เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/5077
วันที่: 20 มิถุนายน 2555
เรื่อง: ลักษณะของกิจการร่วมค้า ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อกฎหมาย: มาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          กรมฯ ขอทราบความเห็นเกี่ยวกับการตีความและวินิจฉัยของคำว่า "กิจการร่วมค้าตามประมวลรัษฎากร" ว่า มีการตีความและวินิจฉัยอย่างไร
แนววินิจฉัย          1. กิจการร่วมค้า ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ได้แก่ กิจการที่ดำเนินการร่วมกันเป็นทางค้าหรือหากำไร ระหว่างบริษัทกับบริษัท บริษัทกับห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกับห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือระหว่าง บริษัทและหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกับบุคคลธรรมดา คณะบุคคลที่มิใช่ นิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือนิติบุคคลอื่น ซึ่งกิจการที่จะเข้าลักษณะเป็นกิจการร่วมค้าจะต้องมีลักษณะ ดังนี้
           (1)ได้ตกลงเข้าร่วมทุนกันไม่ว่าจะเป็นเงิน ทรัพย์สิน แรงงาน หรือเทคโนโลยี หรือร่วมกันในผลกำไรหรือขาดทุน อันจะพึงได้ตามสัญญาที่กระทำร่วมกันกับบุคคลภายนอก หรือ
           (2) ได้ร่วมกันทำสัญญากับบุคคลภายนอก โดยระบุไว้ในสัญญาว่าเป็นกิจการ ร่วมค้า หรือ
           (3) ได้ร่วมกันทำสัญญากับบุคคลภายนอก โดยสัญญากำหนดให้ต้องรับผิดร่วมกันในงานที่ทำไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วน และต้องรับค่าตอบแทนตามสัญญาร่วมกัน โดยสัญญาไม่ได้แบ่งแยกงานและค่าตอบแทนระหว่างกันไว้ อย่างชัดเจน
           2. กรณีกิจการใดที่คู่สัญญากิจการฝ่ายหนึ่ง เข้าทำสัญญากับบุคคลภายนอก โดยคู่สัญญากิจการ มีข้อตกลงแบ่ง แยกหน้าที่ความรับผิดชอบ แบ่งแยกงาน และแบ่งแยกค่าตอบแทนระหว่างคู่สัญญาไว้ชัดเจน สัญญากิจการดังกล่าวไม่เข้า ลักษณะเป็นกิจการร่วมค้า แต่มีลักษณะเป็นสัญญาร่วมทำงาน (Consortium Agreement) ซึ่งมีภาระภาษีแตกต่างกับ กรณีของกิจการร่วมค้าตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 75/38163

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020