เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/พ./5166
วันที่: 21 มิถุนายน 2555
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 77/1(8) มาตรา 77/1(9) มาตรา 77/1(13) มาตรา 77/1(14) มาตรา 77/2 และมาตรา 80/1 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          บริษัทฯ ประกอบกิจการเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าประเภทสับปะรดกระป๋อง และน้ำสับปะรดเข้มข้น ได้ขายสินค้าให้กับลูกค้าต่างประเทศ ประเทศนิวซีแลนด์ (ผู้ซื้อ) ในการดำเนินธุรกิจระหว่างกัน บริษัทฯ จะติดต่อ ผ่านตัวแทนผู้ซื้อ ซึ่งประกอบกิจการในประเทศไทย บริษัทฯ ได้ทำสัญญาซื้อขาย (Proforma Invoice) กับผู้ซื้อ โดยตกลงขายน้ำสับปะรดเข้มข้น จำนวน 381.60 ตัน (จำนวน 20 ตู้คอนเทนเนอร์) ในราคา FOB ตันละ 1,410 เหรียญสหรัฐ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 538,056 เหรียญสหรัฐ กำหนดเงื่อนไขการจัดส่งสินค้าเดือนมีนาคม - มิถุนายน 2552 เดือนละ 5 ตู้คอนเทนเนอร์ โดยผู้ซื้อ จะเป็นผู้แจ้งสถานที่และประเทศปลายทางในการจัดส่งสินค้า และ กำหนดเงื่อนไขการชำระค่าสินค้า โดยผู้ซื้อ จะโอนเงินดอลลาร์สหรัฐ (T/T) เข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของบริษัทฯ ล่วงหน้า 7 วันก่อนเรือออก แต่เนื่องจากบริษัทฯ ไม่สามารถจัดส่งสินค้าได้ครบตามสัญญา จึงถูกผู้ซื้อฟ้องศาล ให้บริษัทฯ ส่งสินค้าที่เหลือ ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันที่ศาลจังหวัดกาญจนบุรี โดยบริษัทฯ จะต้องส่งน้ำสับปะรดเข้มข้นให้กับผู้ซื้อ จำนวน 92 ตู้คอนเทนเนอร์ (1 ตู้คอนเทนเนอร์ เท่ากับ 19.08 ตัน) ในราคา 17 ตู้แรกตันละ 1,410 ดอลล่าร์สหรัฐ และส่วนที่เหลืออีก 76 ตู้คอนเทนเนอร์ ในราคา ตันละ 1,400 ดอลลาร์สหรัฐ การชำระค่าสินค้า ผู้ซื้อจะต้องชำระค่าสินค้าให้บริษัทฯ ล่วงหน้า 7 วันก่อนการส่งมอบ โดยวางเงินไว้ที่ศาล ต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2553 บริษัทฯ ได้จัดส่งน้ำสับปะรดเข้มข้นให้ผู้ซื้อ โดยมีขั้นตอน การดำเนินงานและการจัดทำเอกสารดังนี้           1. บริษัทฯ แจ้งให้ผู้ซื้อทราบว่าสินค้าผลิตเสร็จพร้อมส่งมอบ ซึ่งตัวแทนผู้ซื้อได้ติดต่อจองเรือพร้อมแจ้ง สถานที่จัดส่งให้บริษัทฯ ทราบ บริษัทฯ จึงจัดส่งสินค้าน้ำสับปะรดเข้มข้น จำนวน 72 ถัง (จำนวน 1 ตู้คอนเทนเนอร์) ตามใบส่งสินค้าของบริษัทฯ เล่มที่ 001 เลขที่ 0037 ไปส่งที่ท่าเรือตามคำสั่งของตัวแทนผู้ซื้อ
          2. บริษัทฯ ได้ดำเนินพิธีการศุลกากรโดยระบุบริษัทฯ เป็นผู้ส่งออก ตามใบขนสินค้าขาออก
          3. บริษัทฯ จัดทำเอกสาร COMMERCIAL INVOICE พร้อม PACKING LIST เลขที่ CIF 10/0348 ลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2553 ออกให้ผู้ซื้อผ่านตัวแทนผู้ซื้อในประเทศไทย โดยระบุสินค้าน้ำสับปะรดเข้มข้น 60 บริกซ์ จำนวน 19.08 ตัน เป็นเงิน 26,902.80 เหรียญสหรัฐ
          4. ตัวแทนผู้ซื้อจัดทำใบตราส่ง (Bill of Lading หรือ B/L) โดยต้นฉบับ (ORIGINAL) ปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ และระบุชื่อตัวแทนผู้ซื้อเป็นผู้ส่งออก (Shipper) ส่วนฉบับสำเนา (NON NEGOTIABLE) ระบุชื่อบริษัทฯ เป็นผู้ส่งออก (Shipper) พร้อมส่งฉบับสำเนาให้บริษัทฯ ไว้เป็นหลักฐาน
          5. ตัวแทนผู้ซื้อได้ชำระเงินให้บริษัทฯ เป็นเงินสกุลบาท จำนวนเงิน 869,767.52 บาท (แปดแสนหกหมื่นเก้าพันเจ็ดร้อยหกสิบเจ็ดบาทห้าสิบสองสตางค์) โดยอ้างว่าสัญญาประนีประนอมยอมความในการนำเงินไปวางศาล ไม่สามารถชำระเป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ หรือโดยการโอนเงิน T/T ได้
          บริษัทฯ จึงหารือว่า ในการส่งมอบสินค้าตามสัญญาประนีประนอมยอมความตามข้อเท็จจริงดังกล่าว ถือว่าบริษัทฯ เป็นผู้ส่งออกที่ได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากรหรือไม่
แนววินิจฉัย          กรณีบริษัทฯ ได้ทำสัญญาขายสินค้าให้แก่ผู้ซื้อซึ่งเป็นลูกค้าในต่างประเทศ (ประเทศนิวซีแลนด์) ผ่านตัวแทนผู้ซื้อใน ประเทศไทย ต่อมามีการผิดสัญญา และได้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน บริษัทฯ ผู้ผิดสัญญาจึงชำระหนี้ให้ ผู้ซื้อเป็นจำนวนเงิน 183,494.32 เหรียญสหรัฐ สำหรับค่าเสียหายตามสัญญาประนีประนอมยอมความส่วนที่เหลือจำนวน 48,000 เหรียญสหรัฐ บริษัทฯ ชำระเป็นสินค้าแทนการชำระด้วยเงิน ซึ่งเข้าลักษณะเป็นการขายสินค้าตามมาตรา 77/1(8) ประกอบมาตรา 77/1(9) และมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ แม้ว่าจะระบุชื่อตัวแทนผู้ซื้อเป็นผู้ส่งออกในใบตราส่ง ต้นฉบับ (B/L) แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า บริษัทฯ เป็นผู้ดำเนินพิธีการศุลกากรโดยระบุบริษัทฯ เป็นผู้ส่งออกตาม ใบขนสินค้าขาออกให้แก่ผู้ซื้อในต่างประเทศ ประกอบกับบริษัทฯ เป็นผู้จัดทำเอกสาร COMMERCIAL INVOICE พร้อม PACKING LIST ออกให้ผู้ซื้อผ่านตัวแทนผู้ซื้อในประเทศไทย การขายสินค้าของบริษัทฯ ดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นการ ส่งออก ตามมาตรา 77/1(14) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ จึงเป็นผู้ส่งออกตามมาตรา 77/1(13) แห่งประมวลรัษฎากร และได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 75/38168

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020