เลขที่หนังสือ | : กค 0702/4763 |
วันที่ | : 29 พฤษภาคม 2556 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีโรงเรือน กรณีการให้เช่าทรัพย์สิน |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 56 และมาตรา 56 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร |
ข้อหารือ |
กรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีโรงเรือนกรณีการให้เช่าทรัพย์สิน สรุปข้อเท็จจริงได้ว่าทำสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญ ห้างฯ โดยได้มีการร่วมทุนกันดังนี้
1. นาย ก. ลงทุนด้วยที่ดินและเงินสดจำนวน 1,000,000 บาท 2. นาง ข. ลงทุนด้วยเงินสดจำนวน 200,000 บาท โดยมีนาย ก. เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ สถานประกอบการอยู่กรุงเทพมหานคร วัตถุประสงค์เพื่อประกอบกิจการให้เช่าห้องพักและให้บริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับกิจการ มีรายรับประมาณ 24,000 บาทต่อเดือน จึงขอหารือ ดังนี้ 1. รายได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน จะต้องเสียภาษีในฐานะห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนถูกต้องหรือไม่ 2. ใครเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีโรงเรือนตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 |
แนววินิจฉัย |
1. กรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หากนาย ก. ได้มีการร่วมกันลงทุน โดยนาย ก. ลงทุนด้วยที่ดินและเงินสดจำนวน 1,000,000 บาท และนาง ข. ได้ร่วมลงทุนเป็นเงินสดจำนวน 200,000 บาทมีการประกอบกิจการให้เช่าห้องพักและให้บริการอื่นๆ และมีการร่วมรับผิดชอบในกิจการร่วมกันจริง ตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วน และประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้น เมื่อห้างฯมีเงินได้ที่เกิดจากการประกอบกิจการถือได้ว่าห้างฯ เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา นาย ก. มีหน้าที่ยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินในชื่อของห้างฯ โดยนำเงินได้ที่ได้รับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายนไปยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาภายในเดือนกันยายนของทุกปีภาษีตามมาตรา 56 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร และมีหน้าที่นำเงินได้ที่ได้รับในระหว่างปีภาษีที่ล่วงมาแล้วไปยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาภายในกำหนดเวลา และรับผิดเสียภาษีในชื่อของห้างฯจากยอดเงินได้พึงประเมินทั้งสิ้น ตามมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร
2. กรณีหน้าที่ในการเสียภาษีโรงเรือน เป็นการจัดเก็บภาษีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงขอให้นาย ก. หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีโรงเรือนโดยตรง เช่น กรุงเทพมหานครหรือเทศบาล เป็นต้น |
เลขตู้ | : 76/38638 |