เลขที่หนังสือ | : กค 0702/4377 |
วันที่ | : 21 พฤษภาคม 2556 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีการเลิกกิจการและการชำระบัญชี |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 40(4)(ฉ) มาตรา 50(2)(ก) มาตรา 65 มาตรา 65 ทวิ (4) มาตรา 70 และมาตรา 74(1)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร |
ข้อหารือ |
บริษัทฯ ประกอบกิจการเป็นผู้ลงทุนถือหุ้นในบริษัทลูกที่ประกอบกิจการโรงงานน้ำตาลหลายแห่ง ผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ มีแผนการจะปรับปรุงโครงสร้างการถือหุ้นภายในกลุ่มบริษัทฯ โดยจะทำการชำระบัญชีเลิกกิจการ และบริษัทฯ จะกระจายหุ้นที่ถือในบริษัทลูกให้แก่ผู้ถือหุ้นตามสัดส่วน บริษัทฯ เข้าใจว่า บริษัทฯ มีหน้าที่จะต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ดังนี้
1. การเลิกกิจการ บริษัทฯ จะต้องแจ้งให้กรมสรรพากรทราบภายใน 15 วัน นับแต่วันที่มีการจดทะเบียนมติพิเศษเพื่อเลิกกิจการและเพื่อแต่งตั้งผู้ชำระบัญชีกับกระทรวงพาณิชย์ โดยถือวันดังกล่าวเป็นวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี และจะต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลภายใน 150 วัน ตามนัยของมาตรา 72 แห่งประมวลรัษฎากร โดยตีราคาทรัพย์สินตามราคาตลาดในวันเลิกและหากราคาทรัพย์สินที่ตีเพิ่มขึ้นนั้นสูงกว่ามูลค่าต้นทุนทางภาษี บริษัทฯ จะต้องนำกำไรที่ได้รับจากการตีราคาเพิ่มขึ้นมารวมคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามปกติ 2. การคำนวณราคาหุ้นในบริษัทลูกที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งไม่มีราคาตลาดเทียบเคียง บริษัทฯ จึงต้องใช้มูลค่าสุทธิทางบัญชี (สินทรัพย์หักด้วยหนี้สิน) ของงบการเงินล่าสุดในบริษัทลูกที่ได้รับการรับรองโดยผู้สอบบัญชีและหักด้วยการจ่ายเงินปันผลหลังจากวันที่ออกงบการเงินดังกล่าว (หากมี) คงเหลือเป็นมูลค่าสุทธิทางบัญชีที่แท้จริงที่บริษัทฯจะต้องนำมาคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ วันเลิกกิจการ 3. บริษัทฯ จะต้องคำนวณประโยชน์เพิ่มที่ผู้ถือหุ้นแต่ละรายได้รับตามมาตรา 40(4)(ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร การคำนวณราคาตลาดของหุ้นโดยใช้มูลค่าสุทธิทางบัญชีของงบการเงินล่าสุดของ บริษัทลูกที่รับรองโดยผู้สอบบัญชี หักด้วยเงินปันผลจ่ายหลังจากวันที่ออกงบการเงินดังกล่าว (หากมี) ซึ่งหากมีมูลค่าเกินกว่าเงินลงทุนของผู้ถือหุ้นแต่ละราย บริษัทฯ มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ในส่วนที่เกินกว่าเงินลงทุนดังกล่าวตามอัตราก้าวหน้าในกรณีของบุคคลธรรมดา ตามมาตรา 50 แห่งประมวลรัษฎากร |
แนววินิจฉัย |
1. กรณีการเลิกประกอบกิจการ เมื่อที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นมีมติพิเศษให้เลิกกิจการ และบริษัทฯ ได้จดทะเบียนเลิกกิจการต่อเจ้าพนักงานกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์แล้ว ให้ผู้ชำระบัญชีและผู้จัดการมีหน้าที่ร่วมกันแจ้งให้เจ้าพนักงานประเมินทราบภายใน 15 วัน นับแต่วันที่เจ้าพนักงานรับจดทะเบียนเลิก และให้ถือว่าวันที่เจ้าพนักงานรับจดทะเบียนเลิกเป็นวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีโดยผู้ชำระบัญชีมีหน้าที่และรับผิดชอบในการยื่นแบบและเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลภายใน 150 วัน นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ตามมาตรา 72 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับทรัพย์สินที่คงเหลืออยู่ให้ใช้ราคาตลาดตามมาตรา 74 (1)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร หากราคาตลาดนั้นสูงกว่าหรือต่ำกว่าราคาทุน ผลกำไรหรือขาดทุนสุทธิที่เกิดขึ้นนั้น บริษัทฯ ต้องนำมาถือเป็นรายได้หรือรายจ่ายในการคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร
2. สำหรับการกำหนดราคาหุ้นในบัญชีเงินลงทุนในบริษัทย่อย (บริษัทลูก) ที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ให้เป็นไปตามราคาตลาด ณ วันเลิกประกอบการ หากบริษัทฯ จะคำนวณโดยใช้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (มูลค่าทรัพย์สินหักหนี้สินทั้งหมด) ตามงบดุลในปีที่ผ่านมาของบริษัทลูกซึ่งผ่านการรับรองโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาต หารด้วยจำนวนหุ้นที่ได้จดทะเบียนไว้ ราคาหุ้นดังกล่าวถือเป็นราคาที่มีเหตุผลอันสมควร ตามมาตรา 65 ทวิ(4) แห่งประมวลรัษฎากร 3. การคำนวณหาผลประโยชน์ที่ได้จากการที่บริษัทเลิกกัน ซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุนตามมาตรา 40(4)(ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ สามารถที่จะใช้วิธีคำนวณหาราคาขายด้วยวิธีการทางบัญชี ซึ่งเป็นที่ยอมรับเป็นการทั่วไปและหากบริษัทฯ คืนผลประโยชน์ใด ๆ ที่ได้จากการเลิกกิจการให้แก่ผู้ถือหุ้น บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษีและนำส่งกรมสรรพากร ดังนี้ ก. กรณีผู้ถือหุ้นเป็นบุคคลธรรมดา ให้คำนวณหักตามอัตราภาษีเงินได้ เว้นแต่ผู้ถือหุ้นเป็นบุคคลธรรมดาซึ่งมิได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย ให้คำนวณหักในอัตราร้อยละ 15.0 ของเงินได้ ตามมาตรา 50(2)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร ข. กรณีผู้ถือหุ้นเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย ให้คำนวณหักจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายตามอัตราภาษี เงินได้สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร |
เลขตู้ | : 76/38617 |