เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/4843
วันที่: 14 มิถุนายน 2555
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการจ่ายค่าตอบแทนวิทยากร และค่าเบี้ยประชุม
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40(2) มาตรา 42(7) และมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          สำนักงานฯ ขอทราบว่าเงินค่าตอบแทนวิทยากร และค่าเบี้ยประชุมในการจัดฝึกอบรมหลักสูตรฯ ได้รับยกเว้น ไม่ต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 42 (7) แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่ เนื่องจาก การฝึกอบรมหลักสูตรฯ สำนักงานฯ เป็นผู้จัดการหลักสูตรเอง โดยการเบิกจ่ายค่าตอบแทนให้แก่วิทยากรจะเบิกจ่าย ตามระเบียบคณะกรรมการฯ ซึ่งในการจ่ายค่าตอบแทนวิทยากรในการฝึกอบรม สำนักงานฯ มีความเห็นว่า
          (1) "ค่าตอบแทน" ที่สำนักงานฯ จ่ายให้กับวิทยากร มีความหมายเทียบเคียงได้เช่นเดียวกับ "ค่าสอน" ซึ่งเป็น เงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 42 (7) แห่งประมวล รัษฎากร
          (2) คำว่า "ทางราชการ" ตามมาตรา 42 (7) แห่งประมวลรัษฎากร มีความหมาย กว้างกว่าคำว่า "ส่วนราชการ" ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นส่วนราชการ เช่น กระทรวง ทบวง กรม จังหวัด เป็นต้น ในกรณี สถานะของสำนักงานฯ แม้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ จะมิได้กำหนดฐานะให้เป็นส่วนราชการก็ตาม แต่ลักษณะ การปฏิบัติงานของสำนักงานฯ เป็นภารกิจการจัดการเลือกตั้งซึ่งแต่เดิมเป็นภารกิจของกระทรวงมหาดไทย จึงเข้าลักษณะ เป็นงานของ "ทางราชการ" นั่นเอง นอกจากนี้ เงินงบประมาณที่ใช้ในการจัดการเลือกตั้ง การบริหารสำนักงานตลอดจน การจ่ายเงินเดือนพนักงานและอื่นๆ ก็ได้รับการจัดสรรสนับสนุนจากสำนักงบประมาณ อันเป็นเงินจากงบประมาณแผ่นดิน ทั้งสิ้น มิใช่เป็นเงินรายได้จากกิจการ เพื่อหากำไรดังเช่นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจอื่นแต่อย่างใด ดังนั้น สำนักงานฯ จึงเป็น หน่วยงานของรัฐที่ปฏิบัติภารกิจเป็นงานราชการ ซึ่งตามบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 518/2545 ได้ให้ความเห็นว่า "องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ" มีฐานะเป็น"ส่วนราชการ" ตามความหมายของบทนิยามในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 ดังนั้น การจ่ายค่าตอบแทนวิทยากร ค่าเบี้ยประชุมที่สำนักงานฯ จ่าย จึงได้รับยกเว้นไม่ต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 42 (7) แห่งประมวลรัษฎากร
          (3) เจตนารมณ์ของกฎหมาย บทบาท อำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการฯ ตลอดจนอำนาจหน้าที่ ของสำนักงานฯ ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ที่เกี่ยวข้องได้บัญญัติให้มีบทบาท อำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในภารกิจที่สำคัญ ทั้งในด้านบทบาททางการบริหาร นิติบัญญัติและตุลาการ อันเป็นภารกิจสำคัญในระดับประเทศที่มีความสำคัญยิ่งต่อการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง ของประเทศชาติ และลักษณะงานดังกล่าวก็เป็น "งานทางราชการ" เช่นเดียวกับงานในหน้าที่ความรับผิดชอบของ "ส่วนราชการ" และมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าหน่วยงานราชการและส่วนราชการอื่นๆ ดังนั้น หากจะถือว่า ค่าตอบแทนวิทยากร ค่าเบี้ยประชุม ที่สำนักงานฯ ได้จ่ายไปไม่ได้รับยกเว้นตามมาตรา 42 (7) แห่งประมวลรัษฎากร ดังเช่นส่วนราชการอื่นๆ แล้ว ก็จะเกิดความไม่เป็นธรรมและก่อให้เกิดความลักลั่นต่อสำนักงานฯ เป็นอย่างยิ่ง
แนววินิจฉัย          สำนักงานฯ เป็นหน่วยงานธุรการขององค์กรของรัฐที่เป็นอิสระและไม่มีฐานะเป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วย ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน แต่บัญญัติให้มีฐานะเป็นนิติบุคคลและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการฯ แม้ สำนักงานฯ มีฐานะเป็นส่วนราชการตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติวิธีงบประมาณ พ.ศ. 2502 และตามบันทึกสำนักงาน คณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง ความเป็นอิสระทางการเงินการคลังขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เรื่องเสร็จที่ 518/2545 ก็เพียงเพื่อประโยชน์ในการจัดตั้งงบประมาณ ตลอดจนการบริหารและการดำเนินการอื่นใดที่เกี่ยวกับ งบประมาณแผ่นดินเท่านั้น แต่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ไม่ได้กำหนดฐานะให้เป็นส่วนราชการ ตามกฎหมาย ว่าด้วยระเบียบ บริหารราชการแผ่นดิน ดังนั้น ค่าตอบแทนวิทยากร และค่าเบี้ยประชุมดังกล่าว จึงไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้ พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 42 (7) แห่งประมวลรัษฎากร และ ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร สำนักงานฯ ผู้จ่ายเงินได้ มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายตาม มาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 75/38159

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020