เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702(กม)/8852
วันที่: 10 ตุลาคม 2556
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย กรณีการโอนหุ้นจากการปรับโครงสร้างการถือหุ้น
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40(4)(ช) มาตรา 70 ข้อ 13 แห่งอนุสัญญาภาษีซ้อนไทย-สิงคโปร์
ข้อหารือ           1. บริษัทฯ เป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศไทย ประกอบกิจการให้บริการดูแลบริษัทในเครือ โดยมีบริษัท ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศญี่ปุ่น ถือหุ้นร้อยละ 99.99 ทั้งนี้ บริษัท ญี่ปุ่น ถือหุ้นโดยตรงในบริษัทในเครือที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศไทย อีก 3 บริษัท
          2. กลุ่มบริษัทอูเบะมีนโยบายภายในดำเนินการปรับโครงสร้างการถือหุ้นของบริษัทในเครือในประเทศไทยทั้ง 4 บริษัท โดยแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ดังนี้
               2.1 ระยะที่ 1 บริษัท ญี่ปุ่น โอนหุ้นทั้งหมดที่ได้ถือในบริษัทในเครือในประเทศไทยทั้ง 4 บริษัท ให้กับบริษัท สิงคโปร์ ซึ่งเป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศสิงคโปร์ ด้วยวิธีการแลกหุ้น โดยบริษัท สิงคโปร์ ออกหุ้นในบริษัทของตนให้กับบริษัท ญี่ปุ่น เป็นค่าตอบแทนการรับโอนหุ้นดังกล่าว ทั้งนี้ ภายหลังการปรับโครงสร้างในระยะที่ 1 บริษัท ญี่ปุ่น จะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท สิงคโปร์ และบริษัท สิงคโปร์ จะเป็นผู้ถือหุ้นโดยตรงในบริษัทในเครือในประเทศไทยทั้ง 4 บริษัท
               2.2 ระยะที่ 2 บริษัท สิงคโปร์ โอนหุ้นในบริษัททั้ง 3 ในประเทศไทย ให้กับบริษัทฯ ด้วยวิธีการแลกหุ้น โดยบริษัทฯ ออกหุ้นเพิ่มทุนให้กับบริษัท สิงคโปร์ เป็นค่าตอบแทนการรับโอนหุ้นดังกล่าว ทั้งนี้ ภายหลังการปรับโครงสร้างในระยะที่ 2 บริษัท ญี่ปุ่นจะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท สิงคโปร์ และบริษัท สิงคโปร์ จะเป็นผู้ถือหุ้นโดยตรงในบริษัทฯ และบริษัทฯ จะเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทในเครือในประเทศไทยทั้ง 3 บริษัท
          3. บริษัทฯ มีความเข้าใจเกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่ายจากการปรับโครงสร้างการถือหุ้นดังนี้
               3.1 กรณีการโอนหุ้นจากการปรับโครงสร้างการถือหุ้นในระยะที่ 1เนื่องจากธุรกรรมการโอนหุ้นด้วยวิธีการแลกหุ้น ถือเสมือนเป็นการโอนหุ้นหรือการขายหุ้นในกรณีทั่วไป ดังนั้น ภายใต้ประมวลรัษฎากรถือว่า บริษัท ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศญี่ปุ่น เป็นผู้โอนหุ้นของบริษัทฯ บริษัททั้ง 3 ในประเทศไทย ให้กับบริษัท สิงคโปร์ ผู้รับโอน ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศสิงคโปร์ เมื่อผู้โอนหุ้นและผู้รับโอนหุ้นเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายต่างประเทศ มิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย และมิได้มีการจ่ายค่าตอบแทนจากการโอนหุ้นที่จ่ายจากหรือในประเทศไทย ดังนั้น ธุรกรรมการโอนหุ้นด้วยวิธีการแลกหุ้นในระยะที่ 1 ถือว่าไม่อยู่ภายใต้บังคับของประมวลรัษฎากร บริษัท ญี่ปุ่น และบริษัท สิงคโปร์ จึงไม่มีภาระภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่ายในประเทศไทย แต่อย่างใด
               3.2 กรณีการโอนหุ้นจากการปรับโครงสร้างการถือหุ้นในระยะที่ 2
          เนื่องจากธุรกรรมการโอนหุ้นด้วยวิธีการแลกหุ้น ถือเสมือนเป็นการโอนหุ้นหรือการขายหุ้นในกรณีทั่วไป ถือว่าบริษัท สิงคโปร์ ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศสิงคโปร์ เป็นผู้โอนหุ้นของบริษัททั้ง 3 ในประเทศไทย ให้กับบริษัทฯ ผู้รับโอน ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศไทย กรณีบริษัท สิงคโปร์ โอนหุ้นบริษัทในเครือในประเทศไทยในราคาที่สูงกว่าราคาทุนที่ได้รับโอนมา ถือว่าบริษัท สิงคโปร์ ได้รับผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนการเป็นหุ้นส่วน เฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ช) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อบริษัทฯ ออกหุ้นเพิ่มทุนให้กับบริษัท สิงคโปร์ เปรียบเสมือนว่าบริษัทฯ จ่ายเงินค่าหุ้นให้บริษัท สิงคโปร์ ซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศสิงคโปร์ มิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย ดังนั้น บริษัทฯ จึงมีหน้าที่หักภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย จากเงินได้พึงประเมินดังกล่าวในอัตราร้อยละ 15 ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร อย่างไรก็ตาม เงินได้จากการโอนหุ้นดังกล่าวถือเป็น "ผลได้จากทุน" ตามข้อ 13 แห่งอนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐสิงคโปร์ เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ (อนุสัญญาฯ) ซึ่งกำหนดให้เก็บภาษีได้เฉพาะแต่ในรัฐที่ผู้จำหน่ายทรัพย์สินเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่เท่านั้น บริษัทฯ จึงไม่มีหน้าที่หักและนำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่ายจากเงินได้พึงประเมินดังกล่าวแต่อย่างใด
          บริษัทฯ จึงหารือว่าความเข้าใจดังกล่าวถูกต้องหรือไม่ อย่างไร
แนววินิจฉัย           1. กรณีบริษัท ญี่ปุ่น โอนหุ้นของบริษัทฯ และบริษัททั้ง 3 ในประเทซไทย ให้บริษัท สิงคโปร์ โดยบริษัท สิงคโปร์ ได้ออกหุ้นเพิ่มทุนเพื่อแลกหุ้นกับบริษัท ญี่ปุ่น เป็นการตอบแทน เนื่องจากบริษัท ญี่ปุ่น และบริษัท สิงคโปร์ เป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และการจ่ายค่าตอบแทนจากการโอนหุ้น (การแลกหุ้น) เป็นการจ่ายระหว่างบริษัท ญี่ปุ่น และบริษัท สิงคโปร์ ในต่างประเทศทั้งหมด และเป็นแหล่งเงินได้นอกประเทศ ไม่ใช่เป็นการจ่ายค่าตอบแทนจากแหล่งเงินได้ที่จ่ายจากหรือในประเทศไทยตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัท ญี่ปุ่น และบริษัท สิงคโปร์ จึงไม่มีภาระภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย ในประเทศไทย แต่อย่างใด
          2. กรณีบริษัท สิงคโปร์ โอนหุ้นของบริษัททั้ง 3 ในประเทศไทย ให้บริษัทฯ ในราคาที่สูงกว่าทุนที่ได้รับโอนมาโดยบริษัทฯ ได้ออกหุ้นเพิ่มทุนให้กับบริษัท สิงคโปร์ เป็นการตอบแทน ถือว่าการโอนหุ้นดังกล่าวมีผลประโยชน์ซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ช) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ผู้จ่ายค่าหุ้นให้กับบริษัท สิงคโปร์ โดยการออกหุ้นเพิ่มทุน จึงมีหน้าที่หักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายในอัตราร้อยละ 15 ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร
          อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า บริษัท สิงคโปร์ (ผู้โอน) เป็นบริษัทจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศสิงคโปร์ และมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย เงินได้จากการโอนหุ้นดังกล่าวถือเป็นผลได้จากทุน (Capital Gains) ซึ่งตามข้อ 13 แห่งอนุสัญญาฯ กำหนดให้ประเทศที่ผู้มีเงินได้มีถิ่นที่อยู่จัดเก็บภาษี ดังนั้น บริษัทฯ จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักและนำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่ายจากเงินได้พึงประเมินดังกล่าวแต่อย่างใด
เลขตู้: 76/38766

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020