เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/พ./5696
วันที่: 9 กรกฎาคม 2555
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการสัญญาจ้างเหมารับ - ส่งเอกสาร
ข้อกฎหมาย: มาตรา 77/1(10) และมาตรา 77/2(1) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ           1. บริษัทฯ เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ประกอบกิจการให้บริการรับเหมาแรงงาน รักษาความปลอดภัย บริการทำความสะอาด และรับจ้างเหมาติดตั้งระบบไฟฟ้า บริษัทฯ ได้ทำสัญญากับโรงงาน ตกลงรับจ้างจัดส่งพนักงานรับ - ส่งเอกสาร ให้กับโรงงานตามหน่วยงานต่างๆ นอกโรงงานยาสูบในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทั้งนี้บริษัทฯ ต้องจัดส่งพนักงานรับ - ส่งเอกสาร จำนวน 3 คน พร้อมรถจักรยานยนต์จำนวน 3 คัน ไปปฏิบัติงานประจำที่โรงงาน ราคาจ้างเหมาเดือนละ 31,200 บาท เป็นเวลา 12 เดือน เป็นเงินจำนวน 374,400 บาท โดยบริษัทฯ ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆ ประกอบด้วย เงินเดือนพนักงาน ค่าล่วงเวลา ค่าน้ำมันรถ ค่าเสื่อมราคา ค่าซ่อมรถ ค่าประกันอุบัติเหตุพนักงาน ค่าประกันชีวิตพนักงาน ค่าประกันสังคม ค่าใช้จ่ายต่างๆ และจะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้กับผู้ว่าจ้างสำหรับการสูญหาย และความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเอกสารหรือทรัพย์สินที่รับ - ส่งตามสัญญา ทั้งยังต้องรับผิดต่ออุปัทวเหตุ ความเสียหาย หรือภยันตรายใดๆ อันเกิดจากการปฏิบัติงาน และความเสียหายจากการกระทำของพนักงานของบริษัทฯ ด้วยต่อมาบริษัทฯ ได้ทำหนังสือแก้ไขสัญญาดังกล่าว โดยแก้ไขสัญญาข้อ 1 จากข้อกำหนดว่า "ไม่มีภาษีมูลค่าเพิ่ม" เป็น "ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม" เพราะข้อตกลงสภาพการจ้างกำหนดเป็นการจัดหาบุคคล ซึ่งไม่ใช่ธุรกิจการขนส่งบริษัทฯ จึงขอหารือว่า กรณีตามข้อเท็จจริงดังกล่าว เป็นการประกอบธุรกิจขนส่งในราชอาณาจักรซึ่งจะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81 (1) (ณ) แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่
แนววินิจฉัย           กรณีบริษัทฯ ได้ทำสัญญากับโรงงาน รับจ้างเหมาจัดส่งพนักงานบริการรับ - ส่งเอกสาร ซึ่งบริษัทฯ ต้องส่งพนักงาน จำนวน 3 คน พร้อมรถจักรยานยนต์จำนวน 3 คัน ไปปฏิบัติงานประจำ ณ โรงงาน เพื่อรับ - ส่งเอกสารของหน่วยงาน ราคาจ้างเหมาเดือนละ 31,200 บาท เป็นเวลา 12 เดือน โดยจะชำระค่าจ้างหลังจากผู้รับจ้างวางใบเรียกเก็บเงิน และกรรมการตรวจการจ้างได้ตรวจรับงานเรียบร้อยแล้ว (ปรากฏตามเอกสารแนบท้ายสัญญา) บริษัทฯ ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆ ทั้งยังต้องรับผิดต่ออุปัทวเหตุ ความเสียหาย หรือภยันตรายใดๆ อันเกิดจากการปฏิบัติงาน และความเสียหายจากการกระทำของพนักงานของบริษัทฯ กรณีดังกล่าวไม่เข้าลักษณะเป็นการขนส่ง เพราะสัญญามีวัตถุประสงค์เพื่อผลสำเร็จของงานอันเป็นเงินได้จากการจ้างทำของตามมาตรา 587 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และเข้าลักษณะเป็นการให้บริการตามมาตรา 77/1 (10) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 (1) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 75/38193

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020