เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/3793
วันที่: 3 พฤษภาคม 2556
เรื่อง: ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีการออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้แก่ผู้ถูกหักภาษี
ข้อกฎหมาย: 50 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ           1. บริษัทฯ จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งประกอบด้วย ส่วนลดทุกประเภทที่จ่ายเป็น รายเดือน รายปี รวมถึงผลตอบแทนอื่นๆ ให้แก่นักธุรกิจแอมเวย์ และได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย พร้อมทั้งนำส่งหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้ ดังนี้
               1.1 กรณีบุคคลธรรมดา ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล บริษัทฯ จะสรุปเงินได้ของนักธุรกิจแอมเวย์เป็นรายปีพร้อมนำส่งหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้ทางไปรษณีย์ ภายในเดือนมกราคมของปีถัดไป
               1.2 กรณีนิติบุคคล บริษัทฯ จะออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้ทุกครั้งที่จ่ายเงินได้พร้อมนำส่งให้ทางไปรษณีย์ภายในเดือนที่มีเงินได้
          2. หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ของบริษัทฯ ที่ออกให้กรณี ตาม 1.1 และ 1.2 บริษัทฯ จะกำกับหมายเลขลำดับที่ ซึ่งตรงกับหมายเลขที่กำกับไว้ในแบบ ภ.ง.ด. 1 ก หรือ แบบ ภ.ง.ด. 53 ที่บริษัทฯ ได้ยื่นต่อกรมสรรพากรด้วยปัจจุบันการจัดส่งหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้แก่นักธุรกิจแอมเวย์ทางไปรษณีย์ ประสบปัญหาความล่าช้าและมีการสูญหายในระหว่างการนำส่ง เป็นผลทำให้นักธุรกิจแอมเวย์ ซึ่งเป็นผู้ถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ไม่สามารถนำไปเป็นหลักฐานในการยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษี ได้ทันภายในกำหนดระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวและเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักธุรกิจแอมเวย์ บริษัทฯ จึงขอหารือว่า บริษัทฯ สามารถนำหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ที่ออกให้แก่นักธุรกิจแอมเวย์ตาม 1.1 และ 1.2 ขึ้นเว็บไซต์ของบริษัทฯ และอนุญาตให้นักธุรกิจแอมเวย์ซึ่งมีรหัสผ่านในการติดต่อกับบริษัทฯ ทางเว็บไซต์ ดาวน์โหลดหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายดังกล่าว เพื่อนำไปใช้ประกอบการยื่นแบบแสดงรายการเพื่อชำระภาษีได้หรือไม่ อย่างไร
แนววินิจฉัย           กรณีบริษัทฯ มีความประสงค์จะนำหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ซึ่งมีข้อมูลของผู้ถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย โดยบริษัทฯ นำข้อมูลดังกล่าวขึ้นเว็บไซต์ของบริษัทฯ และอนุญาตให้ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ของบริษัทฯ ซึ่งมีรหัสผ่านในการติดต่อกับบริษัทฯ ดาวน์โหลดหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายดังกล่าวเพื่อนำไปใช้เป็นหลักฐานในการยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้นั้น เนื่องจากหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 ทวิ เป็นเอกสารหลักฐานที่ประมวลรัษฎากรกำหนดให้ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายและออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายที่ได้หักไว้แล้วในปีภาษีให้แก่ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ดังนั้น หากบริษัทฯ จะจัดทำและจัดเก็บเอกสารหลักฐานหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายที่มีข้อความอยู่ในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น บริษัทฯ จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 121/2545 เรื่อง การจัดทำและการจัดเก็บเอกสารหลักฐานตามประมวลรัษฎากร ที่มีข้อความอยู่ในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ไว้ในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ลงวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2554 กล่าวคือ ให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีหรือผู้ประกอบการจดทะเบียนยื่นแบบแจ้งการจัดทำและการจัดเก็บเอกสารหลักฐานไว้ในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (ยื่นแบบ ภ.อ. 11) แจ้งการจัดทำและจัดเก็บเอกสารหลักฐานหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายดังกล่าวไว้ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ต่ออธิบดีกรมสรรพากรก่อน และหากบริษัทฯ ได้ดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าวครบถ้วนแล้ว บริษัทฯ จะดำเนินการนำส่งหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้แก่ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ด้วยวิธีการใดก็ได้ ทั้งนี้ หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายนั้น ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามมาตรา 50 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 62) เรื่อง กำหนดแบบหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2539
เลขตู้: 76/38608

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020