เลขที่หนังสือ | : กค 0702/6221 | วันที่ | : 17 กรกฎาคม 2556 | เรื่อง | : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการขายหน่วยลงทุนคืนให้กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) | ข้อกฎหมาย | : กรณีการขายหน่วยลงทุนคืนให้กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) | ข้อหารือ |
นาย ก. ได้ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (RMF) ตั้งแต่ปี 2548 และเกษียณอายุการทำงานกับทางบริษัท ในเดือนมีนาคม 2555 รวมเวลาที่ซื้อหน่วยลงทุนทั้งหมด 7 ปี
  นาย ก. จึงขอทราบว่า 1. กรณีขายคืนหน่วยลงทุน RMF ทั้งหมด ตั้งแต่ปี 2548 ถึงปี 2554 สามารถกระทำได้หรือไม่ 2. หากขายคืนหน่วยลงทุน RMF ทั้งหมด แล้วเริ่มลงทุนใหม่ในปี 2555 การนับระยะเวลาการถือหน่วยลงทุน RMF ต้องเริ่มนับในปี 2555 อีก 5 ปี ต่อเนื่องจนถึงปี 2559 จึงสามารถขายคืนได้อีกครั้งใช่หรือไม่ 3. เมื่อครบกำหนด แต่ทยอยขายหน่วยลงทุน RMF ทั้งหมดในบางปีติดต่อกัน เช่นขายปี2548 ถึง 2550 การนับระยะเวลาการถือหน่วยลงทุน RMF ต้องเริ่มนับในปี 2551 อีก 5 ปี ต่อเนื่องถัดมาคือปี2555 ซึ่งยังสามารถขายหน่วยลงทุน RMF ได้ทั้งหมดใช่หรือไม่ | แนววินิจฉัย |
1. นาย ก. ได้ซื้อหน่วยลงทุน RMF ครั้งแรกในปี 2548 และได้ซื้อติดต่อกันทุกปีจนถึงปี 2554 และหากนาย ก. จะขายหน่วยลงทุน RMF ทั้งหมด ซึ่งเป็นการขายหน่วยลงทุน RMF ที่ได้ถือหน่วยลงทุน RMF มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี นับตั้งแต่วันซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรก โดยในขณะที่ขายหน่วยลงทุน RMF นาย ก. มีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ ดังนั้น เงินได้เท่าที่นาย ก. ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุน RMF และเงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่ได้รับจากกองทุนรวมดังกล่าว เพราะเหตุสูงอายุ ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทั้งนี้ตามมาตรา 42 (17) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 (55) และ (56) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 90) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ และการถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ลงวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2544 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ และการถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ลงวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2551 และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 91) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข สำหรับกรณีผู้ถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ได้รับเงินหรือผลประโยชน์ใด ๆจากกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพเพราะเหตุสูงอายุ ทุพพลภาพ หรือตาย ลงวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2544
2. กรณีตาม 2 นาย ก. ได้ขายหน่วยลงทุน RMF ตาม 1. ทั้งหมด และต่อมาในปี 2555 นาย ก. มีความประสงค์ที่จะซื้อหน่วยลงทุน RMF ใหม่ การนับระยะเวลาการถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพของผู้มีเงินได้ที่จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพและเงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่ผู้มีเงินได้ได้รับจากการขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพคืนให้แก่กองทุนรวม ที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 42(17) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 (55) และ (65) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ฯ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 246 (พ.ศ. 2547) ลงวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ.2547 และตามข้อ 2 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 171 )ฯ ลงวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2551 โดยผู้มีเงินได้ต้องซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพไม่น้อยกว่าปีละ 1 ครั้ง และต้องไม่ระงับการซื้อหน่วยลงทุนเป็นเวลาเกินกว่า 1 ปีติดต่อกัน โดยผู้มีเงินได้นั้นต้องถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีนับตั้งแต่วันซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรก (ปี 2555) 3. กรณีที่นาย ก. ได้ทยอยขายหน่วยลงทุน RMF ทั้งหมดเฉพาะปี 2548 ถึง 2550 ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตาม 1 และยังคงถือหน่วยลงทุน RMF ในปี 2551 ถึง 2554 ที่ได้ซื้อมาต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรก การนับระยะเวลาการถือหน่วยลงทุน RMF ในปี 2551 ถึง 2554 ที่เหลืออยู่ให้นับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรก (ปี 2548) ทั้งนี้ ตามข้อ 2(2) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 171)ฯ ลงวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2554 | เลขตู้ | : 76/38691 |