เลขที่หนังสือ | : กค 0702/3211 |
วันที่ | : 10 เมษายน 2556 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานซึ่งได้รับในปีภาษีถัดไป |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 48 (5) แห่งประมวลรัษฎากร ข้อ 2(ข) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45)ฯ |
ข้อหารือ |
1. นาง ว. ออกจากงานในวันที่ 13 ธันวาคม 2553 และได้รับเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน 2 ประเภท คือ
1.1 เงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน จำนวน 2,675,143.83 บาท ได้รับเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2553 1.2 เงินที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จำนวน 2,817,638.95 บาท ได้รับในวันที่ 20 มกราคม 2554 2. นางสาว ว. นำเงินชดเชยจากการเลิกจ้างตามกฎหมายแรงงานในปี 2553 มายื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (แบบ ภ.ง.ด.91) ในปีภาษี 2553 โดยเลือกใช้สิทธิในการคำนวณเสียภาษี ตามมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร 3. นางสาว ว. นำเงินได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไปยื่นแบบ ภ.ง.ด.91 ในปีภาษี 2554 โดยเลือกใช้สิทธิในการคำนวณเสียภาษี ตามมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นปีถัดไป แต่เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรแจ้งว่า การเลือกใช้สิทธิในการคำนวณเสียภาษี ตามมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร สามารถเลือกใช้ได้เฉพาะเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40(1) ซึ่งเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน ที่ได้จ่ายในปีภาษีแรกที่มีการจ่ายเงินได้ดังกล่าวเท่านั้น เงินชดเชยการเลิกจ้างจึงไม่อาจใช้สิทธิหักลดหย่อนในปีภาษีถัดไปได้อีก |
แนววินิจฉัย | กรณีนางสาว ว. ได้รับเงินชดเชย ตามกฎหมายแรงงาน เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2553 และได้รับเงินที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2554 เป็นกรณีที่มีการจ่ายเงินจากผู้จ่ายรายเดียวกันหลายครั้ง ไม่ว่าจะแบ่งจ่ายจากเงินประเภทเดียวกันหรือหลายประเภท นางสาว ว. จะเลือกเสียภาษีต่างหากจากเงินได้อื่นได้เฉพาะเงินได้ที่จ่ายในปีภาษีแรกที่มีการจ่ายเงินได้เท่านั้น ทั้งนี้ ตามมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(ข) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข ของเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งนายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน ตามมาตรา 48(5) และมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2535 |
เลขตู้ | : 76/38556 |