เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/6215
วันที่: 17 กรกฎาคม 2556
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีรายได้จากการให้บริการของสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค
ข้อกฎหมาย: มาตรา 8 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 405)
ข้อหารือ           บริษัทฯ ได้จดแจ้งเป็นสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค (ROH) เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2549 ประกอบกิจการให้บริการแก่บริษัทในเครือซึ่งตั้งอยู่ในประเทศต่างๆ ในเขตเอเชียและแปซิฟิก ตามสัญญาด้านการตลาด (Market Services Agreement) ที่บริษัทฯ ได้ทำไว้กับบริษัทแม่ ซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศสเปน และเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทฯ ในอัตราส่วนร้อยละ 99.99 ในการดำเนินการตามสัญญา MSA นั้น บริษัทฯ จะเรียกเก็บค่าบริการทั้งหมดจากบริษัทแม่ โดยคำนวณจากต้นทุนค่าใช้จ่ายที่บริษัทฯ ได้จ่ายเนื่องจากการดำเนินงานในแต่ละเดือน บวกด้วยร้อยละ 5 (Cost Plus) บริษัทฯ ขอหารือว่า กรณีบริษัทฯ มีรายได้อื่นดังต่อไปนี้ บริษัทฯ จะต้องรับรู้รายได้ดังกล่าวในส่วนของกิจการ ROH หรือ NON-ROH
          1. กรณีพนักงานต่างด้าวซึ่งทำงานในส่วนของกิจการ ROH และได้รับสิทธิเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราร้อยละ 15 ได้ยื่นคำร้องขอคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2549 เนื่องจากบริษัทฯ ได้หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ในอัตราก้าวหน้า และยังรับภาระภาษีแทนพนักงานต่างด้าวดังกล่าวด้วย โดยบริษัทฯได้นำรายจ่ายค่าภาษีออกให้ มารวมคำนวณเป็นรายจ่ายในส่วนของกิจการ ROH ต่อมาเมื่อพนักงานดังกล่าวได้ยื่นคำร้องขอคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในส่วนที่ถูกหักไว้เกินในปี 2549 และได้รับคืนเงินภาษีที่ถูกหักไว้เกินนั้น พนักงานดังกล่าวได้นำเงินภาษีส่วนที่บริษัทฯ เป็นผู้รับภาระภาษีแทน มาคืนให้แก่บริษัทฯ กรณีนี้เงินที่บริษัทฯ ได้รับคืนจากพนักงานดังกล่าว ควรรับรู้เป็นรายได้ของกิจการ ROH หรือ NON-ROH
          2. กรณีบริษัทแม่ในประเทศสเปนได้ว่าจ้าง Insorope ซึ่งเป็นบริษัทที่รับประสานงานเครือข่ายให้กับบริษัทประกันชีวิตต่างๆ ทั่วโลกมากกว่า 80 ประเทศ เป็นตัวกลางในการจัดหาบริษัทประกันชีวิตและวางแผนสำหรับการทำประกันภัยกลุ่มให้กับบริษัทในเครืออมาเดอุสทั่วโลก เพื่อประโยชน์ในการต่อรองผลตอบแทนการประกันสุขภาพของพนักงานของบริษัทในเครืออมาเดอุสทั้งหมด โดย Insurope จะจัดการให้ บริษัทในเครืออมาเดอุสในแต่ละประเทศ ทำสัญญาประกันภัยกลุ่มกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศนั้นๆ และให้บริษัทในเครือในแต่ละประเทศ ชำระค่าเบี้ยประกันให้กับบริษัทประกันชีวิตในประเทศนั้นๆ โดยตรง ไม่ต้องผ่าน Insurope แต่ให้บริษัทประกันชีวิตในแต่ละประเทศต้องรายงานผลการให้ประกันภัยกลุ่ม จำนวนเงินประกันที่เรียกเก็บ และจำนวนเงินที่บริษัทประกันชีวิตได้จ่ายจากการรับประกันให้ Insurope ทราบ หากจำนวนเงินที่บริษัทในเครืออมาเดอุสทั่วโลกได้ใช้สิทธิเรียกร้องสำหรับการประกันภัยกลุ่มดังกล่าวมีจำนวนน้อยกว่าค่าเบี้ยประกันที่จ่ายให้แก่บริษัทประกันชีวิต บริษัทในเครือแต่ละรายจะได้รับคืนเงินปันผล (Multinational dividend) จากนภัยกลุ่มดังกล่าว สำหรับบริษัทฯ ในประเทศไทย ได้รับแจ้งให้ทำสัญญาประกันภัยกลุ่มกับบริษัท ไทยพาณิชย์ นิวยอร์คไลฟ์ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) (SCNYL) และเมื่อการเรียกร้องค่าประกันภัยกลุ่มของบริษัทในเครือทั่วโลกรวมกัน มีจำนวนน้อยกว่าค่าเบี้ยประกันที่ส่งเข้าไป บริษัทฯ จะได้รับคืน Multinational dividend ซึ่งบริษัทฯ ทราบแต่เพียงว่า Multinational dividend มาจากค่าเบี้ยประกันภัยกลุ่มที่ SCNYL เรียกเก็บจากบริษัทฯ หักด้วยค่าเรียกร้องประกัน และต้นทุนของ SCNYL แล้วส่งกลับคืนให้แก่ Insurope หลังจากนั้น Insurope จะคำนวณหาค่า Multinational dividend ตามสัดส่วนผลการให้ประกันภัยกลุ่มในแต่ละภูมิภาคต่อไป โดยบริษัทฯ ไม่ทราบวิธีการคำนวณที่ชัดเจน เนื่องจากเป็นความลับทางธุรกิจ โดยบริษัทแม่ จะเป็นผู้แจ้งว่า บริษัทฯ จะได้รับเงินตอบแทนคืนจากการทำประกันภัยกลุ่มหรือไม่ อย่างไร กรณีบริษัทฯ ได้รับ Multinational dividend คืนจากการทำประกันภัยกลุ่ม ควรรับรู้เป็นรายได้ของกิจการ ROH หรือ NON-ROH ทั้งนี้ พนักงานของบริษัทฯ ทั้งหมดที่ทำประกันภัยกลุ่มนั้น เป็นพนักงานที่ทำงานในส่วนของกิจการ ROH และบริษัทฯ ได้นำรายจ่ายค่าประกันภัยกลุ่ม มาคำนวณเป็นรายจ่ายของกิจการ ROH
          3. กรณีบริษัทฯ ได้จ่ายเงินสบทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพสำหรับพนักงานที่ทำงานในส่วนของกิจการ ROH โดยบริษัทฯ กำหนดเงื่อนไขว่า พนักงานคนใดที่ปฏิบัติงานครบ 3 ปี จะมีสิทธิได้รับเงินสมทบส่วนที่บริษัทฯ ออกให้เต็มในอัตราร้อยละ 100 แต่หากพนักงานปฏิบัติงานไม่ถึง 3 ปี จะไม่มีสิทธิรับเงินสมทบส่วนที่บริษัทฯ ออกให้ โดยเงินสมทบดังกล่าวของพนักงานที่ออกจากงานก่อนปฏิบัติงานครบ 3 ปี จะถูกส่งกลับคืนให้แก่บริษัทฯ กรณีนี้บริษัทฯ ควรรับรู้เงินสมทบที่ส่งกลับคืนมาเป็นรายได้ของกิจการ ROH หรือ NON-ROH
          4. กรณีที่บริษัทฯ มีกำไรหรือขาดทุนจากการขาย หรือตัดจำหน่ายทรัพย์สิน บริษัทฯ ควรรับรู้กำไรหรือขาดทุนจากการขาย หรือตัดจำหน่ายทรัพย์สิน เป็นรายได้หรือค่าใช้จ่ายของกิจการ ROH หรือ NON-ROH
          5. กรณีบริษัทฯ มีกำไรขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนอันเนื่องมาจากรายได้จากการให้บริการของกิจการ ROH เนื่องจากบริษัทฯ ได้รับเงินค่าบริการจากบริษัทแม่เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐตามข้อตกลงในสัญญา MSA โดยบริษัทฯ จะรับรู้รายได้โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนของกลุ่ม ณ วันที่บริษัทฯ ออกใบแจ้งหนี้ ต่อมาเมื่อบริษัทฯ ได้รับเงินโอนค่าบริการเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ บริษัทฯ จะแลกเปลี่ยนเงินดังกล่าว เป็นเงินบาทโดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงของธนาคารพาณิชย์ที่บริษัทฯ ใช้บริการ ณ วันที่บริษัทฯ ได้รับเงิน บริษัทฯ ควรรับรู้กำไรขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าวเป็นรายได้รายจ่ายของกิจการ ROH หรือ NON-ROH
          6. กรณีบริษัทฯ มีรายได้ดอกเบี้ยที่ได้รับจากธนาคารพาณิชย์ที่บริษัทฯ ได้ใช้บริการฝากเงิน บริษัทฯ ควรรับรู้รายได้ดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นรายได้ของกิจการ ROH หรือ NON-ROH
          7. กรณีบริษัทฯ มีรายได้อื่นๆ เช่น ค่านายหน้า เนื่องจากบริษัทฯ มีข้อตกลงกับบริษัทคู่ค้า เช่น กิจการโรงแรม ว่า หากพนักงานคนใดของบริษัทฯ ได้ใช้บริการของบริษัทคู่ค้าแล้ว บริษัทคู่ค้าจะจ่ายค่านายหน้าให้บริษัทฯ เป็นค่าตอบแทน บริษัทฯ ควรรับรู้รายได้ดังกล่าวเป็นรายได้ของกิจการ ROH หรือ NON-ROH
แนววินิจฉัย           1. กรณีตาม 1. บริษัทฯ ได้รับภาระภาษีหัก ณ ที่จ่ายแทนพนักงานซึ่งปฏิบัติงานในส่วนของกิจการ ROH และบริษัทฯ ได้นำเงินภาษีที่ออกแทนให้พนักงานดังกล่าวมารวมคำนวณเป็นรายจ่ายของกิจการ ROH ต่อมาหากบริษัทฯ ได้รับเงินภาษีที่ออกแทนให้พนักงานดังกล่าวคืนมา เข้าลักษณะเป็นรายจ่ายของกิจการ ROH ที่ได้รับคืน จึงถือเป็นรายได้ของกิจการ ROH
          2. กรณีตาม 2. บริษัทฯ จ่ายเบี้ยประกันภัยกลุ่มเพื่อเป็นประโยชน์สำหรับพนักงานซึ่งปฏิบัติงานในส่วนของกิจการ ROH และบริษัทฯ ได้นำเบี้ยประกันภัยดังกล่าวมารวมคำนวณเป็นรายจ่ายของกิจการ ROH ต่อมาหากบริษัทฯ ได้รับคืนเบี้ยประกันบางส่วนในรูปของ Multinational dividend เข้าลักษณะเป็นรายจ่ายของกิจการ ROH ที่ได้รับคืน จึงถือเป็นรายได้ของกิจการ ROH
          3. กรณีตาม 3. บริษัทฯ จ่ายเงินสบทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้แก่พนักงานซึ่งปฏิบัติงานในส่วนของกิจการ ROH และบริษัทฯ ได้นำเงินสบทบดังกล่าวมารวมคำนวณเป็นรายจ่ายของกิจการ ROH ต่อมาหากบริษัทฯ ได้รับคืนเงินสบทบดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นรายจ่ายของกิจการ ROH ที่ได้รับคืน จึงถือเป็นรายได้ของกิจการ ROH
          4. กรณีตาม 5. บริษัทฯ มีรายได้ค่าบริการของกิจการ ROH ที่ได้รับจากบริษัทแม่เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ และมีกำไรหรือขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเกิดขึ้น กำไรหรือขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนอันเนื่องมาจากรายได้จากการให้บริการของกิจการ ROH ถือเป็นรายได้หรือรายจ่ายของกิจการ ROH
          6. กรณีตาม 4. 6. และ 7. บริษัทฯ มีรายได้จากการขายทรัพย์สิน รายได้ดอกเบี้ยจากการฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์ และรายได้อื่นที่มิได้เกิดขึ้นจากการให้บริการของกิจการ ROH เนื่องจากรายได้ดังกล่าวข้างต้นไม่เข้าลักษณะเป็นรายได้ของกิจการ ROH ตามมาตรา 8 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรฯ (ฉบับที่ 405) พ.ศ. 2545 รายได้ดังกล่าวจึงถือเป็นรายได้ของกิจการ NON-ROH
เลขตู้: 76/38689

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020