เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/1098
วันที่: 6 กุมภาพันธ์ 2555
เรื่อง: ภาระภาษี กรณีการโอนครุภัณฑ์ โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง
ข้อกฎหมาย: มาตรา 39 มาตรา 77/1(8)(9) มาตรา 77/2 มาตรา 91/1 มาตรา 91/2(6) มาตรา 103 มาตรา 104 และมาตรา 121 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          สถาบันฯ ขอทราบภาระภาษี กรณีการโอนครุภัณฑ์ โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง สรุปได้ดังนี้
          สถาบันฯ เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2535 ประกอบกิจการ ประเภท บริการให้คำปรึกษาทางธุรกิจและการจัดการ ระหว่างปี พ.ศ. 2547 - 2551 รัฐบาลมีนโยบายให้ดำเนินการโครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งปุ๋ย (โครงการฯ ) โดยสถาบันฯ ได้มีส่วนร่วมกับโครงการฯ ดังกล่าว คณะ รัฐมนตรีในฐานะเป็นผู้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยอินทรีย์เคมีและปุ๋ยชีวภาพให้แก่กลุ่มเกษตรกรโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ สถาบันฯ ไม่มีรายได้จากการดำเนินการตามโครงการฯ แต่อย่างใด
          สถาบันฯ มีความประสงค์ที่จะทำการโอนครุภัณฑ์ โรง เรือนและสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์สินที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการตามโครงการฯ ดังกล่าว รวมทั้งสิ้น 317 แห่ง ให้แก่หน่วยงานต่างๆ อันประกอบด้วย องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น มหาวิทยาลัยของรัฐ และสหกรณ์เพื่อการเกษตร ซึ่งการโอนครุภัณฑ์เป็นไปตามความในข้อ 141 (3) ของข้อบังคับสถาบันฯ ส่วนการโอนโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างเป็นไปตามความใน มาตรา 7 (1) แห่งพระราชบัญญัติสถาบันฯ ซึ่งกำหนดให้การโอนทรัพย์สินในส่วนที่เป็นอสังหาริมทรัพย์จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อน
          สถาบันฯ จึงขอทราบว่า
          (1) กรณีสถาบันฯ จะทำการโอนครุภัณฑ์ โรงเรือนและสิ่ง ปลูกสร้างให้กับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น มหาวิทยาลัยของรัฐ และสหกรณ์เพื่อการเกษตร จะมีภาระภาษีหรือไม่ อย่างไร
          (2) ถ้ากรณีสถาบันฯ มีภาระภาษีตาม (1) และต้องการที่จะ ให้มีการยกเว้นภาระภาษีดังกล่าวจะต้องดำเนินการอย่างไร
แนววินิจฉัย          กรณีการโอนครุภัณฑ์ โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง อันเป็นทรัพย์สินที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการตามโครงการฯ ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาล ให้แก่ หน่วยงานต่างๆ ตามข้อเท็จจริงที่กล่าวข้างต้นมีภาระภาษีตามประมวลรัษฎากร ดังนี้
          1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล
           สถาบันฯ มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามมาตรา 6 แห่งพระราช บัญญัติสถาบันฯ ไม่เข้าลักษณะเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน นิติบุคคล ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร สถาบันฯ จึงไม่อยู่ในบังคับต้อง เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลแต่อย่างใด
          2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม
          2.1 กรณีโอนครุภัณฑ์หรือทรัพย์สินที่มีไว้ใช้เฉพาะในการ ประกอบกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งนี้ ไม่ว่า จะมีประโยชน์ตอบแทนหรือไม่ก็ตาม เข้าลักษณะเป็นการขายสินค้าของผู้ประกอบ การจดทะเบียน อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/1 (8) มาตรา 77/1 (9) และมาตรา 77/2 (1) แห่งประมวลรัษฎากร
          2.2 กรณีโอนครุภัณฑ์หรือทรัพย์สินที่มีไว้ใช้เฉพาะใน การประกอบกิจการที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งนี้ ไม่ว่าจะมีประโยชน์ตอบแทนหรือไม่ก็ตาม ไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตาม มาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร
           2.3 กรณีโอนครุภัณฑ์หรือทรัพย์สินที่มีไว้ใช้ร่วมกันใน การประกอบกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งนี้ ไม่ว่าจะมีประโยชน์ตอบแทนหรือไม่ก็ตามเข้าลักษณะเป็น การขายสินค้าของผู้ประกอบการจดทะเบียน อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/1 (8) มาตรา 77/1 (9) และมาตรา 77/2 (1) แห่งประมวลรัษฎากร
          3. ภาษีธุรกิจเฉพาะ
          กรณีการโอนอสังหาริมทรัพย์เฉพาะที่ต้องจดทะเบียนสิทธิ และนิติกรรมและเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่มีไว้ในการประกอบกิจการเฉพาะของนิติบุคคลตามมาตรา 77/1 และมาตรา 91/1 วรรคสอง แห่ง ประมวลรัษฎากร ไม่ว่าจะมีประโยชน์ตอบแทนหรือไม่ ถือเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร อยู่ในบังคับต้องเสียภาษี ธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 4 (5) แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวล รัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541
          4. อากรแสตมป์
          กรณีการโอนอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีประโยชน์ตอบแทน บันทึกหรือหนังสือใดๆ ที่ผู้รับโอนได้ออกเป็นหลักฐาน แสดงว่าได้รับโอนอสังหาริมทรัพย์เข้าลักษณะเป็น "ใบรับ" ตามมาตรา 103 แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อนิติกรรมที่เป็นเหตุ ให้ออกใบรับนั้นมีการจดทะเบียนตามกฎหมาย ผู้ออกใบรับต้องปิดแสตมป์บริบูรณ์ตามมาตรา 104 แห่งประมวลรัษฎากร และตามลักษณะแห่งตราสาร 28 . (ข) ใบรับแห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ อย่างไรก็ดีอาจมีกรณีที่ยกเว้นไม่ต้องเสียอากร ดังนี้
          4.1 การยกเว้นไม่ต้องเสียอากร หากฝ่ายที่ต้องเสียอากร เป็นรัฐบาล พนักงานผู้กระทำงานของรัฐบาลโดยหน้าที่ บุคคลผู้กระทำการในนามของรัฐบาล องค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น สภา กาชาดไทย วัดวาอาราม และองค์การศาสนาใดๆ ในราชอาณาจักรซึ่งเป็นนิติบุคคล ยกเว้นองค์การของ รัฐบาลที่ใช้ทุนหรือทุนหมุนเวียน เพื่อประกอบการพาณิชย์หรือการพาณิชย์ซึ่งองค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นเป็นผู้จัดทำ ตามมาตรา 121 แห่งประมวลรัษฎากร
          4.2 ใบรับ สำหรับจำนวนเงินที่ผู้รับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือภาษีธุรกิจเฉพาะ ซึ่งกำหนดยกเว้นไว้ตามลักษณะแห่งตราสาร 28. วรรคสอง แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์
          5. การยกเว้นภาษีอากร ไม่มีอำนาจของกรมสรรพากรที่จะ ยกเว้นภาษีอากรให้ได้แต่อย่างใด เว้นแต่จะมีกำหนดไว้ในประมวลรัษฎากร หรือตราเป็นพระราชกฤษฎีกา โดยอาศัยอำนาจ ตามบท บัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 75/38019

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020