เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/8853
วันที่: 10 ตุลาคม 2556
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการหักลดหย่อนตามมาตรา 47 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40(4)(8) มาตรา 47(1)(ค) และมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ           นาย ว. ได้ขอคืนภาษีจำนวน 513,600.96 บาท ตามแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด. 90) ปีภาษี 2554 โดยได้แสดงเงินได้พึงประเมินเงินปันผลตามมาตรา 40(4)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นเงินได้ของภริยา จำนวน 29,800 บาท และของบุตรผู้เยาว์ จำนวน 2,000,000 บาท ในการคำนวณภาษีได้ใช้สิทธิหักลดหย่อนคู่สมรส จำนวน 30,000 บาท และหักลดหย่อนบุตรและยังศึกษาอยู่ จำนวน 17,000 บาท เจ้าหน้าที่ของสำนักงานสรรพากพื้นที่ (สท.) มีความเห็นว่า ตามมาตรา 47(1) แห่งประมวลรัษฎากร ได้กำหนดให้การหักลดหย่อนบุตรให้หักได้สำหรับบุตรที่มีอายุไม่เกินยี่สิบห้าปีและยังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยหรือชั้นอุดมศึกษา หรือซึ่งเป็นผู้เยาว์ หรือศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถอันอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดู แต่มิให้หักลดหย่อนสำหรับบุตรดังกล่าวที่มีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วตั้งแต่ 15,000 บาทขึ้นไป โดยเงินได้พึงประเมินนั้นไม่เข้าลักษณะตามมาตรา 42 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น เมื่อบุตรผู้เยาว์ของนาย ว. มีเงินได้พึงประเมินเป็นเงินปันผลจำนวน 2,000,000 บาท นาย ว. จึงไม่มีสิทธินำค่าลดหย่อนบุตรผู้เยาว์ไปหักจากเงินได้พึงประเมินในการคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
แนววินิจฉัย           มาตรา 40 (4) (ข) วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ได้บัญญัติว่า ในกรณีบุตรชอบด้วยกฎหมายที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ เป็นผู้มีเงินได้ประเภทเงินปันผล และความเป็นสามีภริยาของบิดามารดาได้มีอยู่ตลอดปีภาษี ให้ถือว่าเงินได้ของบุตรดังกล่าวเป็นของบิดา แต่ถ้าความเป็นสามีภริยาของบิดาและมารดามิได้อยู่ตลอดปีภาษี ให้ถือว่าเงินได้ของบุตรดังกล่าวเป็นเงินได้ของบิดาหรือของมารดาผู้ใช้อำนาจปกครอง หรือของบิดา ในกรณีบิดามารดาใช้อำนาจปกครองร่วมกัน จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น พิจารณาได้เป็น 2 กรณี ดังนี้
          1. ผู้เยาว์หมายถึงผู้ที่มีอายุไม่ครบยี่สิบปีบริบูรณ์ หรือยังไม่บรรลุนิติภาวะ หากบุตรของนาย ว. เป็นบุตรผู้เยาว์มีเงินได้ประเภทเงินปันผลจำนวน 2,000,000 บาท โดยไม่มีเงินได้ประเภทอื่นอีก ถือว่าเงินได้ของบุตรผู้เยาว์เป็นเงินได้พึงประเมินของนาย ว. ผู้เป็นบิดา ตามมาตรา 40(4)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร นาย ว. มีหน้าที่ต้องนำเงินปันผลดังกล่าวไปรวมคำนวณภาษีในนามของตน โดยนิตินัยเป็นผลเท่ากับบุตรผู้เยาว์ไม่มีเงินได้ ดังนั้น นาย ว. มีสิทธินำบุตรผู้เยาว์ดังกล่าวมาหักลดหย่อนได้ตามมาตรา 47(1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร
          2. หากบุตรของนาย ว. เป็นผู้ที่บรรลุนิติภาวะแล้ว ตามมาตรา 19 และ 20 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่มีอายุไม่เกินยี่สิบห้าปีและยังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยหรือชั้นอุดมศึกษา มีเงินได้ประเภทเงินปันผลจำนวน 2,000,000 บาท โดยไม่มีเงินได้ประเภทอื่นอีก เงินปันผลดังกล่าวเป็นเงินได้ พึงประเมินของบุตร ดังนั้น บุตรผู้มีเงินได้มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร นาย ว. ไม่มีสิทธินำบุตรดังกล่าวมาหักลดหย่อนได้ตามมาตรา 47(1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 76/38764

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020