เมนูปิด
เลขที่หนังสือ:กค 0702/8555
วันที่:1 ตุลาคม 2556
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการขอคืนภาษีเงินได้นิติบุคคล
ข้อกฎหมาย: มาตรา 22(5) แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514
ข้อหารือ           1. บริษัทฯ จดทะเบียนนิติบุคคลเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2548 และจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2554 ประกอบกิจการสำรวจ ขุดเจาะ พัฒนา ผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ภายใต้สัมปทานแปลง G10/48 เป็นระยะเวลา 6 ปี นับแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2549 ถึงวันที่ 7 ธันวาคม 2555 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการสำรวจยังไม่มีรายได้จากการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ แต่มีรายได้จากการให้บริการคำปรึกษาเกี่ยวกับการสำรวจ ขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ แก่บริษัท ม. โดย นาย จ. พนักงานของบริษัทฯ เป็นผู้ให้คำปรึกษาและได้รับค่าตอบแทนจากบริษัทฯ ในรูปเงินเดือน โบนัส และเงินสำรองผลประโยชน์ระยะยาวของพนักงาน
          2. บริษัทฯ ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (แบบ ภ.ง.ด.50) สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2554 แสดงรายได้จากการให้บริการเพียงอย่างเดียวจำนวน 6,450,747.00 บาท ไม่มีรายได้อื่นใด แสดงผลขาดทุนสุทธิจำนวน 5,064,490.00 บาท ไม่มีภาษีที่ต้องเสีย แต่บริษัทฯ ถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้จำนวน 85,130.10 บาท และชำระภาษีตามแบบ ภ.ง.ด.51 ไว้จำนวน 258,296.96 บาท ทำให้มีภาษีชำระไว้เกินและแจ้งความประสงค์ขอคืนจำนวน 343,427.06 บาท
แนววินิจฉัย           กรณีบริษัทฯ ตกลงให้นาย จ. (ผู้ถูกยืมตัว) เป็นที่ปรึกษาในการบริหารจัดการโครงการสำหรับการขุดหลุมปิโตรเลียมแห่งหนึ่งของบริษัท ม. โดยผู้ถูกยืมตัวมิได้เป็นพนักงานของบริษัท ม. และบริษัท ม. ตกลงจ่ายเงินค่าบริการของผู้ถูกยืมให้แก่บริษัทฯ ตามใบแจ้งหนี้ที่บริษัทฯ เรียกเก็บ ค่าบริการที่บริษัทฯ ได้รับจากบริษัท ม. จึงไม่ถือเป็นเงินได้อื่นใดที่ได้รับเนื่องจากการประกอบกิจการปิโตรเลียม ตามมาตรา 22(5) แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 บริษัทฯ จึงมีหน้าที่ต้องนำค่าบริการดังกล่าวไปเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 76/38749

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020