้
(1)  ข้อเท็จจริงในชั้นตรวจสอบ
(2)  ประเด็นที่อุทธรณ์
(3)  การดำเนินการในชั้นพิจารณาอุทธรณ์ (ถ้ามี)
(4)  การพิจารณาและความเห็นของหน่วยงานพิจารณาอุทธรณ์ อย่างน้อยต้องประกอบด้วย ข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ ข้อกฎหมายที่อ้างอิง ข้อพิจารณา และข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจ
12.4   ให้เลขานุการคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ จัดส่งระเบียบวาระการประชุมให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ทราบล่วงหน้าก่อนวันประชุม แต่ไม่น้อยกว่า 3 วัน

ข้อ 13   การประชุมและการวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
ในการประชุมคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ให้เลขานุการคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เสนอให้อธิบดีหรือผู้แทน หรือผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้แทน ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม แล้วแต่กรณี
การพิจารณาอุทธรณ์แต่ละเรื่องอย่างน้อยต้องมีรายละเอียดในหัวข้อต่อไปนี้
(1)  ข้อเท็จจริงในชั้นตรวจสอบ
(2)  ประเด็นที่อุทธรณ์
(3)  มติของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ประกอบด้วย ข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ ข้อกฎหมายที่อ้างอิง ข้อพิจารณา และข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจ
การมีมติวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ให้ถือตามเสียงข้างมาก
ให้เลขานุการคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จดรายงานการประชุมโดยละเอียด
ไว้เป็นหลักฐาน
การประชุมของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ อาจประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก็ได้
ข้อ 14   การจัดทำคำวินิจฉัยอุทธรณ์
ให้เลขานุการคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จัดทำคำวินิจฉัยอุทธรณ์ และนำเสนอคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ลงนามภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีมติวินิจฉัยอุทธรณ์ และแจ้งให้ผู้อุทธรณ์รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่หน่วยงานพิจารณาอุทธรณ์ได้รับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ลงนามแล้ว
14.1  เมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้พิจารณาและมีมติวินิจฉัยอุทธรณ์แล้ว ให้ดำเนินการ ดังนี้
(1)  จัดทำคำวินิจฉัยอุทธรณ์มีข้อความตรงกันโดยใช้แบบคำวินิจฉัยอุทธรณ์ (ภ.ส.7) ตามที่อธิบดีกำหนด จำนวน 2 ฉบับ พร้อมสำเนาคู่ฉบับ 1 ฉบับ โดย
ฉบับที่ 1 สำหรับผู้อุทธรณ์
ฉบับที่ 2 สำหรับคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
สำเนาคู่ฉบับ ให้เก็บรวมไว้ในสำนวนการพิจารณาอุทธรณ์
กรณีคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ มีมติยกอุทธรณ์หรือปลดภาษี
จะจัดทำคำวินิจฉัยอุทธรณ์ (ภ.ส.7) และหนังสือแจ้งผลคำวินิจฉัยอุทธรณ์ (ท.ป.3 ข.) 1 ชุด จำนวน 3 ฉบับ
ต่อหนังสือแจ้งการประเมินทั้งหมดก็ได้
ทั้งนี้ คำวินิจฉัยอุทธรณ์ (ภ.ส.7) ต้องจัดให้มีเหตุผลอย่างน้อยประกอบด้วย ข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ ข้อกฎหมายที่อ้างอิง ข้อพิจารณา และข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจ
สำหรับวันที่ที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีมติวินิจฉัยอุทธรณ์
ให้ระบุวันที่ประชุมวินิจฉัยอุทธรณ์
(2)  เสนอคำวินิจฉัยอุทธรณ์ (ภ.ส.7) ให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ลงนาม แล้วบันทึกผลการพิจารณาอุทธรณ์ในระบบอุทธรณ์อิเล็กทรอนิกส์

                   (3)  การให้เลขที่คำวินิจฉัยอุทธรณ์ (ภ.ส.7) ให้กำหนด ดังนี้
สำหรับคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์กรุงเทพมหานคร
สภ. (ระบุภาค…) (อธ.(ระบุฝ่าย…))/(เลขที่เรียงลำดับของแต่ละฝ่าย)/
(ปีประดิทินที่มีมติ)
ภญ. (ระบุฝ่าย…)/(เลขที่เรียงลำดับของแต่ละฝ่าย)/(ปีประดิทินที่มีมติ)
สำหรับคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จังหวัดอื่น
สภ. (ระบุภาค…) (ชื่อย่อจังหวัด)/(เลขที่เรียงลำดับของแต่ละจังหวัด)/(ปีประดิทินที่มีมติ)
(4)  จัดส่งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ (ภ.ส.7) ฉบับที่ 1 ให้ผู้อุทธรณ์ และฉบับที่ 2 ให้เก็บไว้เป็นหลักฐานของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
14.2  จัดทำสำเนาคำวินิจฉัยอุทธรณ์แต่ละรายจำนวน 3 ฉบับ พร้อมทั้งรับรองสำเนา และจัดทำหนังสือแจ้งผลคำวินิจฉัยอุทธรณ์ (ท.ป.3 ข.) ต่อท้ายสำเนาคู่ฉบับคำวินิจฉัยอุทธรณ์และสำเนาคำวินิจฉัยอุทธรณ์ทั้ง 3 ฉบับดังกล่าว เสนอให้สรรพากรภาค หรือผู้อำนวยการกองบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ลงนาม แล้วจัดส่งสำเนาคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้ เพื่อดำเนินการต่อไปตามผลคำวินิจฉัยอุทธรณ์
(1)  หน่วยเร่งรัด
(2)  หน่วยควบคุม
(3)  หน่วยตรวจสอบ
การจัดส่งสำเนาคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้แก่หน่วยตรวจสอบ ให้ส่งคืนสำนวนการตรวจสอบภาษีไปพร้อมกันด้วย
14.3  กรณีคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีมติไม่รับคำอุทธรณ์ไว้พิจารณา ให้เลขานุการคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จัดทำคำวินิจฉัยไม่รับคำอุทธรณ์ ตามแบบคำวินิจฉัยไม่รับคำอุทธรณ์ที่อธิบดีกำหนด โดยให้ดำเนินการเช่นเดียวกับการจัดทำคำวินิจฉัยอุทธรณ์ แต่ไม่ต้องจัดทำ ท.ป.3 ข.
การออกเลขที่ของคำวินิจฉัยไม่รับคำอุทธรณ์ ให้กำหนดเช่นเดียวกับการให้เลขที่คำวินิจฉัยอุทธรณ์ ตามข้อ 14.1 และใช้ทะเบียนเดียวกันกับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ โดยให้เรียงลำดับต่อเนื่องกันไป
ข้อ 15   การจัดทำหนังสือแจ้งการจำหน่ายคำอุทธรณ์
ให้เลขานุการคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จัดทำหนังสือแจ้งการจำหน่ายคำอุทธรณ์และนำเสนออธิบดี หรือสรรพากรภาค แล้วแต่กรณี ลงนามในฐานะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์รับทราบ แล้วจัดส่งให้แก่ผู้อุทธรณ์ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่กรรมการพิจารณาอุทธรณ์ลงนาม
15.1   กรณีเจ้าพนักงานประเมินยกเลิกการประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมินฉบับที่ผู้อุทธรณ์ได้ยื่นคำอุทธรณ์คัดค้านการประเมินไว้แล้ว หรือผู้อุทธรณ์ยื่นคำร้องขอถอนคำอุทธรณ์ที่ได้ยื่นไว้
ให้เลขานุการคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แจ้งให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ทราบ และจำหน่ายคำอุทธรณ์ออกจากทะเบียน แล้วจัดทำหนังสือแจ้งการจำหน่ายคำอุทธรณ์พร้อมสำเนาคู่ฉบับ เสนออธิบดีสำหรับการอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามข้อ 7.2.1 หรือสรรพากรภาคสำหรับการอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามข้อ 7.2.2 ลงนามในฐานะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
15.2   จัดทำสำเนาหนังสือแจ้งการจำหน่ายคำอุทธรณ์จำนวน 3 ฉบับ พร้อมทั้งรับรองสำเนา แล้วจัดส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่นเดียวกับในข้อ 14.2

หมวด 4

การทุเลาการเสียภาษีอากร

  

ข้อ 16   การทุเลาการเสียภาษีอากร
ในกรณีที่มีการยื่นคำอุทธรณ์และผู้อุทธรณ์ประสงค์จะขอทุเลาการเสียภาษีอากรระหว่างรอคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์หรือคำพิพากษาของศาล ผู้อุทธรณ์จะต้องยื่นคำร้องต่ออธิบดี ดังนี้
(1)  ในชั้นอุทธรณ์การประเมินภาษีอากรต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ให้ยื่นคำร้องขอทุเลาการเสียภาษีอากรไว้ก่อนจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ (ภ.ส.7)
(2)  ในชั้นอุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ (ภ.ส.7) ต่อศาล ให้ยื่นคำร้องขอทุเลาการเสียภาษีอากรไว้ก่อนจนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลถึงที่สุด
ข้อ 17   เว้นแต่อธิบดีจะสั่งเป็นอย่างอื่น ในการขอทุเลาการเสียภาษีอากร ผู้อุทธรณ์จะต้องจัดให้มีหลักประกันการชำระภาษี ดังนี้
(1)  หนังสือค้ำประกันของธนาคารตามแบบที่อธิบดีกำหนด
(2)  นำอสังหาริมทรัพย์มาจดทะเบียนจำนองเป็นประกันต่อทางราชการ และอสังหาริมทรัพย์นั้น ต้องมีราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม
ตามประมวลกฎหมายที่ดิน ในจำนวนที่คุ้มกับหนี้ภาษีอากร พร้อมทั้งเงินเพิ่มที่จะเกิดขึ้นอีกจนเต็มอัตรา
ตามกฎหมาย
(3)  นำพันธบัตรรัฐบาลมาเป็นประกันตามแนวทางปฏิบัติในการใช้พันธบัตรรัฐบาล เป็นหลักประกันที่กรมสรรพากรกำหนดในจำนวนที่คุ้มกับหนี้ภาษีอากร พร้อมทั้งเงินเพิ่มที่จะเกิดขึ้นอีกจนเต็มอัตราตามกฎหมาย
(4)  นำสมุดเงินฝากประจำธนาคารพาณิชย์ของผู้อุทธรณ์ ซึ่งมียอดเงินฝากคุ้มกับหนี้ภาษีอากรพร้อมทั้งเงินเพิ่มที่จะเกิดขึ้นอีกจนเต็มอัตราตามกฎหมายมาให้ยึดเป็นหลักประกัน โดยต้องมีหนังสือยินยอมของผู้อุทธรณ์ให้ระงับการทำนิติกรรมที่เกี่ยวกับการจำหน่าย จ่าย โอน เงินในบัญชีเงินฝากประจำที่นำมาเป็นหลักประกัน และหนังสือของธนาคารรับรองยอดเงินฝากและยืนยันการปลอดภาระผูกพัน พร้อมทั้งแจ้งผลการระงับการทำนิติกรรมเพื่อกรมสรรพากรจากธนาคารพาณิชย์
(5)  นำอสังหาริมทรัพย์หรือพันธบัตรรัฐบาลของบุคคลอื่น มาจดทะเบียนจำนองหรือเป็นประกันหนี้ภาษีอากรที่ต้องชำระบางส่วน ในกรณีนี้เป็นการทุเลาการเสียภาษีอากรบางส่วนของผู้อุทธรณ์ กรมสรรพากรมีสิทธิที่จะเร่งรัดหนี้ภาษีอากรที่ต้องชำระในส่วนที่ไม่มีหลักประกันได้ตามมาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อ 18   หน่วยงานรับคำร้องขอทุเลาการเสียภาษีอากร
คำร้องขอทุเลาการเสียภาษีอากรตามการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินหรือตามการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มของเจ้าพนักงานประเมิน สังกัดกรมศุลกากร ให้ผู้อุทธรณ์ยื่นที่หน่วยงาน ดังนี้
(1)  สำนักงานสรรพากรภาค ซึ่งเป็นหน่วยงานรับคำอุทธรณ์ ตามข้อ 7.3.1 หรือ ข้อ 7.3.2 แล้วแต่กรณี หรือในกรณีที่หนี้ภาษีอากรตั้งค้างที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ที่อยู่ในเขตท้องที่ของสำนักงานสรรพากรภาคนั้น
(2)  สำนักงานสรรพากรพื้นที่ ในกรณีที่หนี้ภาษีอากรตั้งค้างอยู่ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่นั้น
(3)  กองบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นหน่วยงานรับคำอุทธรณ์

ข้อ 19   การพิจารณาคำร้องขอทุเลาการเสียภาษีอากร
19.1   ให้หน่วยงานรับคำร้องขอทุเลาการเสียภาษีอากร ตรวจสอบความถูกต้องของคำร้องและหลักประกันหรือสำเนาหลักประกัน แล้วบันทึกในระบบอุทธรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พร้อมทั้งจัดส่งคำร้องและสำเนาหลักประกันให้หน่วยงานพิจารณาอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณาคำร้อง ภายใน 5 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้อง
กรณีเป็นหลักประกันตามข้อ 17 (1) ให้เก็บรักษาต้นฉบับสัญญาค้ำประกันไว้ ณ หน่วยงานที่รับคำร้อง นั้น
19.2   เมื่อหน่วยงานพิจารณาอุทธรณ์ได้รับคำร้อง และหลักประกันหรือสำเนาหลักประกัน ให้ส่งเรื่องให้เจ้าหน้าที่จัดทำรายงานการพิจารณาคำร้องขอทุเลาการเสียภาษีอากร โดยเจ้าหน้าที่จะต้องตรวจสอบจากหน่วยเร่งรัดก่อนว่า กรมสรรพากรได้ออกคำสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้อุทธรณ์
ตามมาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากร ไว้แล้วหรือไม่
กรณีพบว่า มีคำสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้อุทธรณ์และทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดไว้นั้น มีจำนวนที่คุ้มกับหนี้ภาษีอากรที่ต้องชำระแล้ว ให้พิจารณาเสนอไม่อนุมัติให้ทุเลาการเสียภาษีอากร เว้นแต่ มีหลักประกันในการขอทุเลาการเสียภาษีอากรที่สามารถถอนการยึดหรืออายัดได้ตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง
กรณีไม่พบว่า มีคำสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้อุทธรณ์ไว้ ให้พิจารณาหลักประกันและเสนอความเห็นว่าควรอนุมัติหรือไม่อนุมัติให้ทุเลาการเสียภาษีอากร
กรณีอนุมัติให้ทุเลาการเสียภาษีอากรจะต้องเป็นการอนุมัติโดยมีเงื่อนไขว่า ต้องได้รับการยืนยันการค้ำประกันจากธนาคาร หรือมีการจดทะเบียนจำนอง หรือได้รับหนังสือแจ้งการบันทึกในระบบทะเบียนของธนาคารแห่งประเทศไทย แล้วแต่กรณี เสียก่อน
19.3   กรณีได้รับอนุมัติให้ทุเลาการเสียภาษีอากร โดยมีหลักประกันตามข้อ 17 ให้ดำเนินการ ดังนี้
19.3.1   กรณีให้ธนาคารค้ำประกัน ให้หน่วยงานพิจารณาอุทธรณ์ขอรับการยืนยันการค้ำประกันจากธนาคารผู้ออกหนังสือสัญญาค้ำประกัน
19.3.2   กรณีนำอสังหาริมทรัพย์มาจดทะเบียนจำนองเป็นประกันการชำระภาษี ให้หน่วยงานพิจารณาอุทธรณ์ดำเนินการ ดังนี้
(1)   สำนักงานสรรพากรภาค
(1.1)  กรณีอสังหาริมทรัพย์ตั้งอยู่ในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ให้สำนักงานสรรพากรพื้นที่เป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบสภาพและราคาอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งไปจดทะเบียนจำนองตามท้องที่ที่รับผิดชอบ ดังนี้
(ก)   กรณีหนี้ภาษีอากรตั้งค้างที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ให้สำนักงานสรรพากรพื้นที่ที่หนี้ภาษีอากรตั้งค้างเป็นผู้ดำเนินการ
(ข)   กรณีหนี้ภาษีอากรตั้งค้างที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ในเขตท้องที่จังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานคร ให้สำนักงานสรรพากรพื้นที่ที่อสังหาริมทรัพย์ตั้งอยู่เป็นผู้ดำเนินการ
(1.2)  กรณีอสังหาริมทรัพย์ตั้งอยู่ในเขตท้องที่จังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานคร ให้สำนักงานสรรพากรพื้นที่ในเขตท้องที่จังหวัดนั้นๆ เป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบสภาพและราคาอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งไปจดทะเบียนจำนอง

                                (2)  กองบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่
(2.1)  กรณีอสังหาริมทรัพย์ตั้งอยู่ในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ให้กองบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ เป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบสภาพและราคาอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งไปจดทะเบียนจำนอง
(2.2)  กรณีอสังหาริมทรัพย์ตั้งอยู่ในเขตท้องที่จังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานคร ให้สำนักงานสรรพากรพื้นที่ในเขตท้องที่จังหวัดนั้นๆ เป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบสภาพและราคาอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งไปจดทะเบียนจำนอง
19.3.3   กรณีนำพันธบัตรรัฐบาลมาเป็นประกันการชำระภาษี ให้หน่วยงานพิจารณาอุทธรณ์แจ้งสำนักงานสรรพากรพื้นที่ที่หนี้ภาษีอากรตั้งค้างอยู่เป็นผู้ดำเนินการจดทะเบียนการใช้พันธบัตรที่ธนาคารแห่งประเทศไทยก่อนจะรับไว้เป็นหลักประกัน ทั้งนี้ ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้กำหนดพิธีปฏิบัติในการใช้ตราสารหนี้เป็นหลักประกันไว้
19.4   เมื่อได้ดำเนินการตามข้อ 19.3.2 หรือข้อ 19.3.3 แล้ว ให้เก็บสัญญาจำนองหรือพันธบัตรรัฐบาลที่เป็นหลักประกันไว้ ณ หน่วยงานที่ดำเนินการ แล้วจัดส่งสำเนาภาพถ่ายสัญญาจำนองหรือสำเนาภาพถ่ายพันธบัตรและสำเนาภาพถ่ายหนังสือแจ้งการบันทึกการใช้ตราสารหนี้ (พันธบัตร) เป็นหลักประกันในระบบทะเบียนของธนาคารแห่งประเทศไทย ให้หน่วยงานพิจารณาอุทธรณ์ภายใน 5 วัน นับแต่วันที่จดทะเบียนหรือได้รับหนังสือแจ้งการบันทึกในระบบทะเบียนของธนาคารแห่งประเทศไทย
ข้อ 20   ระยะเวลาและการแจ้งผลการพิจารณาคำร้องขอทุเลาการเสียภาษีอากร
20.1   กรณีหลักประกันเป็นหนังสือค้ำประกันของธนาคาร หรือพันธบัตรรัฐบาล หรือสมุดเงินฝากประจำธนาคารพาณิชย์ ตามข้อ 17 (1) หรือ (3) หรือ (4) หรือ (5) ให้เจ้าหน้าที่พิจารณาคำร้องให้แล้วเสร็จและเสนออธิบดีตามข้อ 19.2 แล้วแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้อุทธรณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่หน่วยงานพิจารณาอุทธรณ์ได้รับหนังสือของธนาคารรับรองยอดเงินฝากและยืนยันการปลอดภาระผูกพัน พร้อมทั้งแจ้งผลการระงับการทำนิติกรรม
20.2   กรณีนำอสังหาริมทรัพย์มาจดทะเบียนจำนองเป็นประกัน ตามข้อ 17 (2) หรือ (5) ให้เจ้าหน้าที่พิจารณาคำร้องให้แล้วเสร็จและเสนออธิบดีตามข้อ 19.2 แล้วแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้อุทธรณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ ภายใน 85 วัน นับแต่วันที่หน่วยงานรับคำร้องได้รับคำร้อง ในกรณีไม่อาจดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าว เนื่องจากมีการขอให้หน่วยงานอื่นตรวจสอบหลักฐานหรือประเมินราคาหลักทรัพย์ ให้ขออนุมัติขยายเวลาการพิจารณาคำร้อง โดยชี้แจงเหตุผลความจำเป็นต่ออธิบดี เพื่อขอขยายเวลาออกไปได้ครั้งละไม่เกิน 30 วัน
เมื่ออธิบดีสั่งการแล้ว ให้หน่วยงานพิจารณาอุทธรณ์จัดทำหนังสือแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้อุทธรณ์ทราบ และจัดทำสำเนาหนังสือดังกล่าวส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังต่อไปนี้
(1)  หน่วยเร่งรัด
(2)  หน่วยควบคุม
(3)  หน่วยจัดเก็บ
กรณีไม่อนุมัติให้ทุเลาการเสียภาษีอากร ให้แจ้งเหตุผลที่ไม่อนุมัติ ซึ่งเหตุผลนั้น
อย่างน้อยต้องประกอบด้วย ข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ ข้อกฎหมายที่อ้างอิง ข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจ พร้อมทั้งแจ้งสิทธิในการอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุมัติให้ทุเลาการเสียภาษีอากร

หมวด 5

การอุทธรณ์และการรับคำอุทธรณ์
กรณีผู้อุทธรณ์ใช้สิทธิขอจัดทำความตกลงตามวิธีการดำเนินการเพื่อความตกลงร่วมกัน
(Mutual Agreement Procedure : MAP)

          

ข้อ 21   หน่วยรับคำขอจัดทำความตกลงตามวิธีการดำเนินการเพื่อความตกลงร่วมกัน (Mutual Agreement Procedure : MAP) มีหน้าที่ ดังนี้
21.1   แจ้งรายชื่อผู้ที่กรมสรรพากรรับจัดทำความตกลงตาม MAP ที่ประสงค์ให้ชะลอการอุทธรณ์ไว้ก่อนจนกว่าการจัดทำความตกลงตาม MAP จะเสร็จสิ้นมายังกองอุทธรณ์ภาษีภายใน 15 วัน นับแต่วันที่กรมสรรพากรรับจัดทำความตกลงตาม MAP หรือวันที่กรมสรรพากรได้รับแจ้งรายชื่อผู้ใช้สิทธิขอจัดทำความตกลงตาม MAP จากต่างประเทศ
21.2   แจ้งรายชื่อผู้ที่อยู่ระหว่างการจัดทำความตกลงตาม MAP โดยกรมสรรพากร ให้กองอุทธรณ์ภาษีทราบภายในวันที่ 7 ของเดือนมิถุนายนและวันที่ 7 ของเดือนธันวาคมของทุกปี
21.3   เมื่อการจัดทำความตกลงตาม MAP รายใดเสร็จสิ้นลง ให้แจ้งกองอุทธรณ์ภาษีทราบภายใน 7 วัน นับแต่วันที่การจัดทำความตกลงตาม MAP เสร็จสิ้น
ข้อ 22   ให้กองอุทธรณ์ภาษีมีหน้าที่ ดังนี้
22.1   เมื่อได้รับแจ้งข้อมูลจากหน่วยรับคำขอจัดทำความตกลงตาม MAP ตามข้อ 21 ให้ดำเนินการบันทึกข้อมูลในทะเบียนคุม กรณีเป็นรายที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานพิจารณาอุทธรณ์ ให้แจ้งข้อมูลที่ได้รับทราบไปยังหน่วยงานพิจารณาอุทธรณ์ที่รับผิดชอบภายใน 15 วัน นับแต่วันที่กรมสรรพากรรับจัดทำความตกลงตาม MAP หรือวันที่ได้รับแจ้งรายชื่อผู้ใช้สิทธิขอจัดทำความตกลงตาม MAP จากต่างประเทศ
22.2   แจ้งข้อมูลดังต่อไปนี้ ไปยังหน่วยรับคำขอจัดทำความตกลงตาม MAP ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งข้อมูลนั้น
(1)  ผลการสั่งการให้ชะลอการนำเสนอเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เพื่อวินิจฉัยอุทธรณ์
(2)  คำสั่งยุติการชะลอการนำเสนอเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เพื่อวินิจฉัยอุทธรณ์
(3)  คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ กรณีผู้อุทธรณ์เป็นผู้ที่กรมสรรพากรรับจัดทำความตกลงตาม MAP แต่ไม่อาจชะลอการนำเสนอเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เพื่อวินิจฉัยอุทธรณ์ได้
ข้อ 23   การอุทธรณ์และการรับคำอุทธรณ์
ให้ดำเนินการตามข้อ 7 และ ข้อ 8 ของหมวด 1 การอุทธรณ์และการรับอุทธรณ์
ข้อ 24   การพิจารณาคำอุทธรณ์ ให้ดำเนินการไปตามหมวด 2 การพิจารณาคำอุทธรณ์ เว้นแต่ กรณีที่ผู้อุทธรณ์เป็นผู้ที่กรมสรรพากรรับจัดทำความตกลงตาม MAP หรือเป็นผู้ใช้สิทธิขอจัดทำความตกลงตาม MAP จากต่างประเทศ ให้กองอุทธรณ์ภาษีและหน่วยงานพิจารณาอุทธรณ์ตรวจสอบระยะเวลาตั้งแต่ผู้อุทธรณ์ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินภาษีอากรจนถึงวันที่กรมสรรพากรรับจัดทำความตกลงตาม MAP หรือวันที่กรมสรรพากรได้รับแจ้งว่าผู้อุทธรณ์ได้รับสิทธิจัดทำความตกลงตาม MAP จากต่างประเทศ หากปรากฏว่า

           24.1   มีระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่พิจารณาอุทธรณ์จัดทำรายงานเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น เพื่อขออนุมัติให้ผู้มีอำนาจสั่งการชะลอการนำเสนอเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เพื่อวินิจฉัยอุทธรณ์ไว้ก่อน กรณีเป็นรายที่ต้องส่งกรมสรรพากรเพื่อร่วมพิจารณา ให้หน่วยงานพิจารณาอุทธรณ์ดำเนินการส่งคำอุทธรณ์ สำนวนการพิจารณาอุทธรณ์ สำนวนการตรวจสอบ และเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ไปยังกองอุทธรณ์ภาษีเพื่อร่วมพิจารณาให้เสร็จสิ้น
เมื่อกองอุทธรณ์ภาษีร่วมพิจารณาเสร็จสิ้น ให้ส่งเรื่องคืนให้หน่วยงานพิจารณาอุทธรณ์ เพื่อชะลอการนำเสนอเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เพื่อวินิจฉัยอุทธรณ์ไว้ก่อนจนกว่าจะได้รับทราบผลความตกลงตาม MAP
24.2   มีระยะเวลาเกินกว่า 5 ปี ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่พิจารณาอุทธรณ์ดำเนินการให้เสร็จสิ้น และนำเสนอเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เพื่อวินิจฉัยอุทธรณ์ตามระเบียบ โดยไม่ต้องรอผลการดำเนินการตาม MAP และให้หน่วยงานพิจารณาอุทธรณ์แจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้กองอุทธรณ์ภาษีทราบภายใน 15 วัน นับแต่วันที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ลงนาม
ข้อ 25   เมื่อได้รับแจ้งข้อมูลว่าผู้อุทธรณ์รายใดได้ใช้สิทธิขอจัดทำความตกลงตาม MAP และการจัดทำความตกลงดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้ว ให้หน่วยงานพิจารณาอุทธรณ์ดำเนินการ ดังนี้
25.1   กรณีผู้อุทธรณ์ยอมรับผลความตกลงตาม MAP และดำเนินการถอนคำอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับทราบผลการจัดทำความตกลงตาม MAP ให้เลขานุการคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แจ้งให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ทราบ และจำหน่ายคำอุทธรณ์ออกจากทะเบียน แล้วจัดทำหนังสือ
แจ้งการจำหน่ายคำอุทธรณ์พร้อมสำเนาคู่ฉบับ เสนออธิบดีสำหรับการอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามข้อ 7.2.1 หรือสรรพากรภาคสำหรับการอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามข้อ 7.2.2 ลงนามในฐานะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ และแจ้งให้ผู้อุทธรณ์ทราบภายใน 7 วัน นับแต่วันที่กรรมการพิจารณาอุทธรณ์ลงนามพร้อมทั้งจัดทำสำเนาหนังสือแจ้งการจำหน่ายคำอุทธรณ์และรับรองสำเนา จำนวน 3 ฉบับ แล้วจัดส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่นเดียวกับในข้อ 14.2
25.2   กรณีผู้อุทธรณ์ไม่ยอมรับผลความตกลงตาม MAP หรือยอมรับผลความตกลงตาม MAP แต่มิได้ดำเนินการถอนคำอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับทราบผลความตกลงตาม MAP ให้หน่วยงานพิจารณาอุทธรณ์จัดทำรายงานเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น เพื่อให้ผู้มีอำนาจสั่งการให้นำเสนอเรื่องที่ได้ชะลอไว้เสนอต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เพื่อวินิจฉัยอุทธรณ์ตามระเบียบต่อไป ทั้งนี้ ให้หน่วยงานพิจารณาอุทธรณ์ดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่ผู้มีอำนาจได้สั่งการ
ข้อ 26   การพิจารณาอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
ให้ดำเนินการตามข้อ 12 – 15 ของหมวด 3 การพิจารณาอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
ข้อ 27   การทุเลาการเสียภาษีอากร
การใช้สิทธิขอจัดทำความตกลงตาม MAP ไม่เป็นเหตุแห่งการทุเลาการเสียภาษีอากร หากผู้อุทธรณ์ประสงค์จะทุเลาการเสียภาษีอากรไว้ก่อนในระหว่างรอการจัดทำความตกลงตาม MAP ให้พิจารณาคำร้องขอทุเลาการเสียภาษีอากรตามข้อ 16 โดยต้องจัดให้มีหลักประกันการชำระภาษีตามข้อ 17 (1) (2) (3) และ (5) ของหมวด 4 การทุเลาการเสียภาษีอากร
ข้อ 28   การรายงาน
ให้ดำเนินการตามข้อ 29 ของหมวด 6 การรายงาน

หมวด 6

การรายงาน

ข้อ 29   การรายงานผลการปฏิบัติงาน และผลการวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ให้ดำเนินการผ่านระบบอุทธรณ์อิเล็กทรอนิกส์
เมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ (ภ.ส.7) แล้ว ให้นำรายงานการประชุมเข้าระบบอุทธรณ์อิเล็กทรอนิกส์ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีมติวินิจฉัยอุทธรณ์

 

ประกาศ ณ วันที่ 28 มิถุนายน 2564

(นายเอกนิติ  นิติทัณฑ์ประภาศ)
อธิบดีกรมสรรพากร

   

 

ปรับปรุงล่าสุด: 24-11-2021