เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/3447
วันที่: 22 เมษายน 2556
เรื่อง: ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีขนส่งสินค้า
ข้อกฎหมาย: มาตรา 81(1)(ณ) มาตรา 81/3 ข้อ 2/4 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528ฯ
ข้อหารือ           1. บริษัทฯ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ประกอบกิจการผลิตและขายเบาะรถยนต์ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2550 สถานประกอบการตั้งอยู่ตำบลมาบยางพร อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง เป็นบริษัทร่วมทุน มีผู้ถือหุ้นเป็นชาวต่างชาติ (ญี่ปุ่น) ถือหุ้นร้อยละ 65 และบริษัท ท. ถือหุ้นร้อยละ 35
          2. ตั้งแต่ปี 2552 บริษัทฯ ได้ผลิตเบาะรถยนต์ ยี่ห้อ Mazda ขายให้กับบริษัท A ต่อมาในเดือนพฤษภาคม 2553 บริษัท A ได้ร้องขอให้บริษัทฯ ทำการขนส่งสินค้าให้กับผู้ผลิตเบาะรถยนต์อีกรายหนึ่ง คือ บริษัท J ซึ่งเป็นผู้ผลิตเบาะรถยนต์ ยี่ห้อ Ford ขายให้กับบริษัท A เช่นเดียวกัน
          3. การขนส่งสินค้าดังกล่าวมีขั้นตอนดังนี้
               3.1 บริษัทฯ จะจัดทำแผนการจัดส่งเบาะรถยนต์ทั้ง 2 รุ่น คือ Mazda และ Ford (Mixed sequence) และแจ้งให้กับบริษัท A
               3.2 บริษัทฯ ได้ว่าจ้างรถบรรทุกจากบริษัทขนส่ง เพื่อขนส่งเบาะรถยนต์ให้แก่บริษัทฯ ซึ่งในการขนส่งสินค้า บริษัทฯ จะจัดพื้นที่ส่วนหนึ่งในรถบรรทุกเพื่อขนส่งเบาะรถยนต์ของบริษัท J ด้วย โดยในการขนส่งเบาะรถยนต์ของบริษัท J บริษัทฯ จะนำพาเลท (Dolly) ของบริษัทฯ ใส่ในรถบรรทุก และให้บริษัท J ใส่เบาะรถยนต์ในพาเลท (Dolly) เอง บริษัทฯ มีหน้าที่นำพาเลท (Dolly) ที่จัดเรียบร้อยแล้วขึ้นรถบรรทุกเพื่อส่งให้บริษัท A เท่านั้น
               3.3 พาเลท (Dolly) เป็นทรัพย์สินของบริษัทฯ และนำกลับมาใช้ในคราวต่อไป
               3.4 บริษัทฯ คิดค่าบริการกับบริษัท J เป็นรายชิ้น ในราคาชิ้นละ 40.20 บาท โดยมีภาษีมูลค่าเพิ่มอัตราร้อยละ 7 และบริษัท J จะจ่ายเงินโดยการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารโดยหักภาษี ณ ที่จ่ายอัตราร้อยละ 3
               3.5 บริษัทฯ ได้นำรายได้จากการบริการดังกล่าว ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 1 ของรายได้จากการผลิตเบาะรถยนต์ลงในรายงานภาษีขายในแต่ละเดือนภาษี และได้นำไปยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (แบบ ภ.พ.30) แล้ว
          4. บริษัทฯ ขอทราบว่า
          บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มเติมสำหรับการให้บริการกับบริษัท J หรือไม่ อย่างไร และเมื่อบริษัท J จ่ายเงินค่าบริการขนส่งสินค้าให้แก่บริษัทฯ บริษัท J มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายหรือไม่ อย่างไร
แนววินิจฉัย           บริษัทฯ รับขนส่งเบาะรถยนต์ให้แก่บริษัท J โดยใช้พาเลท (Dolly) ของบริษัทฯ เป็นอุปกรณ์ในการขนส่งเท่านั้นโดยบริษัทฯ ไม่ได้ให้บริการอื่นใดในการรับขนดังกล่าว จึงเข้าลักษณะเป็นการขนส่งสินค้าจากสถานที่แห่งหนึ่งไปยังสถานที่ต่าง ๆ เพื่อบำเหน็จเป็นทางค้าปกติของตน ไม่ว่าจะเป็นการใช้รถยนต์บรรทุกของบริษัทฯ หรือว่าจ้างรถยนต์บรรทุกสินค้าของบุคคลอื่นให้ทำการขนส่ง โดยบริษัทฯ ต้องรับผิดในการที่สินค้าที่ขนส่งนั้น สูญหาย บุบสลาย หรือส่งมอบชักช้า การให้บริการดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการรับขน ตามมาตรา 608 และมาตรา 616 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81(1)(ณ) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ไม่มีสิทธิแจ้งขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81/3 แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างใด และเมื่อบริษัท J จ่ายเงินค่าบริการขนส่งสินค้าให้แก่บริษัทฯ บริษัท J มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 1.0 ตามข้อ 12/4 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528
เลขตู้: 76/38576

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020